เครื่องแสดงยศ
ความสนใจใคร่รู้ในเรื่องวัฒนธรรมไทยจากกระแสละครย้อนยุคนั้น คงไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับการนุ่งโจงห่มสไบถ่ายรูปกันเท่านั้น การเรียนรู้ต่อยอดเพื่อให้เกิดการศึกษาเชิงลึกนั้น คุณนิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนครและคณะ ได้หยิบยกเรื่อง “สารพัดเชี่ยนหมาก” สมัยอยุธยา มาขยายความรู้ต่อเพื่อนำสู่ความเข้าใจถึงวัฒนธรรมกินหมากและการสร้างเครื่องแสดงยศขุนนางและพระบรมวงศานุวงศ์ ด้วยเหตุที่การกินหมากนั้นเป็นวิถีวัฒนธรรมไทยในอดีต ที่ใช้สร้างสัมพันธไมตรีดีต่อกัน จนมีการสร้างสรรค์เครื่องใช้ใส่หมากพลูขึ้น พร้อมกับสร้างสรรค์ประณีตศิลป์แตกต่างกันตามฐานะและรสนิยมชั้นยศ ให้เป็นประเพณีปฏิบัติของการสร้างเครื่องแสดงยศในสังคมศักดินาอยุธยา การกินหมากนั้นมีเครื่องกินหมากทั้งหมด ๔ อย่างคือ ผลหมาก ใบพลู ปูนแดง และยาเส้น บางครั้งมีการใส่เครื่องหอมหรือเปลือกไม้อื่นเพิ่มเติมตามรสนิยม เช่น กานพลู การบูร พิมเสน เปลือกตะเคียน เปลือกสีเสียด
สำหรับ “หมาก” (Betel nut, Arecanut หรือArecanut palm) นั้นนับเป็นพืชพื้นถิ่นยืนต้นตระกูลเดียวกับปาล์ม ปลูกได้ทั่วไปในพื้นที่เขตอบอุ่นและเขตร้อนมีถิ่นกำเนิดในแถบแหลมมลายูและหมู่เกาะฟิลิปปินส์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Areca catechy Linn. มีคำเรียกชนิดผลของหมากที่ใช้กินว่า หมากดิบ คือ หมากที่ยังไม่แก่หมากส่ง คือ หมากที่แก่จัด หมากอีแปะ คือหมากที่นำเนื้อในผลมาผ่าเป็นแผ่นบางๆ แล้วตากแห้งไว้ และหมากยับ คือ หมากแก่จัดที่เก็บไว้ทั้งเปลือก ไว้กินยามที่หาหมากยาก ส่วนเครื่องประกอบการกินหมากอื่นๆ ได้แก่ พลู นั้นนิยมใช้ใบมาบริโภคมี พลูค้างทองหลางมีใบสีเขียวและรสเผ็ด มักปลูกทิ้งค้างไว้กับต้นไม้อื่น และพลูจีนหรือพลูค้างไม้ ใบสีเหลืองขนาดใหญ่กว่าพลูค้างทองหลางและรสไม่ค่อยเผ็ด มักปลูกทิ้งไว้ให้เลื้อยบนไม้ที่พาดให้
นอกจากนี้ยังมี พลูนาบ เป็นพลูป่าที่นำมานาบด้วยความร้อนเก็บใช้กินยามขาดแคลน ปูนแดง ทำมาจากการเผาหินปูนหรือเปลือกหอยจนเป็นเถ้าแล้วนำมาบดให้เป็นผงกวนกับน้ำเป็นปูนขาว แล้วนำปูนขาวนั้นมาผสมขมิ้น เพื่อให้กรดในปูนทำปฏิกิริยากับขมิ้นกลายเป็นสีแดงและลดความเป็นกรดลง ยาเส้น มี ๒ ชนิด คือยาจีน หรือ ยาฝอย กับ ยาฉุน นำมาปั้นเป็นก้อน ใช้เช็ดหรือสีฟันหลังจากเคี้ยวหมากแล้ว เครื่องกินหมากทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการสร้างเครื่องใส่ใช้ในการกินหมากหลายรูปแบบจากวัสดุต่างๆ เช่น ไม้ เงิน นาก ทอง เครื่องเขิน เครื่องถมมีรูปแบบและความประณีตแตกต่างกันไปตามฐานะและใช้เป็นเครื่องแสดงยศ ซึ่งประกอบด้วยสิ่งของต่างๆ คือ เต้าปูน ใช้ใส่ปูนหมาก โดยมีไม้ควักปูน ซองพลู ใช้ใส่พลูจีบ ที่ใส่หมาก ใช้ใส่หมากสดและหมากแห้ง นอกจากนี้ยังมี ตลับ ผอบกล่อง ใช้ใส่ยาเส้น กานพลู การบูร สีเสียดจัดเป็นชุดเชี่ยนหมาก ๓-๘ ใบ ถ้าเป็นเครื่องประกอบยศเรียกพานพระศรี โดยมีอุปกรณ์ประกอบ ได้แก่ มีดเจียนหมาก เป็นมีดขนาดเล็กใช้ผ่าหมากดิบและเจียนพลูกรรไกรหนีบหมาก เป็นกรรไกรที่ใบมีดข้างหนึ่งใหญ่และคมกว่าอีกข้าง ใช้สำหรับผ่าลูกหมากและเนื้อหมาก
ตะบันหมาก มีลักษณะทรงกระบอกเรียวเล็กลงด้านปลายใช้ตำหมากพลูให้แหลกโดยมีสากตะบัน และ กระโถน ใช้บ้วนน้ำหมาก หรือคายชานหมากที่จืดแล้ว
วัฒนธรรมกินหมากนี้ทำให้เกิดความนิยมการมีฟันดำจนมีคำกันว่า “ขอให้ฟันดำเหมือนลูกหว้า ขอให้ปัญญาเหมือนพระมโหสถ” การทำให้ฟันดำเร็วนั้นใช้กะลามะพร้าวไปเผาไฟ แล้วนำมะนาวมาบีบใส่ให้ เกิดเป็นยางดำ ใช้เป็นยาสีฟัน ดังนั้นการมอบ “พานพระศรี”จึงเป็นเครื่องแสดงยศประกอบบำเหน็จความดีความชอบในสังคมศักดินาอยุธยา ซึ่ง Mr.Nicolas Gervaiseได้เล่าไว้ในหนังสือ Histoire Naturelle et Politique de Royaume du Siam ว่า “เราจะรู้จักความสำคัญของขุนนางเหล่านี้ในที่สาธารณะได้ ไม่เพียงจากหีบหมากพระราชทาน จากฐานะของเรือ จากดาบที่คาดเท่านั้นแต่ยังรู้ได้จากจำนวนทาสที่ติดหน้าตามหลังด้วย”สรุปว่าเชียนหมาก หรือ “พานพระศรี” คือปฐมบทเครื่องแสดงยศขุนนางศักดินาสมัยอยุธยาที่ต่อเนื่องมาจนปัจจุบันนั่นเอง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี