เรามาฟื้นความรู้ด้านประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาสักเล็กน้อยนะครับ กรุงเทพทวารวดีศรีอโยธยา หรือศรีอยุธยาได้รับการสถาปนาเป็นราชธานีไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 1893 โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง) โดยทรงเลือกทำเลทอง ณ หนองโสน หรือบึงพระราม บนเกาะเมืองอยุธยา เนื่องจากเป็นจุดที่แม่น้ำ 3 สายไหลผ่าน แม่น้ำทั้ง 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก และลพบุรี
ยุคสมัยของกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยาสิ้นสุดลงเมื่อ พ.ศ. 2310 เนื่องจากเสียอิสรภาพให้พม่า รวมเวลาที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทยคือ 417 ปี มีพระมหากษัตริย์ 34 พระองค์ จากพระราชวงศ์ต่างๆ รวม 5 พระราชวงศ์ทรงปกครองราชอาณาจักร (คืออู่ทอง สุพรรณภูมิ สุโขทัย ปราสาททอง และบ้านพูลตาหลวง)
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง)
ขอเล่าเรื่องประวัติศาสตร์อยุธยาเพียงสังเขปเท่านี้พอ แต่ต่อไปนี้จะชวนคุณไปเที่ยวเขตพระบรมมหาราชวังเก่าเมื่อครั้งกรุงศรีฯ เป็นราชธานี ซึ่งภายหลังเขตพระราชฐานชั้นในนี้ได้ถูกอุทิศถวายแด่พระบวรพุทธศาสนาโดยถวายเป็นเขตพุทธาวาส สร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่ทางทิศเหนือของพระอารามหลวงนี้พระอารามหลวงจึงถือเป็นต้นแบบของพระอารามหลวงประจำพระบรมมหาราชวังสืบต่อมา โดยในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ได้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นพระอารามหลวงประจำพระบรมมหาราชวังซึ่งใช้เพื่อประกอบพระราชพิธีสำคัญต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์
แม้ปัจจุบันภายในวัดพระศรีสรรเพชญ์จะไม่หลงเหลือพระอุโบสถ พระวิหาร หรือศาลาต่างที่มีความสมบูรณ์ไว้ก็ตาม แต่สถานที่สำคัญแห่งนี้ก็ยังมีความน่าสนใจให้คุณได้ค้นหาอย่างไม่รู้จบ แล้วถ้ายิ่งคุณได้ไป ณ สถานที่แห่งนี้ในช่วงเช้าตรู่ หรือช่วงใกล้พลบค่ำ คุณจะหลงใหลในความอลังการที่หลงเหลืออยู่
ปัจจุบันมีสิ่งปลูกสร้างสำคัญยังปรากฏให้เห็นชัดเจน คือพระเจดีย์ทรงลังกา 3 องค์ ที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว เมื่อครั้งยุครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พระเจดีย์ทั้งสามองค์ถูกระบุว่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระมหากษัตย์ โดยองค์แรกคือเจดีย์ทิศตะวันออก สร้าง พ.ศ. 2035 ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เพื่อประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พระราชบิดา) ครั้นต่อมา พ.ศ. 2042 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงให้สร้างพระเจดีย์องค์กลางเพื่อประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระบรมเชษฐาธิราช) พระเจดีย์องค์ที่สาม ที่อยู่ทางทิศตะวันตก คือที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (สมเด็จพระบรมหน่อพุทธางกูร) พระราชโอรสทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง และทางทิศตะวันออกขององค์เจดีย์แต่ละองค์มีมณฑป สันนิษฐานว่าใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำพระองค์ ภายในมณฑปของเจดีย์องค์แรกพบว่ามีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ด้วย ด้านหลังเจดีย์ประธานมีมณฑปจัตุรมุข สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ราวรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสี่อิริยาบถ คือ นั่ง นอน ยืน และเดิน ปัจจุบันเหลือเฉพาะพระพุทธรูปนั่งอยู่ในมุขตะวันออก ส่วนกลางมณฑปเป็นที่ตั้งของสถูปข้าง ๆ สถูปทั้ง 4 ด้านเจาะช่องไว้หลายช่อง สันนิษฐานว่าเป็นเพื่อบรรจุพระอัฐของเจ้านายชั้นสูง
สิ่งสำคัญอีกประการคือ ตามประวัติศาสตร์ระบุว่า ใน พ.ศ. 2043 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารหลวงแล้วทรงหล่อพระพุทธรูปยืน สูง 8 วา (ประมาณ16 เมตร) องค์พระพุทธรูปหุ้มด้วยทองคำหนัก286 ชั่ง (ประมาณ 171 กิโลกรัม) ประดิษฐานไว้ในพระวิหารหลวง ถวายพระนามว่า พระศรีสรรเพชญดาญาณ หลังจากเสียกรุงศรีฯ แล้ว ข้าศึกได้สุมไฟเพื่อลอกเอาทองออกจากองค์พระจนเหลือเพียงแกนชั้นในขององค์พระที่ทำจากสำริด เมื่อครั้งสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นพระมหาราชธานีของกรุงเทพฯ แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระศรีสรรเพชญดาญาณไปประดิษฐานไว้ ณ พระเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ
และที่ติดกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ด้านทิศใต้คือวิหารวัดมงคลบพิตร (วันหน้าจะพาคุณไปกราบหลวงพ่อโต ในพระวิหารวัดมงคลบพิตร)
เท่าที่ Mr. Flower เล่าให้คุณฟังคร่าวๆ ถึงวัดพระศรีสรรเพชญ์ แล้วเชื่อว่าคุณที่รักและหลงใหลในเรื่องประวัติศาสตร์ โบราณคดี คงอยากจะไปชมวัดพระศรีสรรเพชญ์ ในเขตเมืองเก่าอยุธยาด้วยกัน สำหรับคุณๆ ที่สนใจต้องการร่วมทริปเล็กๆ (8-10 คน) เที่ยวละมุนละไมแบบเจาะลึก ไม่รีบไม่ร้อนรน กับ Mr. Flower โปรดติดต่อ 091-7233615
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี