ในปัจจุบันมีคนไทยจำนวนหนึ่งที่อาจมีทัศนคติ นิสัย และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก่อให้เกิดปัญหาให้แก่ประเทศขึ้นในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคมสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม สถาบันมั่นพัฒนา เปิดตัวแคมเปญ “อย่าให้ใครว่าไทย” เพื่อลด ละ เลิก 4 พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ (โกง ฟุ้งเฟ้อ มักง่าย ขาดสติ)เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติ นิสัย และพฤติกรรม และได้รับกระแสตอบรับที่ดีเยี่ยม ซึ่งแน่นอนว่าแคมเปญนี้ไม่ได้มาเล่นๆ ธาตรี ลิขนะพิชิตกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันมั่นพัฒนา จะมาบอกเล่าถึงทิศทางและกิจกรรม ตลอดจนเป้าหมายระยะยาวที่จะมุ่งเน้นเพื่อสังคมในปี 2559
ธาตรี ลิขนะพิชิตกุล
ธาตรี ลิขนะพิชิตกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันมั่นพัฒนา เผยว่า กลยุทธ์การทำงานของแคมเปญ “อย่าให้ใครว่าไทย” มีเป้าประสงค์ที่จะมุ่งเน้นกระตุ้นให้ประชาชนหันกลับมาดูตัวเอง มีหลักคิดและหลักปฏิบัติในการใช้ชีวิตที่อยู่บนความพอดีชี้ประเด็นให้เห็นถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทั้ง 4 มิติ คือ คือ การเงิน สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมในสังคมไทย เพื่อก่อให้เกิดการรับรู้และที่สำคัญได้เน้นน้ำหนักในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความฟุ้งเฟ้อเป็นหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชน และคนรุ่นใหม่ที่เป็น First Jobber เพราะคนเหล่านี้จะเป็นอนาคตของประเทศชาติต่อไป ให้มีจิตสำนึกในการบริหารจัดการการเงิน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตแข็งแรง ซึ่งจะเชื่อมโยงให้สังคมและประเทศชาติพัฒนาและแข็งแกร่งในที่สุด ภายใต้กลยุทธ์การสร้างเครือข่ายความร่วมมือขององค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้มาร่วมกันรณรงค์ภายใต้ทิศทางและแนวความคิดเดียวกัน โดยเริ่มต้นจากบุคลากรภายในองค์กรซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะบางองค์กรมีจำนวนคนเป็นพันเป็นหมื่นก็จะช่วยกันขยายผลไปเป็นทวีคูณ รวมไปถึงการขยายผลไปสู่สังคมภายนอกองค์กร
“ในการทำงานจะมี 3 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์การรับรู้ ผ่านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เกิดการตื่นตัวสร้างกระแสสนับสนุนสร้างมาตรฐานของสังคม (Benchmark) และทำให้เกิดทัศนคติที่ถูกต้องหรือทำให้เกิดความละอายความกลัวนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ยุทธศาสตร์การเรียนรู้ จะเป็นการลงพื้นที่เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและประชาชนในกลุ่มต่างๆ จัดกิจกรรมเข้าถึงตัวเพื่อแนะแนวทางวิธีปฏิบัติที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันมุ่งหวังให้นำไปเป็นหลักคิดหลักปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีบนพื้นฐานของความพอเพียงเกิดวินัยทางการเงินและความขยันหมั่นเพียร และยุทธศาสตร์สุดท้ายคือ ยุทธศาสตร์การร่วมแรง หมายถึง สร้างความร่วมมือที่ยั่งยืนและต่อเนื่องขององค์กรต่างๆ ที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายอนาคตไทยเพื่อให้เกิดกิจกรรมต่อเนื่องและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการขับเคลื่อนโครงการในแต่ละองค์กร
ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันมั่นพัฒนากล่าวต่อว่า แผนการดำเนินงานในปีนี้ เครือข่ายอนาคตไทยมีแผนการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ภาพยนตร์โฆษณาชุดเดิมจะนำไปเผยแพร่ในช่องทางใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นจะจัดทำภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ เผยแพร่เนื้อหาที่เน้นการแนะนำวิธีปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติฟุ้งเฟ้อซึ่งจะมีการเพิ่มสื่อและความถี่ ขยายการรับรู้ออกไปในวงกว้างเพื่อครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่มากขึ้นและให้เห็นถี่ขึ้นสร้างการรับรู้และจดจำโดยเฉพาะในสื่อโทรทัศน์และวิทยุ รวมถึงในโรงภาพยนตร์ นอกจากนี้ จะมีการจัดเวทีเสวนาสัญจรใน 10 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเป็นต้น และจะจัด มหกรรม “คิดดี...มีตังค์”ในหัวเมืองสำคัญของแต่ละภูมิภาค เช่น กรุงเทพฯ สงขลา ขอนแก่น และชลบุรี เป็นต้น โดยเชิญศิลปินดาราคนรุ่นใหม่มาถ่ายทอดเรื่องราวแนวคิดและวิธีการบริหารจัดการเงิน เพราะบุคคลเหล่านี้ใกล้ชิดและเข้าถึงประชาชน เพื่อสร้างค่านิยมที่ดีให้กับคนไทยทั่วทั้งประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้คนไทยมีคุณสมบัติของความเป็นคนไทยที่ดีในด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี