พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงพระชฎากลีบหรือพระชฎาห้ายอด (เป็นพระชฎาที่โปรดให้สร้างขึ้นใหม่ ภายหลังเรียกว่า พระชฎามหากฐิน)ประทับพระที่นั่่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช วันที่ ๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๕๔
หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๒๕ แล้ว ในปี พ.ศ.๒๓๒๖ โปรดให้ข้าราชการผู้รู้ครั้งกรุงเก่า (อยุธยา) มีเจ้าพระยาเพชรพิชัยเป็นประธาน ประชุมปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะผู้ใหญ่ ทำการสอบสวนร่วมกันตรวจสอบตำราว่าด้วยการราชาภิเษกในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงวัดประดู่แล้วแต่งเรียบเรียงขึ้นไว้เป็นตำรา
เรียกว่า “ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยาสำหรับหอหลวง” เป็นตำราเกี่ยวกับการราชาภิเษกที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบหลักฐานในประเทศไทย เมื่อได้แบบแผนการราชาภิเษกที่สมบูรณ์แล้ว อีกทั้งพระราชมณเฑียรสถานที่สร้างขึ้นใหม่แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๓๒๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้สมบูรณ์ตามแบบแผนอันได้เคยมีมาแต่เก่าก่อนอีกครั้งหนึ่ง และแบบแผนการราชาภิเษกดังกล่าวได้รับการยึดถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างสืบมาเพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ มาจนถึง ณ ปัจจุบัน ดังนี้
“รัชกาลที่ ๑” พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒ ครั้ง “ครั้งแรก” พ.ศ.๒๓๒๕ ได้ประดิษฐานพระบรมราชจักรีวงศ์และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขป “ครั้งที่ ๒” พ.ศ.๒๓๒๘ เมื่อพระราชมณเฑียรสถานที่สร้างขึ้นใหม่แล้วเสร็จ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่งให้สมบูรณ์ตามแบบแผนอันเคยมีมาแต่เก่าก่อน
“รัชกาลที่ ๒” พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ.๒๓๕๒“รัชกาลที่ ๓” พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๖๗ “รัชกาลที่ ๔”พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๙๔
“รัชกาลที่ ๕” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒ ครั้ง “ครั้งแรก” เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑ เมื่อทรงขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ขณะมีพระชนมพรรษาเพียง ๑๕ พรรษา ในระยะเวลา ๕ ปีแรกของรัชกาล สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน “ครั้งที่ ๒” เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๖ เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๒๐ พรรษา ทรงบรรลุพระราชนิติภาวะแล้ว
“รัชกาลที่ ๖” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒ ครั้ง “ครั้งแรก” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงไว้ทุกข์งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้งดการเสด็จฯเลียบพระนครและการรื่นเริง “ครั้งที่ ๒” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๔ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง และให้นานาประเทศที่มีสัมพันธ์ทางพระราชไมตรีมาร่วมในงานพระราชพิธี
“รัชกาลที่ ๗” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘
“รัชกาลที่ ๘” พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จสวรรคตก่อนประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
“รัชกาลที่ ๙” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓
หมายเหตุ : ข้อมูลจากหนังสือ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” และ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี