สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระนามเดิมว่า หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ณ บ้านของพลเอกเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) บ้านเลขที่ 1808 ถนนพระรามที่ 6 ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร อันเป็นบ้านของพระอัยกาฝ่ายพระมารดา ทรงเป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (ภายหลังได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) ประสูติแต่หม่อมหลวงบัว กิติยากร (สกุลเดิม สนิทวงศ์) มีพระพี่น้องคือ หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์, หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ และหม่อมราชวงศ์หญิง บุษบา กิติยากร
สำหรับพระนาม "สิริกิติ์" เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 อันมีความหมายว่า "ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร" มีชื่อเล่นว่า "คุณหญิงสิริ" ส่วนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบิพตร จะทรงเรียกว่า "แม่สิริ"
ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง หม่อมเจ้านักขัตรมงคล ต้องเสด็จไปดำรงตำแหน่งอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำสำนักเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ โดยได้ทรงพาครอบครัวทั้งหมดไปอยู่ด้วย ในเวลานั้นหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ มีอายุได้ 13 ปีเศษ และเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว ขณะที่อยู่ในประเทศอังกฤษ หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ ได้ศึกษาต่อทั้งวิชาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส และวิชาเปียโนกับครูพิเศษ หลังจากนั้นไม่นาน พระบิดาย้ายไปเดนมาร์กและฝรั่งเศส ตามลำดับ ขณะที่ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ก็ยังคงเรียนเปียโนและตั้งใจจะศึกษาต่อในวิทยาลัยการดนตรีที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีส
ระหว่างที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ ได้มีโอกาสรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบิพตร (ขณะนั้นทรงศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์) ซึ่งเสด็จฯ ประพาสกรุงปารีสเพื่อทอดพระเนตรโรงงานทำรถยนต์ ทั้งนี้ เนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบิพตร โปรดการดนตรีเป็นพิเศษ ขณะที่หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ ก็สนใจศิลปะเช่นกัน
วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2491 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง โดยมีหม่อมหลวงบัวและหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ เข้าเฝ้าฯ เยี่ยมพระอาการเป็นประจำ และในช่วงระยะเวลาที่ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ อยู่เฝ้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สวิตเซอร์แลนด์นั้น สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (พระนามในเวลานั้น) ได้ทรงรับเป็นธุระจัดการให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เข้าศึกษาในโรงเรียน Pensionnat Riante Rive ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งของโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ครั้นเมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงหายจากพระอาการประชวรแล้ว ก็ได้ทรงหมั้น หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เป็นการภายใน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2492
หลังจากทรงหมั้นแล้ว หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ ยังคงศึกษาต่อ กระทั่งพ.ศ.2493 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบิพตร เสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครเพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพ ระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ ตามเสด็จพระราชดำเนินกลับด้วย
เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้น ณ วังสระปทุม โดยมี สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จเป็นองค์ประธาน ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงลงพระปรมาภิไธยในทะเบียนสมรสและโปรดให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พร้อมทั้งสักขีพยานลงนามในทะเบียนนั้น หลังจากนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จออกในพระราชพิธีถวายน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบิพตร และทรงรดน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น "สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์" พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ในการนี้ด้วย
ต่อมาในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชดำริว่า ตามโบราณราชประเพณีเมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ กลับไปยังสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงรักษาพระองค์และทรงศึกษาต่อ จนกระทั่ง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงมีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอมีพระชันษาได้ 3 เดือน ทั้งสองพระองค์จึงเสด็จนิวัติประเทศไทย
เมื่อปีพ.ศ.2499 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชประสงค์เสด็จฯ ออกผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน เป็นระยะเวลา 15 วัน ทรงมีพระราชดำริว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้ทรงพระปรีชาสามารถในอันที่จะรับพระราชภารกิจในคราวนี้ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ผนวช
ต่อมา ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ปีเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการประกาศว่า ตามราชประเพณี เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เคยมีประกาศให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ผนวช และได้ปฏิบัติพระราชภารกิจแทนพระองค์ด้วยพระปรีชาสามารถ สนองพระราชประสงค์เป็นที่เรียบร้อย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีว่า "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" นับว่าทรงเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระองค์ที่ 2 ของประเทศไทย โดยพระองค์แรกคื อสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง)
ตลอดระยะเวลาแห่งการดำรงพระอิสริยยศ “พระราชินี” จนถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้ทรงปฏิบัติภารกิจน้อยใหญ่นานัปการ ทั้งในฐานะ “พระผู้ทรงเป็นที่พึ่งของปวงชนชาวไทย” และในฐานะ “คู่บุญคู่พระราชหฤทัย” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฏร์ ทั้งโดยเสด็จตามพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปทรงเยี่ยมราษฎรในชนบททั่วทุกภูมิภาค แม้จะทรงตรากตรำพระวรกายเนื่องจากการคมนาคมในสมัยนั้นยังไม่สะดวกสบายเหมือนในปัจจุบัน ก็มิได้ทรงย่อท้อแต่อย่างใด
พระปรีชาสามารถและพระวิริยะอุตสาหะที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงทุ่มเทอุทิศกำลังพระวรกาย พระสติปัญญา พระราชทรัพย์ ในพระราชกรณียกิจต่างๆ เพื่อเกื้อกูลประโยชน์สุขของพสกนิกรนั้นได้ดื่มด่ำอยู่ในหัวใจคนไทยทั้งชาติ และหยั่งลึกลงเป็นรากฐานแห่งความจงรักภักดีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นผลให้เกิดความมั่นคงและนำสันติสุขมาสู่ปวงชนชาวไทย
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชกรณียกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต อาชีพ และความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร ได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไปทั่วทุกหนแห่งในแผ่นดินไทยนี้
โครงการในพระราชดำริที่มีสาขาขยายกว้างขวางไปทั่วประเทศโครงการหนึ่งก็คือ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ พระราชดำริในการก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ นั้น มีมาตั้งแต่เมื่อครั้งตามเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบทเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2498 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงเห็นชาวบ้านนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่กันเป็นส่วนใหญ่ จึงทรงเล็งเห็นว่าชาวบ้านมีฝีมือในงานหัตถกรรมอยู่แล้ว จึงมีพระราชดำริส่งเสริมอาชีพให้แก่ชาวบ้าน เพื่อได้มีรายได้ทดแทน กรณีที่ผลผลิตทางการเกษตรต้องเสียหายไม่ได้ผล อันเนื่องจากภัยธรรมชาติ
ในช่วงแรก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวบ้านทอผ้าไหมมัดหมี่ แล้วทรงรับซื้อเอาไว้ เป็นการสนับสนุน ฟื้นฟู และพัฒนาฝีมือการทอในเบื้องต้น เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่งก็ได้มีการจัดตั้งเป็นมูลนิธิขึ้น และได้พระราชทานชื่อมูลนิธิว่า "มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์" ผู้ถวายนามคือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก พระองค์ที่ 19 โดย ม.ร.ว.ทองน้อย ทองใหญ่ รองราชเลขาธิการ ได้คิดชื่อภาษาอังกฤษถวายว่า "The Foundation For the Promotion of Supplementary Occupations and Related Techniques under the Royal Patronage of Her Majesty the Queen" มีชื่อย่อว่า SUPPORT และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงรับเป็นประธานกรรมการบริหารของมูลนิธิ โดยมีสำนักงานของมูลนิธิอยู่ที่สวนจิตรลดา กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งได้พระราชทานทุนเริ่มแรกจำนวนหนึ่งล้านบาทถ้วน ต่อมาในปีพ.ศ.2531 ได้มีการเปลี่ยนชื่อของมูลนิธิ เป็น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ชื่อภาษาอังกฤษว่า The Foundation of the Promotion of Supplementary Occupations and Related Techniques of Her Majesty Queen Sirikit of Thailand ชื่อย่อว่า SUPPORT เช่นเดิม
หลังจากที่ได้ดำเนินการก่อตั้งมูลนิธิศิลปาชีพฯ แล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงเห็นควรให้มีการก่อสร้างอาคารศิลปาชีพขึ้นในสวนจิตรลดา เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนศิลปาชีพแขนงต่างๆ แก่ราษฎรที่ได้รับคัดเลือกเข้าเรียน โดยได้เริ่มโครงการขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2521 การฝึกอบรมศิลปาชีพนั้น จะทรงพิจารณาจากสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม และวัสดุในแต่ละท้องถิ่นในภาคต่างๆ เป็นหลัก โดย ภาคเหนือ ส่งเสริมให้ฝึกอบรมการเย็บปักถักร้อย การทอผ้า ทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าจก การทำเครื่องประดับเงินและทอง ตามแบบศิลปะของชาวไทยภูเขา เป็นต้น ภาคอีสาน ส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมการทอผ้าไหมมัดหมี่ เพื่อรักษาศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะไว้มิให้สูญหายแต่ให้ปรับปรุงวิธีการทอ การย้อมสี การตกแต่งสำเร็จให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการปลูกต้นหม่อนและเลี้ยงไหมอีกด้วย ภาคกลาง ส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมการทำดอกไม้ประดิษฐ์ การทำเครื่องจักสานด้วยหวาย ไม้ไผ่ และป่านศรนารายณ์ การทอผ้าฝ้าย การปั้นตุ๊กตาชาววัง การตัดเย็บเสื้อผ้า การถนอมอาหาร เป็นต้น ภาคใต้ ส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมการทอผ้า การจักสานด้วยหวาย ไม้ไผ่ ย่านลิเภา การทอเสื่อกระจูด การเย็บปักถักร้อย การทำถมเงินถมทอง เป็นต้น ปัจจุบันมูลนิธิมีศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพกระจายอยู่ทั่วทุกภาค และมีโครงการส่งเสริมศิลปาชีพในหลายจังหวัดทั่วประเทศ อันเป็นการส่งเสริมอาชีพและขณะเดียวกันยังอนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปะพื้นบ้าน
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระราชหฤทัยงานด้านศิลปวัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าที่สำคัญของชาติ หนึ่งในนั้นคือ นาฏกรรมโขน ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้อนุรักษ์และสืบสานอยู่คู่แผ่นดินไทย ดังพระราชปรารภที่ว่า “ทุกวันนี้ประชาชนชาวไทย ไม่ใคร่มีโอกาสได้ชมโขน เนื่องจากการจัดแสดงโขนแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโขน และงานหัตถศิลป์แขนงต่างๆ เพื่อรื้อฟื้นการแสดงโขนตามโบราณราชประเพณี เริ่มต้นจากการจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่ สำหรับใช้ในการแสดงโขนพระราชทาน ทรงกำชับให้ยึดถือรูปแบบเครื่องแต่งกายโขนแบบโบราณ แต่มีความคงทนและสวยงามยิ่งขึ้น
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกลมากในการนำโขนมาสู่สังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง เพราะการฟื้นฟูโขนนั้น ไม่ใช่แค่การฟื้นฟูนาฏศิลป์ แต่เป็นการพลิกฟื้นฝีมือช่างหัตถศิลป์หลายแขนง หลายสาขาที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านงานประณีตศิลป์ของไทยนับร้อยคนให้คืนกลับมา ทั้งยังทำให้เกิดสกุลช่างในรัชกาลปัจจุบันในเรื่องของพัสตราภรณ์หรือเครื่องแต่งกาย มี อ.วีรธรรม ตระกูลเงินไทย เป็นผู้ควบคุมดูแลเรื่องการออกแบบ และดูแลช่างที่เป็นสมาชิกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่ช่วยกันตัดเย็บเครื่องแต่งกายและทอผ้าเพื่อใช้การแสดงโขนโดยเฉพาะ
ต่อมา อ.สมิทธิ ศิริภัทร์ ที่ปรึกษาส่วนพระองค์ด้านศิลปะของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตสร้างเครื่องแต่งกายโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งเป็นการสร้างอาชีพอีกทางหนึ่ง เมื่อได้รับพระราชทานพระราชานุญาต จึงเริ่มดำเนินการในปีพ.ศ.2548 ได้เริ่มตั้งคณะกรรมการเรื่องแนวทางสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นมาใหม่ และกำหนดแนวทางการแสดงเฉลิมพระเกียรติ ตอนพรหมาศ ประกอบวงแตรวงจากกองทัพบก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ใน พ.ศ.2550
ในปีพ.ศ.2559 เริ่มมีการออกแบบฉาก ซึ่ง อ.สมิทธิ ได้เชิญ อ.สุดสาคร มาออกแบบฉากตอนพรหมาศ ส่วน อ.วีรธรรม ตระกูลเงินไทย เป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย และเริ่มฝึกซ้อมการแสดงโดยมีเวลาซ้อมเพียง 2 สัปดาห์ ก่อนทำการแสดงครั้งแรกในเดือนธันวาคม พ.ศ.2550 ซึ่งจัดแสดงเพียง 3 รอบ โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตร เป็นปฐมฤกษ์
จากนั้นหยุดการแสดงใน พ.ศ.2551 ปีต่อมาจึงได้จัดแสดงโขนตอนพรหมาศ ฉบับปรับปรุงใหม่ เป็นครั้งที่ 2 โดยมีวงดนตรีสากล และวงดนตรีไทยเล่นประกอบโขน จัดแสดง 6 รอบ ต่อมาได้มีการเพิ่มรอบในภายหลังตามคำเรียกร้องของผู้ชม และในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปทรงเปิดนิทรรศการโขนพระราชทาน ในงานเปิดหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร และเป็นครั้งแรกที่ได้พระราชทานการแสดงโขนในปีต่อไปคือ ตอนนางลอย จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนชื่อจากโขนเฉลิมพระเกียรติ เป็น “โขนพระราชทาน” อันเป็นการแสดงที่พระราชทานลงมาให้แก่ปวงชนชาวไทยได้ชมนั่นเอง
สำหรับตอนนางลอยนั้น ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง โดยมีการจัดแสดงถึง 2 ช่วง ในเดือนมิถุนายน และ พฤศจิกายน พ.ศ.2553 ทั้งยังเป็นปีแรกที่เปิดคัดเลือกนักแสดงรุ่นใหม่ รวมทั้งเริ่มมีการสร้างฉากที่วิจิตรตระการตา และเพิ่มเทคนิคต่างๆ เพื่อดึงดูดใจผู้ชมมากขึ้น และการแสดงโขนพระราชทานที่จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีนั้นได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชนจนต้องเพิ่มรอบการแสดงขึ้นทุกปี และในปีพ.ศ.2561 นับเป็นวาระพิเศษ คือการฉลองครบรอบ 1 ทศวรรษของการจัดแสดงโขนพระราชทาน ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ โดยได้เลือกบทโขนรามเกียรติ์ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” มาจัดแสดงตามรูปแบบโขนหลวง ซึ่งมีความสนุกสนานตระการตาไปกับทุกฉากการแสดงผสมผสานศิลปะการแสดงแบบประเพณีกับเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างลงตัว มีฉากสำคัญ เช่น ฉากเรือสำเภาริมฝั่งน้ำ, ฉากสนามรบ ฯลฯ นำแสดงโดยศิลปินระดับแนวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร, สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และนักแสดงรุ่นใหม่ที่ผ่านการคัดเลือก โดยจัดแสดงระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน ถึง วันที่ 5 ธันวาคม 2561 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักว่าการแต่งกายแบบดั้งเดิมของไทยในชีวิตประจำวันถูกอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกกลืนหายไป จนกลายไปเป็นแบบตะวันตกเกือบทั้งสิ้น ไม่มีเครื่องแต่งกายที่เป็นแบบฉบับประจำชาติ ด้วยเหตุนี้ จึงทรงมีพระราชดำริว่าเครื่องแต่งกายสำหรับพระองค์นั้นควรจะมีแบบแผนที่ชัดเจน และที่สำคัญต้องแสดงถึงความเป็นไทยให้นานาประเทศได้รู้จัก และจะได้ใช้โอกาสนี้นำเสนอคุณค่าทางศิลปะที่อยู่ในผ้าและเครื่องประดับของไทยผ่านฉลองพระองค์ชุดไทย ที่ภายหลังเรียกว่า “ชุดไทยพระราชนิยม” โดยประยุกต์จากการแต่งกายของสตรีสมัยโบราณ ได้แก่ ชุดไทยเรือนต้น, ชุดไทยจิตรลดา, ชุดไทยอมรินทร์, ชุดไทยบรมพิมาน,ชุดไทยดุสิต, ชุดไทยจักรี, ชุดไทยศิวาลัย และชุดไทยจักรพรรดิ ทั้งนี้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ถึงการแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ
อีกทั้ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนทั้งในและต่างประเทศ มีผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในการอนุรักษ์ คุ้มครอง และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นฐานการดำรงชีวิตของพสกนิกร คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 ถวายพระราชสมัญญา "พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ" แด่พระนามสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิคุณของรัฐบาลและปวงชนชาวไทย ในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ
ในพระราชกรณียกิจด้านการทหารนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงดำรงตำแหน่งพันเอกผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยต่อการดำเนินงานของกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ตลอดมา โดยผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 จะเข้ามาถวายรายงานถึงผลการปฏิบัติงานพร้อมกับรับพระราชเสาวนีย์ ตลอดจนพระราชทานคำแนะนำไปดำเนินการปฏิบัติอยู่เป็นประจำ ขณะที่ด้านความมั่นคงของประเทศ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมทหารที่ปฎิบัติการสู้รบ ต่อสู้ผู้ก่อการร้ายตามชายแดนถึงฐานปฏิบัติการต่างๆ แม้เป็นที่เสี่ยงภยันตราย ก็ทรงพระอุตสาหะเสด็จฯ ไปทรงดูแลทุกข์สุข ปลอบขวัญถึงฐานปฎิบัติการต่างๆ เป็นขวัญกำลังใจให้ทหารต่อสู้ปกป้องผืนแผ่นดิน นำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่อาณาประชาชน ให้สามารถทำมาหากินได้อย่างสงบสุข
พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงมีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนหลายหลายรูปแบบ อาทิ ทรงพระอุตสาหะสอนหนังสือราษฏรด้วยพระองค์เอง พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนการศึกษาแก่เยาวชนจากครอบครัวที่ยากจน ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียน ทรงรับไว้เป็นนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ ส่วนบิดามารดา พี่น้องของเด็ก ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับการฝึกอบรม พระราชทานความช่วยเหลือ ให้ปรับปรุงการประกอบอาชีพให้เป็นผล หรือให้มีความรู้เป็นอาชีพเสริม เพิ่มพูนรายได้สามารถช่วยตนเอง และครองครัวให้ดำรงชีวิตเป็นสุขตามอัตภาพ โดยใช้วัตถุดิบพื้นบ้านมาทำประโยชน์ เช่น หัตถกรรมจักสานของโครงการหุบกะพง โครงการจักสานย่านลิเพา และทำเครื่องปั่นดินเผาในภาคใต้ ทั้งยังทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สอดแทรกเรื่องความรักชาติ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การรักษาศิลปวัฒธรรมท้องถิ่น และประเทศ การรู้จักรักษาสุขภาพอนามัย การรู้จักพัฒนาตนเอง การเห็นความสำคัญของการศึกษา และการช่วยเหลือร่วมมือกับส่วนรวม พร้อมทั้งให้ทุกคนตระหนักว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวม ต้องบำเพ็ญตนเป็นประโยชน์เพื่อความเจริญพัฒนาของภูมิภาค
ทั้งนี้ พระมหากรุณาธิคุณมิได้แผ่ปกป้องเฉพาะปวงชนชาวไทย หากแต่ยังทรงแผ่ไปถึงประชาชนของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ชาวกัมพูชาอพยพลี้ภัยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแดนไทย แถบจังหวัดตราด จันทบุรี และปราจีนบุรี มีพระราชศรัทธาและพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยากโดยมิได้ทรงเลือกเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์
ด้วยพระราชกรณียกิจอันหลากหลายที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์ ก็เพื่อยังประโยชน์สุขโดยถ้วนทั่วทั้งแผ่นดิน สถาบัน องค์กร มหาวิทยาลัย หน่วยงานต่างๆ จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ โล่เฉลิมพระเกียรติ รางวัล และประกาศเกียรติคุณต่างๆ เป็นจำนวนมาก อาทิ องค์กรค์การเอฟเอโอ ทูลเกล้าฯถวายเหรียญ ซีเรส เทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงยกฐานะของสตรีให้มีระดับสูงขึ้น และทรงเป็นผู้ให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2552, มหาวิทยาลัยทัฟฟ์ แห่งรัฐแมสซาซูเซ็ทท์ สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยธรรม ในฐานะที่ทรงยกระดับฐานะการครองชีพของประชาชน และช่วยบรรเทาทุกข์ของเด็กๆ ในหมู่ผู้ลี้ภัย เมื่อปีพ.ศ.2523
สหพันธ์เด็กแห่งนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลบุคคลดีเด่นด้านพิทักษ์เด็ก เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2524, สถาบันเอเชียโซไซตี้ แห่งกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลด้านมนุษยธรรม เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2528 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2528, ศูนย์ศึกษาการอพยพ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐนิวยอร์ก กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ไปทรงรับรางวัลความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยประจำปี ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2533, องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองโบโรพุทโธ ในฐานะทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอนุรักษ์และพัฒนางานศิลปหัตถกรรม ณ ศาลาธรรม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2535
กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาติ (ยูนิเซฟ) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติคุณพิเศษในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษ 5 รอบ ในฐานะทรงอุทิศพระองค์ประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นผลให้แม่และเด็กนับล้านได้รับบริการขั้นพื้นฐาน เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2535, กองทุนพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลแห่งความเป็นเลิศในฐานะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพัฒนาสตรีไทย เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2535, มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยธรรม เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2538
รวมถึงราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ แห่งอังกฤษ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมาชิกภาพกิตติมศักดิ์ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2513 ซึ่งสถาบันแห่งนี้เคยมอบให้แต่เฉพาะผู้ที่เป็นแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นเป็นที่รู้จักระดับโลกเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยและสถาบันอื่นๆ อีกมากมาย ที่ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญา และรางวัลประกาศกิตติคุณแด่พระองค์
นับได้ว่าเป็นบุญของชาติและพสกนิกรชาวไทย ที่มีสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เพียบพร้อมด้วยคุณลักษณะแห่งรัตนนารีโดยแท้ พระองค์มิได้ทรงเป็นพระบรมราชินีนาถ ที่มีพระสิริโฉมเป็นเลิศเท่านั้น หากแต่ยังทรงพระปรีชาสามารถเชี่ยวชาญในกิจการต่างๆ ซึ่งปรากฏผลเป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชนโดยตลอด ทรงยึดมั่นในพระบวรพระพุทธศาสนา พระคุณธรรม พระปัญญาคุณ และพระเมตตากรุณาคุณ ซึ่งทรงดำรงไว้มั่นคงตลอดมา เป็นปัจจัยส่งเสริมให้พระเกียรติคุณขจายขจรไปทั่วในประเทศและนานาประเทศทั่วโลก
อาจกล่าวได้ว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ของชาติไทย เป็นพระบรมราชินีนาถ ที่ทรงได้รับการสรรเสริญพระเกียรติคุณจากนานาประเทศอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าพระบรมราชินีพระองค์อื่นใดในโลก
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2561 ขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ให้ทรงพระเกษมสำราญ ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยตลอดกาลนานเทอญ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี