ลูกผู้ชายต้องกล้าต่อสู้กับความไม่ดี ไม่ถูกต้อง ต้องดูแลคุ้มครองผู้อ่อนแอกว่า คำว่าลูกผู้ชายมีความหมายลึกซึ้งกว่าสุภาพบุรุษ
โรงเรียนมหาดเล็กหลวงของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งต่อมาในรัชสมัยของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 7(พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระราชทานนามโรงเรียนว่าวชิราวุธวิทยาลัย เพื่อถวายเป็นพระราชอนุสรณ์แด่สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้ารัชกาลที่ 6
จากเมื่อ 108 ปีก่อนจนถึงวันนี้โรงเรียนลูกผู้ชายแห่งนี้มีเรื่องราวแห่งความประทับใจตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้ที่ผ่านการศึกษาจากโรงเรียนชายล้วนแห่งนี้มากมายจนเกินบรรยาย
แนวหน้าวาไรตี้ โดย ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย พาคุณไปสนทนากับผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ผศ.สุรวุธ กิจกุศล และ ไกร สาตรักษ์ นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 5 ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยเปิดประเด็นว่า โรงเรียนแห่งนี้เป็นแหล่งบ่มเพาะลูกผู้ชาย สร้างเกียรติประวัติให้สังคมไทยมากมาย ลูกผู้ชายคือผู้กล้า กล้าต่อสู้กับสิ่งไม่ถูกต้องกล้ายืนหยัดในเรื่องที่ดีงาม เป็นผู้เสียสละ เพื่อปกป้องผู้ที่อ่อนแอกว่า นี่คือสิ่งที่ลูกวชิราวุธฯ ทุกคนยึดมั่นสืบต่อกันมา คำว่าลูกผู้ชายมีความหมายมากกว่าสุภาพบุรุษ เพราะลูกผู้ชายต้องปกป้องดูแลคนที่อ่อนแอกว่า ถ้าเห็นใครถูกรังแก เราต้องกล้าปกป้องเขา ต้องกล้าทำสิ่งถูกต้อง เราอยากเห็นลูกวชิราวุธฯ เป็นลูกผู้ชายควบคู่ไปกับความเป็นสุภาพบุรุษ ซึ่งนั่นหมายถึงคนที่สมบูรณ์
ล่าสุดเราได้รับเหรียญที่ระลึกโนเบลจาก คุณเดวิด มัตสึโมโต ประธานของ Nobel Charity Trust Foundationองค์กรที่ทำหน้าที่หาทุนให้โนเบลโดยเมื่อสองปีก่อนคุณเดวิดได้พูดคุยกับนักเรียนวชิราวุธฯ กลุ่มหนึ่ง โดยผ่านการแนะนำจากศิษย์เก่าวชิราวุธฯ คือทันตแพทย์ วัชรินทร์ มรรคดวงแก้ว เขาประทับใจในความคิดสร้างสรรค์เพื่อสังคมของเด็กวชิราวุธฯ มาก ดังนั้นเมื่อกลับมาครั้งนี้เขาจึงมอบเหรียญที่ระลึกโนเบล 3 เหรียญคือเหรียญอัลเฟร็ด โนเบล, เหรียญพระเจ้าปีเตอร์มหาราช และเหรียญมิคาอิลโมโนซอฟ นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียให้วชิราวุธวิทยาลัย เพราะเชื่อว่าเหรียญทั้งสามจะช่วยจุดประกายให้ชาววชิราวุธฯมีไฟก้าวเดินไปสู่รางวัลโนเบลในอนาคต
สำหรับสิ่งที่ชาววชิราวุธฯ ทำแล้วคือโครงการส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิด สร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมให้สังคม เนื่องจากเรามีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงหลายด้านเราจึงเชิญศิษย์เก่าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในกิจการต่างๆ กลับมาเป็นผู้จุดประกายความคิดให้นักเรียน และเป็นโค้ชให้ด้วยเพื่อให้โครงการเกิดเป็นผลสำเร็จ แน่นอนว่าโครงการของเด็กต้องเริ่มจากความคิดสร้างสรรค์ และความฝันเป็นอันดับแรก แม้ความฝันของเด็กอาจยังฟุ้งๆ ไม่เป็นรูปร่างชัดเจน เราจึงต้องมีโค้ช เพื่อช่วยทำให้ความฝันกลายเป็นความจริง เช่นตอนนี้เรามีโครงการถนนที่ระบายน้ำใต้ดินได้รวดเร็ว รวมถึงการสืบสานโครงการตามแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9เมื่อโครงการดำเนินไปเป็นรูปเป็นร่างแล้ว เราก็นำเสนองานให้กับผู้ที่สามารถนำไปทำให้เกิดเป็นงานจริงๆ ขึ้นมา ในเบื้องต้นก็ขอแรงและขอความร่วมมือจากรุ่นพี่ เช่น คุณบรรยงค์ พงษ์พานิช คุณวิเชษฐ์ตันติวาณิช เป็นต้น
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมในฐานะผู้บังคับการพยายามปลูกฝังให้กับลูกวชิราวุธฯ คือ คืนกำไรให้สังคม เมื่อเขามีความมั่นคง มั่งคั่งในชีวิต เขาต้องคืนกำไรให้สังคม ซึ่งช่วยจรรโลงสังคมโลกของเราให้น่าอยู่ ผมปลูกฝังแนวคิด Social Enterprise เพราะเมื่อทุกคนมีรายได้ ต้องไม่ลืมสังคม ทั้งสังคมไทยและสังคมโลกแนวคิดนี้ คุณเดวิดก็ยึดมั่นเช่นกัน ดังนั้นการมอบเหรียญที่ระลึกโนเบลให้วชิราวุธฯ ครั้งนี้คือการตอกย้ำแนวคิดคืนกำไรให้สังคมกับนักเรียนของเรา นอกจากนั้น เราเน้นให้เด็กสัมผัสกับโลกความเป็นจริงเช่น การพานักเรียนไปสัมผัสชีวิตจริงที่เนปาล เพราะที่นั่นเป็นพื้นที่มีปัญหาความยากจนมากแห่งหนึ่งของโลก เราต้องการให้นักเรียนมีประสบการณ์ตรงว่าคนยากจนต้องเผชิญกับอะไร เรื่องนี้สอนในห้องเรียนไม่ได้ ต้องให้เขาสัมผัสโดยตรง เมื่อนักเรียนสัมผัสแล้ว ทุกคนบอกว่าต้องหาทางช่วยคนยากจนให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น นอกจากนั้น เรายังพานักเรียนไปอยู่กับชาวเขาในเขตทุรกันดารในเมืองไทย ไปอยู่ในที่ไม่มีน้ำประปา ไม่มีไฟฟ้า ต้องเดินหลายกิโลเมตรเพื่อไปนำน้ำจากแหล่งน้ำเข้าไปใช้ในบ้าน ต้องอยู่กับความไม่สะดวกสบาย ประสบการณ์เช่นนี้ช่วยให้นักเรียนเข้าใจความทุกข์ยากของคนยากจนได้ดี และเชื่อว่าเขาจะช่วยเหลือคนยากจนอย่างแน่นอนเมื่อเขามีโอกาส นี่คือการสอนให้เขารู้จักเห็นอกเห็นใจผู้ด้อยโอกาส ซึ่งในรัชสมัยปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีโครงการจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ เน้นการทำความดีด้วยหัวใจ ไม่หวังสิ่งใดตอบแทน นี่คือการปลูกฝังว่าเมื่อทำความดีแล้วไม่ต้องหวังสิ่งใดตอบแทน ขอเพียงแค่ได้ทำดีเท่านั้น เมื่อทำความดีแล้วความดีจะเกิดกับสังคมและเกิดกับตัวเราในที่สุด
แนวคิดสำคัญเรื่องความดีและการเป็นคนดีมาจากพระบรมราโชวาทของในหลวง รัชกาลที่ 6 พระผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนแห่งนี้ และพระราโชบายนี้ก็สืบเนื่องต่อมาจนถึงยุคปัจจุบัน ดังนั้นเราจึงเชื่อมั่นว่าความดีต้องมาก่อนความเก่ง ถ้าเรามีคนเก่งแต่ไม่ดี นั่นคือ ภัยร้ายแรงของสังคมโลกแต่ถ้าเรามีคนดีเป็นตัวนำ ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะดีตามไปด้วย ทุกอย่างจะราบรื่น ดังนั้นวชิราวุธฯ จึงเน้นเรื่องความดี แต่ที่เราไม่ทิ้งก็คือการเรียนรู้ และการเป็นผู้ใฝ่รู้ เราสอนให้นักเรียนรักการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการดนตรี กีฬา และการโอบอ้อมอารีต่อผู้อื่นและสัตว์ที่เป็นเพื่อนร่วมโลก ผมย้ำเสมอๆ ว่านอกจากความเป็นสุภาพบุรุษแล้ว เราต้องการให้ลูกวชิราวุธฯ เป็นลูกผู้ชาย
ลูกวชิราวุธฯ ทุกคนเป็นสุภาพบุรุษเล่นกีฬาเก่ง เล่นดนตรีเก่ง เข้าสังคมได้ดี แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเราถูกปลูกฝังว่าการเรียนหนังสือเก่งอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด แต่การเป็นคนดีนั้นสำคัญที่สุด นี่คือสิ่งที่เราทุกคนถูกปลูกฝังจากโรงเรียนแห่งนี้ ถึงแม้กาลเวลาจะผ่านไปถึง 108 ปี แต่สิ่งนี้ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญของวชิราวุธวิทยาลัยเสมอมา ลูกวชิราวุธฯ จึงมีความเป็นลูกผู้ชายควบคู่ไปกับความเป็นสุภาพบุรุษ
ไกร สาตรักษ์ นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ชั้นมัธยมปีที่ 5
ไกรบอกว่า ตั้งความหวังว่าจะเรียนแพทย์ต่อหลังจากจบจากวชิราวุธฯ เขาฟื้นความหลังให้ฟังว่า ผมมาอยู่ที่วชิราวุธฯ ตั้งแต่เรียนประถม 4 ตอนนั้นอายุ 9 ขวบ ไม่ได้คิดอะไรมาก คุณพ่อคุณแม่บอกว่าไปเรียนโรงเรียนนี้ ผมก็มแรกๆ ก็ร้องไห้ทุกวันเพราะคิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อแม่ เพราะเคยเจอพ่อแม่ทุกวัน แต่มาอยู่นี่ก็ไม่ได้เจอ ผมไม่เข้าใจหรอกว่าอะไรคือโรงเรียนประจำ กว่าจะปรับตัวได้ก็ใช้เวลาเป็นเดือนๆ ช่วงแรกๆ ก็สับสนโดยเฉพาะการที่ต้องช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวัน ซึ่งต่างไปจากการอยู่บ้านที่มีคนทำให้ทุกอย่าง เมื่อเรามาอยู่โรงเรียนประจำ อยู่กับคนหมู่มาก เราก็ต้องปรับตัวไปเรื่อยๆ แม้จะยากก็สามารถปรับตัวได้ในที่สุด
วชิราวุธฯ สองส่วนคือคณะเด็กโต (มัธยม) และเด็กเล็ก (ประถม) คณะเด็กโตแบ่งเป็น 6 คณะ คือผู้บังคับการ ดุสิต จิตรลดา พญาไท จงรักภักดี และศักดิ์ศรีมงคล คณะเด็กเล็ก แบ่งเป็น 3 คณะ คือสนามจันทร์ นันทอุทยาน และสราญรมย์ มีนักเรียนประมาณ 800-900 คน
ชีวิตนักเรียนวชิราวุธฯ ตื่นประมาณ6 โมง ตื่นแล้วก็จัดเตียงให้ตึง แล้วไปอาบน้ำ พอเวลา 7 โมง 15 นาทีก็รับประทานอาหารเช้า เวลา 8 โมงขึ้นหอประชุมเพื่อสวดมนต์ แล้วฟังโอวาท เราเริ่มเรียนเวลา 8 โมงครึ่ง จนถึงบ่ายโมง 15 นาที ทานข้าวเที่ยง ช่วงเวลาบ่ายสองถึงบ่ายสามโมงเป็นช่วงเรียนดนตรี ใครสนใจดนตรีประเภทไหนเลือกตามใจชอบ ส่วนผมชอบเปียโนก็เลือกเปียโน พอถึงช่วงบ่ายสามถึงห้าโมงเป็นช่วงเล่นกีฬา ทุกคนแยกแยะไปตามชนิดกีฬาที่ถนัด เมื่อถึงเวลาหกโมงถึงหนึ่งทุ่ม เป็นเวลาทานข้าว ทานเสร็จก็เป็นช่วงทบทวนบทเรียน ทำการบ้านถึงเวลา 3 ทุ่ม แล้วสามทุ่มครึ่งก็เป็นเวลาสวดมนต์ใช้เวลาประมาณ 15 นาที แล้วก็ปล่อยให้เข้านอน
ตอบคำถามที่ มีเวลาเป็นอิสระส่วนตัวบางไหม ตอบว่ามีครับ ขึ้นกับเราจัดสรรเวลาให้ลงตัวมากที่สุดอย่างไร สำหรับตัวผมมีเวลาช่วงเช้าเพื่อทบทวนบทเรียน ผมมักจะตื่นตี 5 หรือ ตี 5 ครึ่ง ส่วนคำถามที่ว่าโรงเรียนประจำมีอะไรดีและน่าสนใจ ก็ตอบว่า โรงเรียนประจำช่วยให้เราไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง เราพักในโรงเรียน เรามีเวลาอ่านหนังสือเล่นดนตรี เล่นกีฬา มากกว่านักเรียนที่ต้องเดินทางไปกลับระหว่างโรงเรียนกับบ้าน ยิ่งถ้าบ้านไกลจากโรงเรียนมากๆก็ต้องใช้เวลาเดินทางมาก โดยส่วนตัวผมเห็นว่าโรงเรียนประจำและไปกลับมีข้อดีและข้อด้อยผสมกัน ไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรดีหรือแย่กว่ากัน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมได้จากโรงเรียนประจำคือการต้องอยู่กับคนหมู่มากตลอดเวลา ซึ่งทำให้เราต้องเรียนรู้และต้องปรับตัว
ผมเชื่อว่า เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งของชีวิต เราทุกคนต้องอยู่กับตัวเอง เพราะว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้อยู่กับเราจนถึงวินาทีสุดท้ายของเรา การที่เราอยู่โรงเรียนประจำจึงเหมือนเป็นบททดสอบบทหนึ่งของชีวิต เมื่อเราได้ทดสอบ เราจึงได้เรียนรู้ และได้ทักษะในการฝึกเข้ากับสังคม ฝึกอยู่กับคนหมู่มาก เราได้ฝึกมีชีวิตอยู่กับคนอื่นๆ ตลอด 24 ชั่วโมง
คุณสามารถพบกับรายการดีที่ครบครันด้วยสาระและความบันเทิงในรายการแนวหน้าวาไรตี้ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา16.00-16.25 น. ทางโทรทัศน์ TNN2 ช่อง784 ดิจิทัลทีวี หรือ True Visions 8 และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ผู้หญิงแนวหน้าBy คุณแหน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี