ธงฉัพพรรณรังสีผืนใหญ่ที่สุดในโลก
สัญลักษณ์แสดงความเป็นพุทธศาสนาในอดีตนั้นคือ ธรรมจักร ซึ่งมีการค้นพบโบราณวัตถุชิ้นนี้ปรากฏในดินแดนที่นับถือพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับพระพุทธรูปที่มีฉัพพรรณรังสี หรือประภามณฑล อาทิตย์นี้ขอตามหาปฐมภูมิแห่งธงพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุที่วัดของศาสนาพุทธทั้งสายเถรวาทและสายมหายานในประเทศต่างๆ นั้นนิยมแสดง “ธงฉัพพรรณรังสี” ให้เป็นสัญลักษณ์แทนธรรมจักรให้เป็น “ธงพระพุทธศาสนา” ขึ้น แม้ว่าจะมีบางกลุ่มหรือบางสำนักเลือกใช้สีธงให้แตกต่างกันออก ไปก็เพื่อเน้นแนวทางคำสอนแห่งสำนักของตน ดังนั้นธงพระพุทธศาสนาที่ใช้ทั่วไปเป็นสากลนั้นจึงใช้ ธงฉัพพรรณรังสี เป็นธงพระพุทธศาสนาสากล ซึ่ง เริ่มปรากฏการใช้มาตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ หรือปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ธงนี้ออกแบบโดยพุทธสมาคมโคลอมโบ เมื่อพ.ศ. ๒๔๒๓ โดยพันเอกเฮนรี เอส.โอลคอตต์ เป็นผู้แก้ไขให้เป็นแบบที่ใช้ในปัจจุบัน เริ่มใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ที่ประเทศศรีลังกา
ต่อมาองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก(World Fellowship of Buddhists-WFB) นั้นได้ประกาศให้ธงฉัพพรรณรังสีนั้นเป็นธงพุทธศาสนาสากลเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ณ กรุงโคลอมโบประเทศศรีลังกา ธงฉัพพรรณรังสี นั้นกำหนดให้เป็นธงแถบสี โดยนำสีของแสงที่แผ่ออกจากพระวรกายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมี ๖ สี คือ ๑.สีนีละ-สีเขียวเหมือนดอกอัญชัน คือสีน้ำเงินหมายถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แผ่ไพศาลไปทั่วสากลจักรวาล ๒.สีปีตะ-สีเหลืองเหมือนหรดาลทอง หมายถึงทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา ที่หลีกเลี่ยงความสุดโต่งทั้งปวง ๓.สีโรหิตะ-สีแดงเหมือนแสงตะวันอ่อนหมายถึงการอำนวยพรให้ประสบความสำเร็จสมบูรณ์พร้อมด้วยสติปัญญา คุณความดี ความเป็นผู้มีโชคและเกียรติยศทั้งปวง ๔.สีโอทาตะ-สีขาวเงินยวงหมายถึงความบริสุทธิ์แห่งพระธรรมอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งเป็นของที่ไม่จำกัดกาลคือ อกาลิโก และนำกลุ่มชนไปสู่ความหลุดพ้น ๕.สีมัญเชฏฐะ-สีแสดเหมือนหงอนไก่หมายถึงพระปัญญาธิคุณแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า๖.สีประภัสสร-สีเลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก อันเกิดจากการรวมของสีทั้ง ๕ สี หมายถึงความจริงทั้งมวลในพระธรรมคำสอนแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แสงหรือสีที่ปรากฏนี้เรียกรวมว่า วรรณรังสี มี ๖ สี ถือว่า เป็นสีมงคลของพุทธศาสนิกชน ซึ่งนำมาใช้เป็นสีของ ธงฉัพพรรณรังสี ดังกล่าว คำว่า “ฉัพพรรณรังสี”ชื่อของธงนั้น แปลว่า รัศมี ๖ สี มาจากคำสมาสในภาษาบาลี“ฉ” (หก) + “วณฺณ” (สี) + “รํสี” (รังสี, รัศมี) ซึ่งมีที่มาจากสีของรัศมีว่าเป็นแสงที่แผ่ออกจากพระกายของพระพุทธเจ้า
ผู้ออกแบบธงนั้นได้นำสีทั้งหกมาดัดแปลงเป็นผืนธง มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งเป็นแถบเรียงเป็นแนวตั้งความกว้างเท่ากัน ๖ แถบ เรียงลำดับแถบสีจากด้านซ้าย ซึ่งเป็นด้านต้นของธง เรียงสีไปทางขวาดังนี้ แถบแรกสีน้ำเงิน แถบที่สอง สีเหลือง แถบที่สาม สีแดง แถบที่สี่ สีขาว แถบที่ห้า สีแสด ส่วนแถบสุดท้ายนั้นเป็นแถบสีประภัสสร ที่เกิดจากการนำแถบสีทั้งห้าสีแรกมาเรียงลำดับใหม่ในแนวนอน
ส่วนประเทศไทยนั้นมี ธงสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนาที่ใช้โดยทั่วไปคือ ธงธรรมจักรอันหมายถึง ธรรมะที่นำไปสอนในที่ต่างๆ แล้วยังความสันติสุขให้เกิดขึ้นในที่นั้นๆ ลักษณะธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีเหลืองแก่ ตรงกลางเป็นรูปพระธรรมจักรสีแดง โดยนำธรรมจักรซึ่งมีซี่ล้อหรือกำ สิบสองซี่ หมายถึง ปัจจยาการ หรือปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ประการ โดยปกติแล้ว ธงธรรมจักรที่ประดับศาสนสถานนั้นนิยมทำแบบธรรมจักรมีกำ ๘ ซี่ เพื่อให้มีความหมายถึงองค์ของอริยมรรคแต่ละองค์ อันมีองค์แปด อยู่ในวงล้อซึ่งหมายถึง ทุกข์และสมุทัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนเกิดมาแล้วจะต้องประสบ ส่วนดุมที่เป็นศูนย์กลางและสงบนิ่งไม่หมุน นั้นหมายถึง จุดหมายสูงสุด คือ นิโรธหรือนิพพานนั่นเอง ธงธรรมจักรนี้คณะสงฆ์ไทยได้ประกาศใช้ธงธรรมจักรอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑ ทำให้ในวันสำคัญของพระพุทธศาสนามีการประดับธงธรรมจักรร่วมกับธงชาติไทยอยู่เสมอ ซึ่งต่อไปนี้จะมีธงฉัพพรรณรังสี เป็นธงพระพุทธศาสนาสากลเพิ่มมาอีกหนึ่งธง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี