ท่านเจ้าของสัตว์ครับ สัตว์เลี้ยงของเราไม่สามารถพูดได้ไม่สามารถบอกถึงความเจ็บป่วยและความไม่สบายตัวให้เราทราบได้ ดังนั้นในยามที่เจ็บป่วยเล็กน้อย ปัญหาคงไม่เกิดมากเท่าไหร่ แต่หากยามที่พวกเค้าป่วยหนักถึงขั้นวิกฤติล่ะ เราจะทราบได้อย่างไร
การสังเกตจากอาการจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อความเป็นความตายแค่เสี้ยววินาทีนั้นก่อนที่จะถึงมือหมอครับดังนั้น “เจ้าของสัตว์” หรือ “คนที่อยู่ใกล้ชิดสัตว์” จึงเป็นส่วนที่สำคัญมากในการที่จะระบุให้ได้ ว่าสัตว์เลี้ยงของท่านมีอาการผิดปกติหรือไม่ อย่างไร เพื่อที่จะได้รีบนำตัวเขาส่งให้สัตวแพทย์รักษาต่อได้ทันท่วงที
วันนี้ เรามาคุยกันถึงเรื่องการประเมินสภาพสัตว์ป่วยแบบง่ายๆ กันครับ เพื่อให้ง่ายและจดจำได้สะดวกจะใช้อักษรย่อคือ ABCD ในการอธิบาย โดยตัวย่อแต่ละตัวนั้นคือ
A (Airway) เราต้องประเมินว่า มีอะไรอุดตันหรือขวางทางเดินหายใจของสัตว์หรือไม่ หายใจผ่านทางเดินหายใจได้หรือไม่ ดังนั้นทางเดินหายใจควรจะปลอดจากสิ่งต่างๆที่ขัดขวางการหายใจ เช่น เยื่อเมือก เศษอาหาร วัตถุแปลกปลอม จนทำให้ท่อทางเดินหายใจตีบตัน
B (Breathing) ให้เราประเมินว่า สัตว์สามารถหายใจได้เองอย่างปกติหรือไม่ มีลักษณะการหายใจที่ผิดไปจากปกติหรือไม่ เช่น แสดงอาการหอบ หายใจตื้นและถี่ อ้าปากหายใจ ใช้ช่องท้องช่วยในการหายใจ (หายใจจนท้องแฟ่บหรือโป่งออก) หายใจไม่ออกเหมือนมีอะไรอุดคออยู่หรือไม่
C (Circulation) ให้ประเมินว่าสัตว์มีอัตราการเต้นของหัวใจที่ปกติและสม่ำเสมอหรือไม่ การตรวจการเต้นของชีพจรนั้น เราสามารถคลำได้จากบริเวณขาหนีบด้านใน หากคลำแล้วพบการเต้นของชีพจรเบามากหรือไม่มีเลยอันนี้ผิดปกติครับมักพบร่วมกับปลายขาทั้งสี่เย็น ส่วนสีของเยื่อเมือกที่เหงือกต้องไม่เป็นสีขาวซีด สีม่วงหรือแดงก่ำ
D (Disability) ประเมินการทำงานของระบบประสาท (หากมีประวัติการกระทบกระแทกที่บริเวณศีรษะแบบรุนแรง) มีการชักกระตุก ขาเหยียดเกร็ง หรือมีการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังอย่างรุนแรงจนไม่สามารถเดินได้เป็นต้น
นอกจากนี้ การที่สัตว์เลี้ยงของเรามีภาวะอุณหภูมิร่างกายสูงมาก ช่องท้องหรือช่องอกทะลุ อวัยวะภายในโผล่หรือทะลักออกมาจากร่างกาย และไม่สามารถปัสสาวะได้ หากพบภาวะดังที่กล่าวไปแล้วนั้น เจ้าของสัตว์ต้องรีบนำส่งสัตวแพทย์โดยทันทีเลยนะครับ
การรับมือกับภาวะฉุกเฉินจะสำเร็จและราบรื่นไปได้นั้น จะอยู่ภายใต้สติและความรวดเร็วของผู้เลี้ยง การตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยงเป็นประจำและป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ถือเป็นเกาะป้องกันโรคร้ายได้เป็นอย่างดี
หากมีความกังวลใจหรือปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพสัตว์เลี้ยงสามารถติดต่อได้ที่ แผนกสัตว์ป่วยฉุกเฉิน โรงพยาบาลสัตว์เล็กจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 02-2189752 ครับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี