สัปดาห์ที่แล้วเราได้พูดกันถึงอาการและสาเหตุของโรคไตวายกันไปแล้ว ซึ่งสาเหตุของโรคนั้น คือการได้รับสารพิษ สารเคมีในอาหาร หรือการได้รับยาบางชนิดในปริมาณสูงเป็นเวลานาน ได้แก่ยาปฏิชีวนะบางกลุ่ม ที่ใช้รักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง และหูเป็นต้น ยาในกลุ่มลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์(Non-Steroidal Antiinflammatory Drugs) หรือ NSIADs ซึ่งใช้รักษาโรคกระดูก ข้อ และเป็นยาลดปวด ซึ่งเป็นอันตรายถ้าให้ร่วมกับยาขับปัสสาวะ โดยเฉพาะให้ในสัตว์อายุมาก
@ สัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อโรคไตวายคือกลุ่มใด?
ไตวายเรื้อรังส่วนใหญ่มักเกิดในสุนัขอายุมาก สัตว์มีสภาวะร่างกายที่เสื่อมถอยลง ส่วนใหญ่พบในสุนัขที่ได้รับอาหารซ้ำๆ เป็นเวลานานๆ แทบจะตลอดชีวิต เช่นตับไก่ย่าง (ตับช่วยบำรุงเลือดก็จริง แต่ก็เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ขจัดสารตกค้างและเป็นที่สะสมสารพิษในร่างกายไก่ ประกอบกับการปรุงรสที่เค็มและเข้มข้นจากผู้ปรุง) และในแมวที่กิน ปลาทูเข่ง (เป็นปลาทูที่ถูกต้มในน้ำเกลือแล้วเอามาวางเรียงใส่เข่งขายตามท้องตลาด) เป็นประจำทุกมื้อติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี จึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับเกลือและสารตกค้างที่ทำให้เกิดภาวะไตวายได้สูงมาก
@ อาการของโรคไตวายที่พบเป็นอย่างไร?
อาการของสัตว์ที่มีปัญหาเรื่องไตที่เราสังเกตได้ ที่ได้เกริ่นไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็คือ สัตว์จะซึม เบื่ออาหาร ร่างกายทรุดโทรม ผิวหนังเหี่ยวขาดความยืดหยุ่นเนื่องจากภาวะแห้งน้ำ
(dehydration) ขนแห้งหยาบน้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็วมีกลิ่นปาก อาเจียน และอาจเกิดการชักได้
@ การตรวจวินิจฉัย ทำได้อย่างไร?
ในการตรวจวินิจฉัยนั้น นอกจากสัตวแพทย์จะสอบถามจากประวัติ และอาการแล้ว การตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยการตรวจเลือดและปัสสาวะ รวมถึงการทำอัลตราซาวนด์ จะเป็นการช่วยยืนยันสภาพความผิดปกติของไตได้เป็นอย่างดีครับ การตรวจดูค่าทางเคมีของเลือดตัวหลักๆ ได้แก่การตรวจดูค่า Creatinine และ BUN
Creatinine เป็นของเสียที่เกิดจากกล้ามเนื้อ สารนี้จะเกิดขึ้นทุกวัน และมีค่าคงที่ เท่าๆ กันทุกวัน ซึ่ง creatinine นี้ จะถูกกรองที่ไตและขับออกทางปัสสาวะ แต่ถ้าไตทำงานผิดปกติ หรือเสื่อมลง จะทำให้การกำจัดสาร Creatinine จะลดลง ดังนั้นค่า Creatinine ในกระแสเลือดจะสูงกว่าปกติ (ค่าปกติในสุนัขประมาณ 0.5-1.4 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในแมวประมาณ 0.7-1.8 มิลลิกรัม/เดซิลิตร)
BUN มาจากคำว่า “Blood Urea Nitrogen” ซึ่งมีความหมายว่า ไนโตรเจนจากสารยูเรียที่มีอยู่ในกระแสเลือดยูเรีย (urea) เป็นสารประกอบของของเสีย ซึ่งเป็นผลิตผลสุดท้ายจากการย่อยสลายโปรตีนโดยตับ เบื้องต้นของเสียจะอยู่ในรูปของแอมโมเนีย (NH3) และสร้างเป็นสารยูเรีย เพื่อขับออกมาโดยไตในรูปของน้ำปัสสาวะ น้ำปัสสาวะจึงมีกลิ่นเหมือนแอมโมเนีย ดังนั้นหากกินเนื้อสัตว์มากๆ ปัสสาวะก็มียูเรียมาก ไตก็จะทำงานหนัก หากไตทำหน้าที่บกพร่อง หรือทำงานหนัก สารยูเรีย และไนโตรเจน ก็จะค้างอยู่ในกระแสเลือด เมื่อตรวจเลือดจะพบว่า ค่า BUN สูงกว่าปกติ ซึ่งก็หมายถึงการทำงานของไตลดลง (ค่าปกติในสุนัขประมาณ 7-25 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในแมวประมาณ 18-33 มิลลิกรัม/เดซิลิตร)
นอกจากนี้ การปัสสาวะและการตรวจค่าเลืออื่นๆเช่น ค่าเม็ดเลือดสมบูรณ์ (Complete blood count) และระดับโพแทสเซียมในเลือดก็จะช่วยให้การประเมินได้ผลที่แน่นอนมากขึ้นครับ
โรคไตในสุนัขและแมวยังไม่จบแค่นี้ สัปดาห์หน้าเรามาคุยถึงเรื่องวิธีการรักษาและการป้องกันโรคนี้กันครับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี