พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9)กำหนดจัดขึ้นระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคมพ.ศ.2493 โดยก่อนการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีพิธีทำน้ำอภิเษก ระหว่างวันที่18-19 มีนาคม จารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพ และพระราชลัญจกรประจำรัชกาล วันที่ 21 เมษายน และการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ 4-8 พฤษภาคม มี 6 ขั้นตอน ดังนี้
1.พิธีทำน้ำอภิเษก ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต้องเตรียมการทำน้ำอภิเษกซึ่งกำหนดขึ้นก่อนพระราชพิธี โดยทำพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ตามโบราณราชประเพณีทั่วราชอาณาจักร และตั้งพิธีเสกน้ำ ณ มหาเจดียสถานและพระอารามสำคัญในส่วนภูมิภาค 18 แห่ง ระหว่างวันที่ 18-19 มีนาคม พ.ศ.2493แล้วจึงเชิญมาตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนกว่าจะถึงวันพระราชพิธี จึงทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์
2.การจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพ และพระราชลัญจกร การจารึกพระนามใหม่ของพระเจ้าแผ่นดินลงในแผ่นทอง พร้อมกับดวงพระบรมราชสมภพ และแกะงาช้างเป็นพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ประกอบพิธี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2493 โดยมีโหรหลวงเป็นผู้กำหนดพระฤกษ์พิธี อาลักษณ์จารึกพระสุพรรณบัฏพระปรมาภิไธย และโหรหลวงจารึกดวงพระบรมราชสมภพ นายช่างแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาลไปพร้อมกัน
ในระหว่างนั้นพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์เป่าสังข์ เจ้าพนักงานประโคมแตร สังข์ และพิณพาทย์ตลอดจนเสร็จการจารึก เจ้าพนักงานจะนำพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพ และพระราชลัญจกรมาประดิษฐานบนธรรมาสน์ศิลา ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
3.ถวายราชสักการะสมเด็จพระบรมราชบุพการี วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2493 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังหอพระธาตุมณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง เพื่อถวายสักการะพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ต้นพระบรมราชจักรีวงศ์) พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1-3 และพระอัฐิสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี สมเด็จพระศรีสุลาลัย
4.การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบด้วย “การเชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพ และพระราชลัญจกร” ในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2493 มีพิธีแห่เชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพ และพระราชลัญจกรประจำรัชกาล จากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ขึ้นพระราชยานกงนำไปประดิษฐาน ณ พระแท่นมณฑลในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
“พระภิกษุทรงสมณศักดิ์ประกาศการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเทียนชนวนพระราชทานเพื่อนำไปจุดเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ทรงจุดเทียนพระมหามงคล เทียนเท่าพระองค์ และธูปเทียนเครื่องนมัสการ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เพื่อทรงนมัสการพระศรีรัตนตรัย
เมื่อถึงเวลามหามงคลฤกษ์ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ประกาศการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ระหว่างนั้นพราหมณ์ถวายน้ำพระมหาสังข์และใบสมิต (ใบไม้สำหรับปัดสิ่งอัปมงคล ประกอบด้วยใบมะม่วง 25 ใบ ใบทอง 32 ใบ ใบตะขบ 96 ใบ โดยนำใบไม้แต่ละชนิดมัดรวมเป็นช่อ แล้วหุ้มโคนด้วยผ้าขาว) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดเทียนชนวนพระราชทานมหาดเล็ก พร้อมดอกไม้ ธูปเงิน เทียนทอง ไปจุดบูชาพระมหาเศวตฉัตร 5 แห่ง ปูชนียสถานและสิ่งสำคัญ 13 แห่ง
5.บรมราชาภิเษก วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ประกอบด้วย “พิธีสรงพระมุรธาภิเษก” สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระภูษาเศวตพัสตร์ ทรงสะพักขาวขลิบทอง ประทับเหนืออุทุมพรราชอาสน์(ตั่งไม้มะเดื่อ) ภายในมณฑปพระกระยาสนาน เพื่อทรงรับน้ำสรงจากสหัสธารา เวลาพระฤกษ์ พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ก๊าด วัชโรทัย) ไขสหัสธารา จากนั้นสมเด็จพระสังฆราช ถวายน้ำพระพุทธมนต์ด้วยครอบพระกริ่งที่ประปฤษฎางค์ (หลัง) และครอบยันตรนพคุณที่พระหัตถ์
พระบรมวงศ์ทูลเกล้าฯ ถวายพระเต้านพเคราะห์ให้ทรงรับไปสรงที่พระอังสาซ้าย ขวา พระราชครูพราหมณ์ถวายน้ำพระมหาสังข์ น้ำเทพมนตร์ และถวายใบมะตูมทรงทัด และใบกระถินทรงถือ พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรถวายพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏตามขัตติยราชประเพณี ขณะทรงสรงพระมุรธาภิเษก พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตร มโหระทึกและเครื่องดุริยางค์ ทหารยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบยุค 21 นัด (ตามกำลังวันศุกร์) เฉลิมพระเกียรติ
“พิธีถวายน้ำอภิเษก” เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสรงพระมุรธาภิเษกแล้ว เสด็จฯ ไปยังหอพระสุลาลัยพิมาน ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ เสด็จออกจากหอพระสุลาลัยพิมานไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับ ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ แปรพระพักตร์สู่ทิศบูรพา(ทิศตะวันออก) เป็นปฐม ผู้แทนสมาชิกรัฐสภา ประจำทิศทั้ง 8 ถวายน้ำอภิเษก ซึ่งเดิมนั้นราชบัณฑิตและพราหมณ์ถวาย แต่ในสมัยรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษก เป็นนัยแสดงถึงพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย จากนั้นพระราชครูพราหมณ์ถวายน้ำเทพมนตร์ ถวายพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร
“พิธีถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์” สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เพื่อทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมขัตติยราชวราภรณ์ เครื่องขัตติยราชูปโภค และพระแสงราชศัสตราวุธ ทรงรับและทรงวางไว้บนโต๊ะ2 ข้างพระที่นั่งภัทรบิฐ ทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ
จากนั้นมีพระปฐมบรมราชโองการพระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทย ทรงหลั่งทักษิโณทก ตั้งพระราชสัตยาธิษฐานจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจปกครองราชอาณาจักรด้วยทศพิธราชธรรมจริยา เสด็จฯ ไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ 80 รูป พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก และถวายพระพรลา เสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระสงฆ์ดับเทียนชัย เป็นเสร็จพิธี
อนึ่ง ขณะที่พระราชครูวามเทพมุนีทูลเกล้าฯ ถวายพระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมสังข์ บัณเฑาะว์ ฆ้องชัยมโหระทึก และดุริยางค์ กองทหารถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารกองแก้วจินดายิงปืนมหาฤกษ์มหาชัย มหาปราบยุค 21 นัด ตามกำลังวัน(วันศุกร์) ทหารบก ทหารเรือยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ 101 นัด พระสงฆ์ในพระอารามหลวงทั่วราชอาณาจักร ย่ำระฆังถวายชัยมงคล อารามละ 7 ลา และเครื่องบินกองทัพอากาศบินโปรยดอกไม้
“เสด็จออกมหาสมาคม” เวลาบ่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ บนพระราชบัลลังก์ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคลจากคณะรัฐมนตรี ทูตานุทูต สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และข้าราชการ แล้วมีพระราชดำรัสตอบ
อนึ่ง ในการเสด็จออกมหาสมาคม เจ้าหน้าที่เชิญพระราชพาหนะมาเทียบที่เกยและท่าน้ำตามโบราณราชประเพณี ได้แก่ พระที่นั่งราเชนทรยาน พระยาช้างต้น เทียบที่เกยหน้าพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ พระยาม้าต้นเทียบที่สนามหญ้าหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท รถยนต์พระที่นั่งเทียบที่หน้าอัฒจันทร์พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เรือพระที่นั่งพระสุพรรณหงส์ เทียบที่ท่าราชวรดิฐ
“พิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ อาลักษณ์อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
“พิธีประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ฉลองพระองค์ครุย ทรงพระมาลาเส้าสูง ประทับพระราชยานพุดตานทอง เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนราบใหญ่จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนถวายราชสักการะ และถวายต้นไม้เงินทองบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสมาทานศีล มีพระราชดำรัสประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภกต่อที่ชุมนุมสงฆ์
“พิธีถวายบังคมพระบรมอัฐิ” เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนราบใหญ่จากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปยังพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท เสด็จขึ้นสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี
6.เฉลิมพระราชมณเฑียร วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2493 พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร เป็นพิธีเสด็จขึ้นประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน อันเป็นพระที่นั่งประธานในหมู่พระมหามณเฑียร เปรียบเสมือนการขึ้นบ้านใหม่เพื่อความเป็นสิริมงคลและความร่มเย็นเป็นสุข โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ประทับแรม 1 คืน
“เครื่องประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร” ประกอบด้วย “เครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร” ได้แก่ วิฬาร์ (แมว) ศิลาบด พันธุ์พืชมงคล ฟักเขียว กุญแจทอง จั่นหมากทอง ต่อมาสิ่งของสำหรับการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรได้เพิ่มมากขึ้น เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มใช้พระแส้หางช้างเผือกผู้ สมัยรัชกาลที่ 7 มีการอุ้มไก่ขาวเข้าร่วมพระราชพิธี ผู้อุ้มไก่ขาวจะเป็นผู้เชิญธารพระกรศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ทั้งนี้แต่โบราณกำหนดให้ผู้เชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรเป็นเชื้อพระวงศ์ฝ่ายใน กับ “เครื่องราชูปโภค” ประกอบด้วย พระสุพรรณศรี พานพระศรี พานพระโอสถและพานพระมาลา
“ถวายพระพรชัยมงคล” วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะทูตและกงสุล เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคลและสมาคมต่างๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท และเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประชาชน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล
“พิธีเฉลิมพระนามสมเด็จพระสังฆราชและตั้งสมณศักดิ์พระราชาคณะ” วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2493 เสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพิธีเฉลิมพระนามสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช และทรงตั้งสมณศักดิ์พระราชาคณะฝ่ายมหานิกาย ธรรมยุติกนิกาย และรามัญนิกาย จากนั้นพระบรมวงศานุวงศ์ คณะรัฐมนตรี และข้าราชการทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียนแพแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงความจงรักภักดี ทรงสดับพระธรรมเทศนา
“พิธีสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระราชวงศ์” วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2493 เสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระราชวงศ์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร สถาปนาเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร (ต่อมาสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร ในปี พ.ศ.2495)
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต สถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร หม่อมเจ้าวิวัฒนไชยไชยันต์ สถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย และ หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร สถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล (ต่อมาสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ เมื่อปี พ.ศ.2495)
จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประธานองคมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้บังคับการทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียน จากนั้นทรงสดับพระธรรมเทศนา เมื่อสมเด็จพระสังฆราชถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เสด็จพระราชดำเนินกลับ เป็นอันเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
อนึ่ง ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามโบราณราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทั้งทางสถลมารคและทางชลมารค แต่ในสมัยรัชกาลที่ 9 มิได้เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร
หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี