รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ
เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเปิดตัวหนังสือชุด “มองอดีต เล็งอนาคตการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 7” ขึ้น ในงานจัตุรัสจามจุรีบุ๊คแฟร์ ครั้งที่ 8 : มหัศจรรย์วันหนังสือณ อาคารจามจุรีสแควร์ จุฬาฯ โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะประธานคณะอนุกรรมการโครงการศึกษาค้นคว้าฯมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี เป็นประธานเปิดงาน
หนังสือชุด “มองอดีต เล็งอนาคต การปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 7” เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ที่ร่วมกันทำโครงการวิจัยเรื่อง “สยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ตั้งแต่ปีพ.ศ.2556 เพื่อศึกษาเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 อาทิ ด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สังคม วัฒนธรรม และการต่างประเทศ
โดยมี รศ.ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล เป็นบรรณาธิการของหนังสือชุดนี้ ประกอบด้วยหนังสือทั้งหมด 6 เล่ม ได้แก่ 1) เศรษฐกิจไทยในสมัยรัชกาลที่ 7 : รักษาเสถียรภาพ ปูพื้นฐานการพัฒนา โดย พอพันธ์ อุยยานนท์ 2) การศึกษาไทยในสมัยรัชกาลที่ 7 : ขยายโอกาส มุ่งคุณภาพ พร้อมคุณธรรมโดย เปรมา สัตยาวุฒิพงศ์3) ตัวตนใหม่ของสยามในโลกา : การต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 7 โดย ผศ.ธีระ นุชเปี่ยม 4) ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7 : ตะวันออกที่ศิวิไลซ์? โดย ผศ.ธีระ นุชเปี่ยม 5) ประชาธิปกกาลสมัย ในกระแสธารประวัติศาสตร์ โดย วีรวัลย์งามสันติกุล 6) คันฉ่องฝรั่งเศส ส่องสังคมสยามสมัยรัชกาลที่ 7 โดย ประหยัด นิชลานนท์และ รัชฎาพร ฤทธิจันทร์
รองศาสตราจารย์ประพันธ์พงศ์เวชชาชีวะ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ โครงการศึกษาค้นคว้าฯ ของมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี กล่าวว่า “ความตั้งใจของมูลนิธิในการจัดทำหนังสือชุดนี้ คือ การสนับสนุนให้ประชาชน คนไทย ได้ศึกษาเรื่องราวในสมัยรัชกาลที่ 7 ด้านการเศรษฐกิจ การศึกษา การต่างประเทศ สังคมและวัฒนธรรม อีกทั้งพระราชประวัติในภาพรวม เพราะเห็นว่า พระบรมราโชบาย และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีมากหลายที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าด้านการปฏิรูประบอบการปกครอง ซึ่งมีผู้ศึกษาไว้มากแล้ว โดยให้ทำการศึกษาตามหลักวิชาการบนฐานของข้อมูลข้อเท็จจริงเป็นสำคัญ จักได้เป็นการเฉลิมพระเกียรติตามจริง”
“การได้มีโอกาสเหลียวมองอดีตสมัยรัชกาลที่ 7 จึงน่าจะมีอานิสงส์ไม่น้อยต่อปัจจุบันนี้ ทั้งในแง่ของการทำความเข้าใจกับคติธรรมนำร่องการปฏิรูปในสมัยนั้น และในการได้เรียนรู้ถึงอุปสรรคติดขัดที่รัฐบาลของพระองค์ต้องเผชิญในการผลักดันการปฏิรูป จะได้เป็นบทเรียนสำหรับความพยายามในปัจจุบัน”
นอกจากนี้ภายในงานยังได้จัดการเสวนาในหัวข้อ “การปฏิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่ 7จากอดีต สู่ปัจจุบัน” วิทยากรโดย รศ.ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล กรรมการมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี, อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผศ.ดร.ธีระ นุชเปี่ยม หัวหน้าชุดโครงการวิจัยฯ, นักประวัติศาสตร์ และนักรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และ รศ.วุฒิชัยมูลศิลป์ นักประวัติศาสตร์, ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา, อดีตอาจารย์ประจำ มศวประสานมิตร ดำเนินรายการโดย คุณวสุแสงสิงแก้ว กรรมาธิการการต่างประเทศวุฒิสภา/นักร้อง/นักแสดง
รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ, รศ.ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล, รศ.วุฒิชัย มูลศิลป์, ผศ.ดร.ธีระ นุชเปี่ยม,
เมื่อกล่าวถึงรัชสมัยของรัชกาลที่ 7การศึกษาค้นคว้ามักจะมุ่งประเด็นไปในเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย หากแต่ในรัชสมัยนั้น ยังมีเรื่องราวสำคัญอีกหลายด้านที่สมควรแก่การศึกษาเผยแพร่อาทิ ในด้านเศรษฐกิจต้นรัชสมัยของพระองค์ประสบความสำเร็จในการทำให้งบประมาณเกินดุลได้ทุกปี ยกเว้นในปี พ.ศ.2474 และ 2475 ซึ่งมีภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่รัฐบาลของพระองค์ก็ได้รักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไว้ได้ ด้วยนโยบายประหยัดงบประมาณ ระมัดระวังไม่ใช้วิธีการกู้เงินจากต่างประเทศ ซึ่งอาจเสี่ยงต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศ ทั้งนี้ได้มีการสานต่อการสร้างทางรถไฟ เพิ่มการสร้างถนน และพัฒนาการอากาศยานด้วย เป็นฐานสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ
“ด้านการศึกษา นับว่าเป็นยุคแห่งความก้าวหน้าทางด้านการอุดมศึกษา มีการประสาทปริญญาเป็นครั้งแรกในประเทศ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2473 และปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้โรงเรียนราษฎร์ของคณะมิชชันนารี ก็ได้มีบทบาทนำในการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งชั้นมัธยมอย่างมีนัยสำคัญอีกทั้งยังมีการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาด้วยการฝึกหัดครู และมุ่งเน้นการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ด้วยเล็งเห็นว่าวิชาวิทยาศาสตร์จะทำคุณประโยชน์และนำมา ซึ่งการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรือง แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงให้ส่งเสริมศีลธรรมจรรยาแก่เยาวชนควบคู่กันไปด้วย นับเป็นแนวคิดทางการศึกษาที่ทันสมัยสามารถเทียบเคียงได้กับปัจจุบัน”
“ด้านสังคมและวัฒนธรรม มีข้อมูลและบทวิเคราะห์ทั่วไป ในเล่มประชาธิปกกาลสมัยในกระแสธารประวัติศาสตร์, คันฉ่องฝรั่งเศสส่องสังคมสยามฯ และในเล่มเศรษฐกิจไทยในสมัยรัชกาลที่ 7 กล่าวถึง การสำรวจสภาพเศรษฐกิจชนบทที่ทำให้เห็นภาพวิถีชีวิตทางการเกษตร และความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มมี ซึ่งในเล่มคันฉ่องฝรั่งเศสฯ ให้รายละเอียดไว้อย่างมีรสชาติถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา ขนบประเพณี ความเชื่อ การละเล่นและกีฬาหรือแม้แต่การพนันแบบต่างๆ รวมทั้งการเปรียบเทียบลักษณะนิสัยระหว่างชาวไทยกับชาวจีนในสยาม เป็นต้น นอกจากนี้ในเล่มประชาธิปกกาลสมัยฯ ยังชี้ให้เห็นว่าได้มีความพยายามที่จะค้นคว้า บันทึก และเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมของสยาม โดยการดำเนินงานของราชบัณฑิตยสภา เพื่อบูรณาการทั้งการห้องสมุดการพิพิธภัณฑ์ โบราณคดี ศิลปกรรมและการดนตรีเข้าด้วยกัน โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชอัจฉริยภาพทางด้านการดนตรีไม่น้อย”
หนังสือชุด “มองอดีต เล็งอนาคต การปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 7” ได้แสดงให้ประจักษ์ว่าในสมัยรัชกาลที่ 7 นั้น มีการปฏิรูปกิจการบ้านเมืองในหลายๆ ด้านไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งยังสอดคล้องกัน โดยถือคติของการรักษาสิ่งที่ดีแต่เก่าก่อนไว้ และนำสิ่งใหม่อันเป็นความเจริญก้าวหน้ามาดัดแปลงให้เหมาะสมกับกาลเทศะ โดยดำเนินการอย่างระมัดระวัง มิให้เกิดความระส่ำระสาย ขัดแย้งจนเกิดเป็นความรุนแรง นับเป็นคติที่ทรงคุณค่าแก่การยึดถือในปัจจุบันที่กำลังมีการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศอีกครั้งหนึ่ง โดยทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
พบกับหนังสือชุด “มองอดีต เล็งอนาคตการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 7” ครบทั้ง 6 เล่ม ได้ที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ทุกสาขา และร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.02-2189893-5 หรือ www.chulabook.com
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี