เจ้าของสัตว์หลายๆ ท่านมักคิดว่า เมื่อสุนัขมีอาการคัน มีการเกา จนทำให้ผิวหนังแดง อักเสบ ขนร่วง มีสะเก็ดรังแค มีกลิ่นเหม็น หรือเห็นความผิดปกติที่ผิวหนังแล้ว หลายท่านมักจะ “สรุป (ไปเอง) ทันที” เลยว่าหมาของเราเป็น “ขี้เรื้อน” เสียแล้ว ซึ่งเป็นการสรุปที่ไม่ถูกต้องเลยครับ
แม้ว่า “ขี้เรื้อน” จะถือเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง ที่สามารถพบได้ ซึ่งเกิดจาก “ตัวไรขี้เรื้อน” ซึ่งเป็นปรสิตภายนอกที่มีขนาดเล็กมาก แต่หากได้รับการตรวจอย่างละเอียดโดยสัตวแพทย์แล้ว อาการของโรคที่เกิดขึ้นเหล่านั้นอาจเกิดสาเหตุอื่นได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะภูมิแพ้ การแพ้ (การแพ้อาหารและสารระคายเคืองจากพืชหรือสัตว์) ผิวหนังอักเสบติดเชื้อจากแบคทีเรีย ยีสต์ หรือเชื้อรา การขาดฮอร์โมนแร่หรือธาตุบางชนิด ซึ่งในหลายรายพบว่าเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกันครับ
ความเชื่อ (ผิดๆ) ที่ว่า เมื่อสุนัขมีปัญหาที่ผิวหนัง(แล้วสรุปเองว่าเป็นขี้เรือน) แล้วการเอา “น้ำมันขี้โล้ว” หรือน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้ว มาทาผิวหนังสุนัขเพื่อ(เข้าใจว่าเป็นการ) รักษานั้น เป็นเรื่องที่ “ผิด” อย่างมหันต์เลยครับ เพราะนอกจากจะทำให้เจ้าตูบของเรา “แสบ” อย่างทรมานแล้ว ยังเป็นการเติม “สารตะกั่ว” และ “โลหะหนัก” ที่เป็นอันตราย ผ่านทางบาดแผลเข้าไปยังร่างกายสุนัขอีกด้วย
มีบางรายบอกต่อๆ กันว่า ให้เอา “น้ำที่แช่หน่อไม้ดอง” มาราดผิวหนังเพื่อรักษาขี้เรื้อน ซึ่งอันนี้ยังพอมองดูเป็นธรรมชาติบำบัดมากกว่า และดูว่าจะอันตรายน้อยกว่าแต่ก็ขอให้ข้อมูลว่า น้ำหน่อไม้ดองนั้น ไม่ได้ฆ่าตัวไรขี้เรื้อนครับ เพียงแต่ในน้ำหน่อไม้ดองจะมีแร่ธาตุกำมะถัน ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยฆ่าเชื้อโรคได้เล็กน้อย แต่ถึงอย่างไรก็ไม่คุ้มกับความ “แสบ” ที่สุนัขได้รับหรอกครับ ลองจินตนาการดูว่า เวลาเรามีแผลหรือรอยถลอกแล้วเอาทิงเจอร์หรือแอลกอฮอล์ราดลงไป เราจะรู้สึกอย่างไร นึกแล้วขนลุกเลยครับ
ปัญหาโรคผิวหนังนั้น เป็นหนึ่งในหลายสาเหตุ ที่ทำให้สุนัขมี “สุขภาพกายและสุขภาพจิต” เสียไป เนื่องจากสัตว์จะคอยหมกมุ่นอยู่กับ “การเกา” ตลอดเวลาทำให้ไม่สนใจที่จะกินอาหาร หรือทำกิจกรรมอื่นเท่าไหร่ บางครั้งผิวหนังที่มีการติดเชื้อหนอง (แบคทีเรีย) ร่วมด้วย ก็จะทำให้ “มีกลิ่นเหม็น” ซึ่งเป็นเหตุให้คนที่พบเห็นและได้กลิ่น มีท่าที “รังเกียจ” อย่างแน่นอน ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่เจ้าของสุนัขกุมขมับและปวดศีรษะอยู่ไม่น้อย
ในความเป็นจริงแล้ว “โรคผิวหนัง”ในสุนัข ไม่ได้มีสาเหตุเกิดจาก “ไรขี้เรื้อน”เพียงอย่างเดียวตามที่หลายท่านเข้าใจ แต่เกิดจากหลายสาเหตุและมีหลายประเภทแม้จะมีอาการที่แสดงออกคล้ายกัน แต่จะมีสาเหตุที่แตกต่างกัน ซึ่งการรักษาที่ใช้ก็จะ “แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง” ด้วยครับ
● สาเหตุของการคัน มาจากอะไรได้บ้าง
สาเหตุที่ทำให้สุนัขมีอาการคันนั้น อาจแบ่งได้คร่าวๆ ดังนี้
1.ปัญหาโรคผิวหนังที่เกิดจากปรสิตภายนอกขนาดใหญ่ที่มองเห็นด้วยตาเปล่า เช่น เห็บ หมัด และเหา พยาธิภายนอกเหล่านี้จะกัดผิวหนัง กินเลือดและสะเก็ดที่ผิวหนัง ทำให้เกิด การคัน การแพ้ รวมถึงเป็นตัวนำพยาธิในเม็ดเลือดอีกด้วย
2.ปัญหาโรคผิวหนังที่เกิดจากปรสิตภายนอกขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นจำพวกไร ซึ่งได้แก่ ไรขี้เรื้อน (ทั้งขี้เรือนเปียกและขี้เรื้อนแห้ง) ไรในหู ซึ่งจะทำให้สุนัขคันมาก และสลัดหูจนอาจทำให้เกิดถุงเลือดขังที่ใบหู (Aural hematoma) ซึ่งจะเห็นว่าใบหูบวมเป่ง เดินหัวเอียง บางครั้งอาจมีอาการชักเกร็งด้วย
3.ปัญหาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา ยีสต์ และแบคทีเรีย ซึ่งโรคผิวหนังจากเชื้อรานั้น เราต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ถ้าช่วงนั้น ผิวหนังของคนที่สัมผัสมีสภาพออนแอ ก็จะเป็นโรคที่สามารถติดต่อถึงคนได้ครับ ส่วนโรคผิวหนังจากยีสต์นั้น มักพบในสุนัขที่มีผิวหนังอับชื้น มักมีการอักเสบของต่อมไขมันที่ผิวหนัง รวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนด้วย ทำให้สุนัขมีกลิ่นตัวแรง
4.ปัญหาโรคผิวหนังที่เกิดจากภูมิแพ้ (Atopic dermatitis) สุนัขที่เป็นโรคนี้จะมีปฏิกิริยาตอบสนอง “ไว” ต่อสิงที่สัมผัสหรือสิ่งที่แพ้เป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น แพ้อาหาร แพ้ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ โดยปกติจะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม อาจต้องกินยาช่วยลดการแพ้ไปตลอดชีวิต เพียงแต่ปริมาณยาที่ใช้ในการควบคุมจะไม่มากเท่าในช่วงแรกของการรักษา
5.โรคผิวหนังที่เกิดจากการขาดฮอร์โมน สาเหตุนี้มักจะทำให้เกิดอาการขนร่วงแต่มักไม่มีอาการคัน และมักไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน จึงมักไม่มีกลิ่นเหม็น มักจะเกิดในสุนัขอายุมาก หรือตัวที่ทำหมันแล้ว เนื่องจากการขาดฮอร์โมนเพศ และฮอร์โมนไธรอยด์เป็นฮอร์โมนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหานี้
6.สาเหตุอื่นๆ เช่นการขาดสารอาหารและแร่ธาตุบางประเภท เช่น แร่ธาตุสังกะสี และกรดไขมันบางชนิด เช่น omega-3 และ omega-6 เป็นต้น
● อาการคันมักเกิดขึ้นที่ส่วนใดของร่างกายสัตว์
โดยปกติแล้ว อาการคันในสุนัข สามารถพบได้เกือบทุกส่วนของร่างกายไม่ว่าจะเป็นหู หัว หน้า รอบปาก รักแร้ ท้อง ขาหนีบสะโพก โคนหาง หรือเท้าทั้งสี่ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค เช่น
“ไรขี้เรื้อนแห้ง” มักทำให้สุนัขมีอาการคันที่บริเวณขอบใบหู
“ไรขี้เรื้อนเปียก การติดเชื้อยีสต์และปัญหาภูมิแพ้” มักพบว่าสุนัขชอบแทะหรือเลียที่บริเวณเท้าทั้งสี่
“การแพ้น้ำลายหมัด” มักทำให้สุนัขคันและแทะบริเวณสะโพกหรือโคนหางเป็นต้นการที่จะช่วยให้สัตวแพทย์รักษาอาการคันให้ได้ผลดีนั้น จำเป็นต้องได้รับข้อมูลจากเจ้าของสัตว์อย่างละเอียดทั้งเรื่องอาการ ระยะเวลาที่เริ่มมีอาการคัน ความถี่ของการเกา รวมถึงสิ่งผิดปกติที่พบที่ผิวหนัง ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้นำมาประกอบการตรวจวินิจฉัย สัตวแพทย์จะทำการซักประวัติอย่างละเอียด เพื่อให้ครอบคลุม โดยจะมีการตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเลือกการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ และเพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
สัปดาห์หน้า เรามาดูวิธีการเตรียมตัวเพื่อให้ข้อมูลแก่สัตวแพทย์ รวมถึงวิธีการตรวจวินิจฉัยและการรักษากันครับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี