สวัสดีครับ เจ้าของสัตว์หลายท่านคงจะเคยประสบกับปัญหา “เจ้าตูบมีไข้-ตัวร้อน” กันนะครับ เมื่อไหร่จะบอกได้ว่าสุนัขมีไข้ ทำอย่างไรจะทราบว่าสุนัขมีไข้ สุนัขตัวร้อนเราควรทำอย่างไร แล้วเรามีวิธีสังเกตอย่างไร วันนี้เรามาคุยเรื่องนี้กันครับ
■ การมีไข้คืออะไร?
การมีไข้ หรือ fever หรือ pyrexia นั้น เราไม่จัดว่าเป็น “โรค” แต่เป็น “อาการ” ที่ร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงกว่าปกติ การที่อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นนี้ เป็นกลไกการตอบสนองเมื่อร่างกายมีการติดเชื้อโรค หรือมีการเจ็บป่วยจากการอักเสบของเนื้อเยื่อ จึงทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น แต่ที่อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นนั้นก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น หลังการออกกำลังกาย หรือสภาวะการเกิดลมแดดจากอุณหภูมิภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปครับ
■ เราจะบอกได้เมื่อไหร่ ว่าสุนัขมีไข้?
อุณหภูมิปกติในสุนัขจะอยู่ที่ประมาณ 101.5-102.5 องศาฟาเรนไฮต์ เมื่ออุณหภูมิร่างกายสุนัขสูงเกิน 103 องศาฟาเรนไฮต์ (39.4 องศาเซลเซียส) เราจะถือว่า เริ่มมีไข้แล้วครับ
■ เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าสุนัขมีไข้?
วิธีสังเกตที่ง่ายที่สุดเลยก็คือ ลองจับที่ตัวสุนัขบริเวณ ที่รักแร้ หรือใต้ท้อง เนื่องจากเป็นบริเวณที่ไม่มีขน จะพบว่าอุณหภูมิสูงกว่าปกติ (ถ้าคนที่สัมผัสสุนัขประจำจะตอบได้ครับ) แต่อย่าลืมว่า สุนัขปกติจะมีอุณหภูมิร่างกายที่ “สูง” กว่าในคนอยู่แล้ว (ประมาณ 39 องศาเซลเซียส) ดังนั้นเมื่อสัมผัสสุนัขปกติ ก็อาจจะรู้สึกว่ามีตัวรุมๆ ตลอดเวลา (เพราะอุณหภูมิร่างกายปกติของคนจะ 37 องศาเซลเซียส) จนอาจจะวิตกไปว่าสุนัขมีไข้ก็ได้
นอกจากนี้ อาจสังเกตจากอาการที่สุนัขแสดงออกร่วมด้วย เช่น ซึม หอบ เหงือกหรือลิ้นมีสีแดงเข้ม เป็นต้น
แต่วิธีที่ได้ผลแน่นอนที่สุดคือ วัดอุณหภูมิของสุนัข ด้วยการใช้ปรอทวัดไข้ (จะเป็นของสุนัขโดยตรงหรือของคนก็ได้) ถ้าเป็นในคนเราจะใช้ปรอทวัดที่ใต้ลิ้น แต่สำหรับสุนัขคงไม่สามารถใส่ในปากได้ เพราะอาจจะกัดจนแตกและเป็นอันตรายเข้าไปใหญ่
ตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะใช้วัดอุณหภูมิของสุนัขคือ “ที่ทวารหนัก” เราจะใช้ปรอทวัดไข้ทาด้วยวาสลีน น้ำมัน หรือสารหล่อลื่น และสอดเข้าไปที่บริเวณทวารหนักของน้องหมา ให้ลึกประมาณ 2 ถึง 3 เซนติเมตร และค้างไว้ประมาณ 30-45 วินาที
ในปัจจุบันมีการใช้เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายแบบใหม่ที่สะดวกกว่าเช่น เครื่องวัดอุณหภูมิผ่านทางรูหู เครื่องวัดอุณหภูมิทางผิวหนัง เป็นต้น
■ เมื่อพบว่าสุนัขมีไข้แล้ว เราควรทำอย่างไร?
หลายคนอาจบอกว่า เอายาลดไข้ของคนให้กินได้ไหม? ยาลดไข้ของคน (ที่มักจะเป็น พาราเซตามอล) นั้น ผมเคยพูดไปแล้วว่าเป็นพิษต่อตับ หากได้รับในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ยิ่งถ้าเป็นในแมวแล้วล่ะก็อันตรายยิ่งมากครับ ดังนั้นผมไม่อยากให้เสี่ยงที่จะใช้ยาเพื่อลดไข้ด้วยตัวเอง อยากให้คุณหมอเป็นผู้พิจารณาเลือกใช้ยาจะปลอดภัยกว่าครับ
เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงหรือมีไข้ สิ่งที่เราต้องทำ คือพยายามทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลงให้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด
วิธีการง่ายที่สุดคือการใช้ผ้าชุบน้ำ บิดหมาดๆ มาเช็ดตัวโดยเช็ดบริเวณหน้าท้อง ขาหนีบ ข้อพับ รักแร้ และลำตัว โดยพยายามเช็ด “ย้อนขน” จากส่วนท้ายไปทางส่วนหัว เพื่อต้องการให้ความชื้นจากผ้าสัมผัสกับ “ผิวหนัง” (ไม่ใช่สัมผัสแค่ขน) เนื่องจากเมื่อน้ำที่สัมผัสกับผิวหนังระเหย จะมีการดึงความร้อนออกจากร่างกายไปด้วย
ให้เช็ดตัวต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 5 ถึง 10 นาที ร่วมกับการวัดอุณหภูมิร่างกายทางทวารหนักเป็นระยะ จากนั้นให้พาไปพบสัตวแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการมีไข้ เพื่อจะได้ทำการรักษาที่ตรงกับโรคจริงๆ เพราะที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่า การมีไข้คืออาการที่แสดงออกมาเท่านั้น เพราะการมีไข้อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เป็นหวัด ปอดบวม มีการติดเชื้อในกระแสเลือด มีภาวะการอักเสบ โรคพยาธิในเม็ดเลือด รวมถึงโรคลมแดดหรือช็อกจากความร้อน เป็นต้น ซึ่งอาจต้องมีการให้ยาปฏิชีวนะและยาอื่นเพื่อรักษาที่สาเหตุด้วยครับ
สิ่งที่สำคัญก็คือข้อมูลที่เราต้องเตรียมเพื่อแจ้งคุณหมอ ได้แก่ อาการหรือพฤติกรรมของสุนัขที่ผิดปกติไป เช่น การกินอาหาร การเดิน การอาเจียน การขับถ่าย การพบก้อนหรือสิ่งผิดปกติที่ผิวหนังหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย และระยะเวลาที่เริ่มแสดงอาการนั้นๆ ครับ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี