“ส้มตำ” เป็นอีกหนึ่งเมนูที่มีสีสันรสชาติจัดจ้านถูกปากคนไทย จนกลายเป็นอาหารประจำชาติ ที่แม้แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังต้องลิ้มลอง ไม่เพียงเท่านั้น สาวๆ หลายคนที่กำลังควบคุมน้ำหนัก ยังยกให้ส้มตำเป็นหนึ่งในเมนูที่ทานแล้วไม่อ้วน แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ส้มตำ มีดีมากกว่านั้น เพราะเป็นเมนูที่ทานแล้วยังช่วยดูแลสุขภาพได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะช่วยลดไขมันในเลือดอันจะเป็นต้นเหตุแห่งการเกิดโรคร้ายหลายๆ ชนิดอีกด้วย
ศุภลักษณ์ ทองนุ่น นักกำหนดอาหาร โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท เผยว่า ส้มตำ อาหารจานโปรดของคนส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีส่วนประกอบหลักที่ช่วยลดไขมันในเลือดได้เป็นอย่างดี เช่น กระเทียม มีอัลลิซินที่เป็นสารประกอบซัลเฟอร์ที่มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ที่ใช้ในการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลช่วยทำให้ผนังหลอดเลือดสะอาดขึ้น มีสารไดซัลไฟต์ที่ช่วยลดไขมันชนิดเลว (แอลดีแอล) ในเลือด มะละกอมีไฟเบอร์สูงช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอล และยังช่วยให้ขับถ่ายได้สะดวก มะนาวมีสารฟลาโวนอยด์ 2 ชนิด ช่วยต้านการเกิดคราบที่ก่อให้เกิดการอุดตันภายในผนังหลอดเลือด และยังมีสารเอสโตรเจนอย่างอ่อนที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ พริกขี้หนู พริกมีสารแคปไซซิน ซึ่งมีมากอยู่ในรกของพริกที่เป็นส่วนสีขาวอยู่ตรงแกนกลางของเมล็ด สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการอุดตันของไขมันในเส้นเลือดจากการจับกลุ่มของเกล็ดเลือดได้ มะเขือเทศมีไลโคปีนสูงซึ่งสามารถช่วยลดไขมันแอลดีแอลได้ และจากการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าไลโคปีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระในผนังหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคไขมันอุดตันในเลือดด้วย
“อย่างไรก็ตาม การรับประทานส้มตำก็ต้องรับประทานอย่างระมัดระวัง ควรรับประทานประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ไม่ควรรับประทานส้มตำตอนเช้า เพราะมะละกอดิบย่อยยาก และควรรับประทานจานอื่นร่วมด้วย เช่น ปลาดุกย่าง ไก่ย่าง น้ำตก ลาบ ฯลฯ เพื่อป้องกันยางมะละกอที่อาจไปทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารระคายเคืองได้ และควรเลือกรับประทานร้านที่มั่นใจว่าแม่ค้าเลือกใช้วัตถุดิบเครื่องปรุงของสดใหม่ ปรุงสะอาดถูกสุขลักษณะ เช่น ผู้ที่ชอบทานส้มตำปลาร้า ก็ควรใช้ปลาร้าปรุงสุก เป็นต้น เพื่อให้ได้คุณค่าทางอาหารที่ครบถ้วนและปลอดภัยอย่างแท้จริง”
ด้าน นายแพทย์อิทธิชัย วัชรีคุปต์ อายุแพทย์ โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 1 กล่าวเสริมว่า การใช้ชีวิตสมัยนี้ที่ทุกอย่างเต็มไปด้วยความเร่งรีบ ทำให้คนไทยหันไปรับประทานอาหารแบบตะวันตก หรืออาหารขยะแทนการรับประทานอาหารไทยที่มีทั้งผักและสมุนไพรหลากหลายชนิด ส่งผลให้คนไทยป่วยด้วยโรคไขมันในเลือดสูงและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
“สาเหตุของไขมันในเลือดสูงนี้เกิดได้จากทั้งทางกรรมพันธุ์ที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดไขมันได้ดีพอ ผู้ป่วยโรค
บางชนิด เช่น เบาหวาน โรคไต การรับประทานยาขับปัสสาวะ สเตียรอยด์ ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ไม่ค่อยออกกำลังกาย และผู้ที่รับประทานอาหารที่มีแป้ง อาหารไขมันสูง เป็นประจำ และผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ สำหรับผู้ที่ดูแลสุขภาพสม่ำเสมอ และไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรตรวจระดับไขมันในเลือดทุกปีเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป เพื่อหาปริมาณไขมันในเลือดทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ไขมันแอลดีแอล, เอชดีแอล, ไตรกลีเซอไรด์ และระดับคอเลสเตอรอล แต่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรเริ่มตรวจระดับไขมันในเลือดทั้ง 4 ชนิด เมื่ออายุ 18-20 ปีขึ้นไป เพื่อดูปริมาณไขมันชนิดต่างที่อยู่ในเลือด และถ้าไม่พบความผิดปกติก็ควรตรวจทุกๆ 5 ปี เพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันสูง”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี