การศึกษาศิลปกรรมของชวาบาหลีกับสถาบันอยุธยาศึกษานั้น หากไม่จูงมือ ธนิตสร เพชรถนอมช่างภาพมือแสงเงาแล้วก็จะหาภาพงามจากเทวาลัยของศาสนาฮินดูที่เป็นจุดเริ่มต้นของปราสาทหินต่างๆในประเทศอาเซียนไม่ได้เลย ด้วยในคริสต์ศตวรรษแรกนั้นมีชาวฮินดูจากอินเดียตะวันออกเฉียงใต้ เดินทางเผยแพร่มาสู่ประเทศที่อยู่ทางทะเลใต้หรืออุษาคเนย์ ทั้งที่อพยพเข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิและไปอยู่ถึงอินโดนีเซียซึ่งมีการเดินทางอพยพอย่างต่อเนื่องจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7 จนทำให้มีอิทธิพลและความเชื่อถือในศาสนาฮินดูนั้นขยายวงกว้างออกไป โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง จนผสมผสานกลืนกลายเป็นวัฒนธรรมสำคัญของชาติในที่สุดโดยเฉพาะภาษาสันสกฤต และภาษาปัลวะนั้น ต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นภาษาชวาเก่า ชวาใหม่ และอักษรอินโดนีเซียอื่นๆ วัฒนธรรมส่วนใหญ่ของอินโดนีเซียที่รับมาจากชาวฮินดูนั้นมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ดังเห็นได้จากสถาปัตยกรรม ประติมากรรมรูปปั้นวรรณคดี ดนตรี นาฏศิลป์ และการเล่นพื้นเมือง ซึ่งยังคงมีอยู่ในบาหลี และลอมบอร์กตะวันตก แม้จะมีพุทธศาสนาฝ่ายมหายานและฝ่ายเถรวาทจากอินเดียตามมาเผยแผ่ในอินโดนีเซียระหว่างปี พ.ศ.643-743 นั้นก็ตาม ระยะแรกๆ ไม่ได้รับความนิยมมากนัก จนถึงสมัยอาณาจักรศรีวิชัย พุทธศาสนาจึงรุ่งเรืองมากขึ้น
ต่อมาปี พ.ศ.1215 จึงได้มีศูนย์กลางพุทธศาสนาอยู่ที่เมืองปาเลมบัง ในเกาะสุมาตราและชวาตอนกลางเช่นเดียวกับพุทธศาสนาได้ขยายขึ้นมาถึงสุวรรณภูมิตอนใต้จนเมื่อสิ้นสุดอาณาจักรศรีวิชัยพุทธศาสนาก็เสื่อมลงส่วนศาสนาฮินดูนั้นยังมีความเข้มแข็งและมีการสร้างเทวสถานสำคัญขึ้นหลายแห่ง โดยเฉพาะ “ปรัมบานัน”(Prambanan) นั้นในอินโดนีเซีย เรียกว่า จันดีปรัมบานัน(Candi Prambanan) หรือจันดีราราจงกรัง (Candi RaraJonggrang) เป็นเทวสถานศาสนาฮินดูที่มีความสำคัญ ตั้งอยู่ห่างจากยอกยาการ์ตาไปทางตะวันออกประมาณ 18 กิโลเมตร เป็นมหาวิหารศาสนาฮินดูที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์และอินโดนีเซีย มหาวิหารแห่งนี้มีจุดเด่นที่พระปรางค์ขนาดใหญ่สูงถึง 47 เมตร“ปรัมบานัน” นี้ เรียกตามภาษาอินโดนีเซียว่า วัดโลโรจงกรัง (Loro Jongrang Temple) วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ.1390 หลังจากสร้างเสร็จได้ไม่นาน ก็ถูกทอดทิ้งและถูกปล่อยให้ทรุดโทรมตามกาลเวลา พ.ศ.2349 (ค.ศ.2006) ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้นบนเกาะชวาจึงทำความเสียหายอย่างมากให้แก่ “ปรัมบานัน”จนบรรดาสิ่งก่อสร้างหลายแห่งโดยเฉพาะเทวาลัยขนาดเล็กที่อยู่รายรอบปรางค์ประธานนั้นได้พังเสียหายหนัก จนถึงปี พ.ศ.2461(ค.ศ.1918) จึงได้มีการบูรณะวัดขึ้นใหม่ โดยได้บูรณะสิ่งก่อสร้างหลักที่สำคัญจนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2496 (ค.ศ.1953) ปราสาทหินปรัมบานันแห่งนี้ต่อมาได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 15ณ เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย เมื่อปี พ.ศ.2534ภายใต้ชื่อ “กลุ่มวัดปรัมบานัน” อันเป็นผลจากสถาปัตยกรรมแห่งนี้เป็นตัวแทนแสดงผลงานชิ้นเอกที่ทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์และเป็นตัวอย่างสิ่งก่อสร้างโดดเด่นอันเป็นตัวแทนของการพัฒนา ทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม
ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ปรัมบานันนั้นเป็นกลุ่มเทวสถานที่ก่อสร้างด้วยหินจำนวนหลายหลัง ลักษณะคล้ายเทวาลัยหรือปราสาท โดยสร้างเทวาลัยหลัก 8 หลัง อยู่ตรงกลาง รายล้อมด้วยเทวาลัยขนาดเล็กเป็นบริวารมีมากกว่า 200 หลังมีแนวกำแพงล้อมรอบเทวาลัย ขนาดใหญ่ 3 หลัง โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก คล้ายเจดีย์ทรงกลีบมะเฟืองที่รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดีย เทวาลัยประธานหลังกลางเด่นที่สุดสูงถึง 47 เมตร เป็นเทวาลัยที่สร้างขึ้นถวายแด่พระอิศวร ส่วนอีกสองหลังที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นเทวาลัยทิศเหนือสร้างถวายแด่พระนารายณ์ และเทวาลัยทิศใต้สร้างขึ้นถวายแด่พระพรหม รอบเทวาลัยนั้นมีภาพสลักนูนทำจากหินลาวาภูเขาไฟ ประดับกำแพงนั้นประณีตงดงามมากเป็นภาพ เรื่องพระผู้เป็นเจ้า เรื่องรามายณะและเรื่องราวจากตำนาน จึงทำให้เป็นเทวสถานแห่งศิลปกรรมมรดกโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอาเซียน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี