ในโอกาสครบรอบ 200 ปีแห่งความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกา สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย จัดนิทรรศการชุด “ของขวัญแห่งมิตรภาพ” เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์อันดีตลอดระยะเวลา 200 ปีของสองประเทศ ซึ่งได้นำสิ่งของต่างๆ กว่า 80 ชิ้นที่ผู้นำประเทศ บุคคลสำคัญ และหน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรี รวมถึงสิ่งของที่ผู้นำประเทศ บุคคลสำคัญของไทยได้มอบให้เพื่อเป็นที่ระลึกซึ่งสิ่งของทุกชิ้นที่นำมาจัดแสดงนี้ไม่ใช่แค่ “ของขวัญ” แต่ยังนับเป็น “ศิลปวัตถุ” ที่จะเป็นสิ่งยืนยันมิตรภาพอันยาวนานของทั้งสองประเทศ ภายในงานมี มร.กลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พร้อมแขกผู้มีเกียรติคนสำคัญ อาทิ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี, ดร.จิรายุ-ท่านผู้หญิงอรนุช อิศรางกูร ณ อยุธยา, ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ, ท่านผู้หญิงภรณี มหานนท์, ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), จิตริก-ท่านผู้หญิงวิวรรณ เศรษฐบุตร ทายาทพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ หนึ่งใน 80 ผู้นำประเทศ บุคคลสำคัญที่มีสิ่งของมาจัดแสดง และคณะทูตานุทูตเข้าร่วมงานคับคั่ง ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ภายในนิทรรศการมีชิ้นที่เป็นไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดชม ชิ้นแรก จดหมายจากพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) มีไปยัง ประธานาธิบดี เจมส์ มอนโร เมื่อปีพ.ศ. 2361 นับว่าเป็นการติดต่อกันทางจดหมายเป็นครั้งแรกระหว่างรัฐสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยเขียนเป็นภาษาโปรตุเกส เนื้อความในจดหมาย พระยาสุริยวงศ์มนตรี ได้แนะนำแก่ประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร ว่า พ่อค้าวาณิชชาวอเมริกันที่ประสงค์จะทำการค้าขายกับราชอาณาจักรสยามให้นำ “Espingardas” หรือปืนคาบศิลา แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานถึงจดหมายที่ประธานาธิบดีมอนโรตอบกลับแต่สิ่งที่ยืนยันได้ว่าเขาได้รับจดหมายฉบับนี้จากพระยาสุริยวงศ์มนตรี คือในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1820 เรืออเมริกันหลายลำเดินทางมายังกรุงเทพมหานครและบรรทุกปืนคาบศิลามาแลกเปลี่ยนกับน้ำตาลจากสยาม ตามคำแนะนำของพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) ที่มีไปถึง ประธานาธิบดีมอนโร ซึ่งจดหมายฉบับนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากหอสมุดรัฐสภาสหรัฐอเมริกา ชิ้นที่ 2 ในช่วงที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการถูกกองทัพญี่ปุ่นบุกยึดครองและบังคับให้รัฐบาลไทยต้องยอมจำนนทำข้อตกลงกับญี่ปุ่นในการร่วมรบกับทหารฝ่ายสัมพันธมิตรในขณะเดียวกันมีประชาชนคนไทยไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาล จึงได้รวมตัวกันจัดตั้ง “ขบวนการเสรีไทย” เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นและปลดปล่อยประเทศไทยจากกองกำลังจักรวรรดิญี่ปุ่น โดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน เป็นผู้นำในสายอเมริกา และ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เป็นผู้นำในประเทศไทย ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเอง หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้มอบ กล่องบุหรี่ทองประดับอักษรพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (อปร) ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นของขวัญให้กับประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี.รูสเวลต์ เพื่อเป็นสิ่งยืนหยัดว่าประเทศไทยเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับสหรัฐอเมริกา ท้ายที่สุดแม้ว่าไทยจะประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาในฐานะกองกำลังร่วมพบกับญี่ปุ่น แต่สหรัฐอเมริกาไม่เคยมองว่าประเทศไทยเป็นศัตรูแต่อย่างใด กล่องบุหรี่ทองประดับอักษรพระปรมาภิไธยชิ้นนี้ จึงกล่าวได้ว่า เป็นของขวัญแห่งสันติภาพ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากพิพิธภัณฑ์และหอสมุดประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ให้นำมาจัดแสดง
ในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกา เมื่อกล่าวถึงพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แล้วจะขาดสหรัฐอเมริกาไปไม่ได้ ดังเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น รัฐแมสซาชูเชตส์ ครั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี หนึ่งในพระราชกรณียกิจที่สำคัญคือ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนนานาประเทศเพื่อเจริญความสัมพันธไมตรโดย พระบาท สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงเยือนสหรัฐอเมริกา ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในปีพ.ศ.2503 และครั้งที่สองในปีพ.ศ.2510 ซึ่งในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ จะทรงนำของขวัญที่ทรงให้ช่างฝีมือชาวไทยจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อพระราชทานแก่ผู้นำประเทศ ดังเช่นในคราวที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 2 ในปีพ.ศ.2510 พระราชทาน ชุดเครื่องเขียนถมทอง ให้แก่ ประธานาธิบดี ลินดอน บี.จอห์นสัน ระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเยือนทำเนียบขาว ในชุดประกอบด้วย ที่ทับกระดาษ ที่คั่นหนังสือ ที่เปิดจดหมาย ปฏิทิน ไม้บรรทัด กระดาษซับ ที่ยึดปากกา แฟ้มจดหมาย นาฬิกาปลุก และที่เขี่ยบุหรี่ ซึ่งเป็นเครื่องเขียน เครื่องใช้ที่มักจะมีไว้ใช้ในสำนักงานในสหรัฐอเมริกา โดยชุดเครื่องเขียนถมทองนี้เป็นศิลปหัตถกรรมโบราณของไทย โดยช่างฝีมือของ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ของขวัญแห่งมิตรภาพอีกหนึ่งชิ้น ที่สหรัฐอเมริกาได้รับจากราชวงศ์ไทย ซึ่งมีความงดงามและถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีนั่นคือ ฉลองพระองค์ครุย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานให้พระราชโอรส พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (องค์ต้นราชสกุล วรวรรณ)ให้ทรงในพระราชพิธีต่างๆ ฉลองพระองค์นี้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ได้รับพระราชทานสืบต่อมาและทรงเก็บรักษาไว้อย่างดี ก่อนจะประทานให้ สถาบันสมิธโซเนียน เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อปีพ.ศ.2490 ฉลองพระองค์ครุยนี้เป็นงานปักด้ายทองอันละเอียดอ่อน และด้วยอายุของฉลองพระองค์ครุย ทำให้มีความเปราะบาง เกิดการชำรุดได้ง่าย ในการเตรียมฉลองพระองค์ครุยเพื่อนำมาจัดแสดงนี้ นักอนุรักษ์สิ่งทอ จูเลีย เบรนแนน ได้เย็บฉลองพระองค์ครุยด้วยมือเพื่อให้ได้ ตะเข็บ และลวดลายที่ปักบนฉลองพระองค์ครุยที่รุ่ยออกมามีความคงทนขึ้น อีกทั้งยังได้ใส่แผ่นป้องกันไม่ให้ด้ายเสียดสีกันเอง เนื่องจากน้ำหนักและความเปราะบางของฉลองพระองค์ครุย ในการจัดแสดงต้องวางบนพื้นที่แทบจะเรียบสนิท เพื่อป้องกันไม่ให้ตะเข็บชำรุด
นอกจากนี้ ยังมีของขวัญชิ้นอื่นๆ อาทิ ภาพเหมือนประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน สันนิษฐานว่าเป็นเรมบรันต์ พีล โดยประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียร์ซ ทูลเกล้าฯ ถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ.2399 ได้รับความอนุเคราะห์จากกรมศิลปากรให้นำมาจัดแสดง เช่นเดียวกับ ชุดตะกร้าสาน จาก อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ซึ่งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มอบให้สถาบันสมิธโซเนียน เมื่อ พ.ศ.2524 ได้รับความอนุเคราะห์จากฝ่ายมานุษยวิทยา สถาบันสมิธโซเนียน ให้นำมาจัดแสดง
ผู้สนใจตามรอยประวัติศาสตร์ผ่านนิทรรศการ “ของขวัญแห่งมิตรภาพ” ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ตั้งแต่วันนี้-30 มิถุนายน 2561 เวลา 09.00-16.30 น. ทุกวัน บัตรเข้าชมผู้ใหญ่ 150 บาท นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่แสดงบัตร 50 บาท และเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีเข้าชมฟรี ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.greatandgoodfriends.com
มร.กลิน ที. เดวีส์ ออท.สหรัฐอเมริกา พร้อมแขกผู้มีเกียรติ อาทิ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี, ดร.จิรายุ-ท่านผู้หญิงอรนุช อิศรางกูร ณ อยุธยา, ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ, ท่านผู้หญิงภรณี มหานนท์, จิตริก-ท่านผู้หญิงวิวรรณ เศรษฐบุตร, ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. และ ประชา เหตระกูล
มร.กลิน ที. เดวีส์ ออท.สหรัฐอเมริกา, พรเพชร วิชิตชลชัย, อัครราชทูตสหรัฐฯ ปีเตอร์ เฮย์มอนด์
วีระศักดิ์ ฟูตระกูล, ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ, Peter Prugel ออท.เยอรมนี, อัครราชทูตสหรัฐฯ ปีเตอร์-ดุษฎี เฮย์มอนด์
เรซิน่า อูเบรอย, วีระอนงค์ ภู่ตระกูล, ทิบอร์-แอกเนส พันดิ, แจ๊กเกอลีน-มร.กลิน ที. เดวีส์, คอร์ทนีย์ เนมรอฟฟ์ และ เบน คิง ม.ล.อรดิศ สนิทวงศ์, ชาลี จารุวัสตร์, นีล มูราตะม และ ชฎาทิพ จูตระกูล
แขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานจากกระทรวงพาณิชย์และกระทรวง การต่างประเทศ อาทิ วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์, วีระศักดิ์ ฟูตระกูล และ ม.ล.รดีเทพ เทวกุลฯ
ม.ล.ปรียาพรรณ ศรีธวัช และ อรัญ-โจแอน ยูแบงค์
ดามิรา-เจ.เอส. อูเบรอย และ ศิริพร ไชยสุต
ม.ล.อรดิศ สนิทวงศ์, ชาลี จารุวัสตร์, นีล มูราตะม และ ชฏาทิพ จูตระกูล
แขกผู้มีเกียรติจากพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ,ภัณฑารักษ์จากสถาบันสมิธโซเนียน และ เมอริเดียน อินเตอร์เนชั่นแนล เซ็นเตอร์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี