“เพราะเราเชื่อว่าเด็กทุกคนต้องการเรียนรู้ และสามารถเรียนรู้ได้อย่างลุ่มลึก การที่เด็กจะเติบโตไปสู่ยุคที่ข้อมูล ข่าวสาร เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง เด็กควรจะมีเครื่องมือที่ติดตัวไปเพื่อความก้าวหน้าของตนในอนาคต เครื่องมือนั้นก็คือทักษะการคิด โดยเฉพาะการคิดแบบวิเคราะห์มีวิจารณญาณที่ดี และการคิดสร้างสรรค์จะช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จในทุกยุคทุกสมัย”คำบอกเล่าของ คุณครูไก่-วิวรรณ สารกิจปรีชาที่เล่าให้ฟังถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนแบบ Project Approach ที่โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ยึดถือเป็นแนวทางในการบ่มเพาะลูกเจี๊ยบน้อยมากว่า 40 ปี
การเรียนรู้แบบ Project Approach เด็กๆ จะเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องที่เจาะจงตามความสนใจของเด็กๆ วันนี้ไปสืบค้นกับน้องๆชั้นอนุบาล 2/3 ที่เลือกเรียนเรื่องเครื่องบิน “การเลือกหัวข้อของการเรียนรู้ จะให้อิสระเด็กๆ ในการเลือกเรียนเองโดยมีคุณครูเป็นผู้ให้คำแนะนำ ได้เรียนรู้ในการแสดงความคิดเห็นและครูช่วยให้เด็กบันทึกความคิดของตนด้วยวิธีต่างๆ เช่น วาด ปั้น จำลอง ฯลฯ เป็นต้น” ครูไก่กล่าวเสริม เรายังสามารถเห็นผลงานของเด็กๆ ที่บันทึกถึงความรู้เดิมเกี่ยวกับเครื่องบินในรูปแบบต่างๆ ได้จากผลงานที่นำมาจัดแสดงในห้องนิทรรศการอีกด้วย
“วิลอยากรู้ว่า ที่นั่งคนขับเครื่องบินและอุปกรณ์ของนักบินเป็นอย่างไร ทำไมต้องมีแอร์โฮสเตส” เด็กชายธนัช สุทธิบุตร เล่าให้ฟังเมื่อมีคำถามที่อยากรู้ ต้องมีการค้นคว้าหาคำตอบ เด็กๆ ต่างนำเสนอที่จะหาคำตอบด้วยวิธีหลากหลาย สืบค้นจากพจนานุกรม สารานุกรม internet google search ดูใน youtubeจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ หรือวางแผนที่จะไปเห็นเครื่องบินของจริง การเรียนรู้ในขั้นนี้เป็นระยะที่ 2 ของการเรียนรู้แบบ Project Approachนั่นคือการรวบรวมข้อมูล เพื่อให้เด็กๆ ได้รู้ความหมายของเครื่องบิน คุณครูได้นำเอาพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2554 มาให้เด็กๆ ได้เปิดหาความหมาย น้องๆ ลูกเจี๊ยบน้อยก็สามารถเปิดหาความหมายของเครื่องบินกันได้เอง พร้อมกับสรุปให้ฟังได้ว่า “เครื่องบินคืออากาศยาน หนักกว่าอากาศ ลอยตัวอยู่บนฟ้า ขับเคลื่อนโดยใช้เครื่องยนต์ มีแรงพยุงทำให้เครื่องบินไม่ตก” น้องจิฎา-เด็กหญิงจิณณ์จิฎา หอมกลิ่นแก้ว กล่าวอย่างฉะฉาน
การได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญนับเป็นอีกวิธีหนึ่งและอนุบาลกุ๊กไก่เปิดกว้างให้ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ เข้ามาแบ่งปัน ครั้งนี้ เด็กๆ ได้พบกับกัปตันนักบินตัวจริง 2 คน ได้แก่ กฤศ์นัฐ เต็มสิริศักดิ์ และ นันทพล ขินทอง ที่มาเล่าถึงส่วนต่างๆ ของเครื่องบินและแต่ละชิ้นส่วนมีหน้าที่อย่างไร น้องจิณณ์-เด็กชายจิณณ์ ยศสุนทร สรุปให้ฟังว่า “เครื่องบินมี 3 ส่วนมีห้องคนขับอยู่ข้างหน้า มีปุ่มขับเครื่องบินมีคันบังคับ มีห้องผู้โดยสาร ด้านล่างมีที่เก็บกระเป๋า เครื่องบินใช้น้ำมันให้เคลื่อนที่ได้ไม่เหมือนน้ำมันของรถยนต์ เครื่องบินมีปีก 2 ข้างตรงกลาง ข้างหลังก็มีปีก 2 ข้าง มีหางด้วยมีกล่องดำในเครื่องบิน กล่องดำมีสีแดงกับสีส้ม เอาไว้ดูตอนเครื่องบินตก”
เพื่อการเรียนรู้เพิ่มเติม เด็กๆ วางแผนไปสำรวจเครื่องบินทหาร โดยไปทัศนศึกษาที่ “พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ” เด็กๆ ต่างนำเอาสิ่งที่ได้พบเจอมาเล่าสู่กันฟัง “วิลได้เห็นเฮลิคอปเตอร์ของจริงลำใหญ่ เห็นมีใบพัดข้างบนมี 2 ใบพัด แล้วใบพัดมันยาวมาก หางก็ยาวและแหลม ข้างในมีที่นั่งคนขับเฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินด้านหลังมีหางไว้บังคับเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา มีปีกด้านข้าง 2 ข้าง มีลำตัว มีห้องของคนขับเครื่องบิน ตรงกลางเป็นห้องโดยสาร มีห้องเก็บของมีล้ออยู่ตรงด้านล่าง มีไอพ่นคือเครื่องยนต์มีเครื่องบินโดยสารกับเครื่องบินรบ” เด็กชายธนัชสุทธิบุตร เล่าให้ฟังอย่างคล่องแคล่ว นอกจากนี้เด็กๆ ได้ไปทัศนศึกษาที่ห้อง Mock-up Room โรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เพื่อเรียนรู้ขั้นตอนการขึ้นเครื่องบิน ซึ่งเด็กๆ ได้เล่นบทบาทสมมุติเป็นผู้โดยสารไปขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางไปประเทศสิงคโปร์ เด็กๆ สำรวจว่าหนังสือเดินทาง passport ของตนเองเป็นอย่างไร มีการนำหนังสือเดินทางไปเช็คอินเพื่อรับตั๋วโดยสาร และได้ไปรอนั่งขึ้นเครื่องบิน ได้สังเกตว่าตั๋วโดยสารมีรูปร่างลักษณะอย่างไร มีตัวเลข ตัวอักษรอะไรบ้าง เมื่อขึ้นเครื่องบินและนั่งในเก้าอี้ของตัวเองแล้ว เด็กๆ ได้ชมการสาธิตวิธีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในเครื่องบิน เช่น เข็มขัดนิรภัย หน้ากากออกซิเจน เสื้อชูชีพ เป็นต้น และเด็กๆ ยังได้มีโอกาสไปทัศนศึกษาที่ Flight Experience Flight Simulator ศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย เพื่อเรียนรู้ถึงการทำงานของนักบิน อุปกรณ์และปุ่มต่างๆ ที่นักบินใช้ เช่น คันบังคับ แลนดิ้งเกียร์ จอแสดงแผนที่ จอแสดงน้ำมัน ปุ่ม Power ปุ่ม Auto Pilot เป็นต้น “ปราชญ์เห็นปุ่มในห้องนักบิน มีปุ่มด้านบน ด้านล่าง มีปุ่มเยอะมาก นักบินต้องรู้ว่าเป็นปุ่มอะไรจะได้ขับเครื่องบินไปได้ แล้วนักบินบังคับเครื่องบินก็ต้องจับคันบังคับแล้วดูแผนที่ที่จอข้างหน้า” น้องปราชญ์-เด็กชายปราชญ์ รัตตกุล เล่าให้เราฟังด้วยดวงตาเป็นประกาย
สัปดาห์สุดท้าย เข้าสู่ระยะที่ 3 ของการเรียนรู้ คือการสรุปผล เด็กๆ ได้อภิปรายกันถึงหลักฐานที่เด็กๆ ได้สืบและค้นพบที่ช่วยให้เด็กๆ ตอบคำถามที่ได้ตั้งไว้เมื่อตอนต้น เมื่อความรู้ทุกอย่างตกผลึก ถึงเวลาที่เด็กๆ ต้องช่วยกันเนรมิตห้องเรียนให้เป็นห้องนิทรรศการเพื่อแสดงผลงานการเรียนรู้ต่างๆ ให้เหล่าผู้ปกครองได้เข้ามาชม ต่างช่วยกันจำลอง Runwayเพื่อแสดงให้เห็นถึงการขึ้นลงของเครื่องบิน รวมไปถึงจำลองเครื่องบินที่มีห้องโดยสารและห้องนักบิน โดยใช้สิ่งของที่มีอยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นกล่องกระดาษที่นำมาทำเป็นตัวเครื่องบินเก้าอี้เรียนที่นำมาทำเป็นเก้าอี้บนเครื่องนำริบบิ้นมาจำลองเป็นเข็มขัดนิรภัย ความช่างคิดของเด็กๆ น่ารักจนผู้ใหญ่อย่างเราๆ ต้องยกนิ้วให้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี