สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติ เป็นที่ปลาบปลื้มปีติยินดีของพสกนิกรโดยทั่วกัน
มีกำหนดการพระราชพิธีเป็น 3 ช่วงคือ 1.พระราชพิธีเบื้องต้น ประกอบด้วย การเตรียมน้ำอภิเษก การจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกร ระหว่างวันที่ 6-23 เมษายน พ.ศ. 2562
2.พระราชพิธีเบื้องกลาง คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก กำหนดวันที่ 2-6 พฤษภาคม พ.ศ.2562 และ 3.พระราชพิธีเบื้องปลาย คือพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ไปยังวัดอรุณ
ราชวราราม ในปลายเดือนตุลาคม พ.ศ.2562
ซึ่งพิธีทำน้ำอภิเษกนั้น ทำพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักร จำนวน 107 แห่ง ตามโบราณราชประเพณี และทำพิธีพร้อมกันในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2562 จากนั้นตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก ณ พระอารามสำคัญประจำจังหวัดของแต่ละจังหวัด 76 แห่งในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2562 และเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษกในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2562 ต่อมาในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2562 ทุกจังหวัดเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 76 จังหวัดมาตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม เพื่อเสกน้ำอภิเษก ประกาศชุมนุมเทวดา ทำน้ำเทพมนตร์ เจริญพระพุทธมนต์ ทำน้ำพระพุทธมนต์ โดยรวมกับน้ำอภิเษกของกรุงเทพมหานคร (จากหอศาสตราคม พระบรมมหาราชวัง)
วัดสุทัศนเทพวราราม
และวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2562 แห่เชิญน้ำอภิเษกทั้ง 77 จังหวัด รวมทั้งน้ำเบญจสุทธคงคา (แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำราชบุรี และแม่น้ำเพชรบุรี) และน้ำจากสระ 4 สระ (สระแก้ว สระเกษ สระคา สระยมนา) ไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อพราหมณ์ประกอบพิธี ส่วนในวันที่ 22-23 เมษายน พ.ศ.2562 มีพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธย ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ตลอดจนจารึกพระสุพรรณบัฏพระบรมวงศ์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสรณ์
รัชกาลที่ 5 ณ พระลานพระราชวังดุสิต จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปถวายราชสักการะปฐมบรมราชานุสรณ์ ณ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า และเสด็จฯ ไปยังพระบรมมหาราชวังเพื่อทรงบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาในวันที่3 พฤษภาคม พ.ศ.2562 มีพิธีแห่เชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล จากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
จากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงนมัสการพระรัตนตรัย ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ถวายบังคมพระบรมอัฐิ พระอัฐิ ณ หอพระธาตุมณเฑียร เมื่อได้เวลามหามงคลฤกษ์ จุดเทียนชัย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ประกาศการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
ในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ทรงสรงพระมุรธาภิเษก ณ มณฑปพระกระยาสนาน บริเวณชาลา พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน โดยน้ำสรงพระมุรธาภิเษก เป็นน้ำจากเบญจสุทธคงคา และน้ำจากสระ 4 สระ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี และทรงรับน้ำพระพุทธมนต์ และน้ำเทพมนตร์ตามลำดับ ทรงรับน้ำอภิเษก ซึ่งเป็นน้ำจากทุกจังหวัดที่ประกอบพิธีแล้ว ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์
จากนั้นทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสงราชศัสตราวุธ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ เสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงรับถวายพระพรชัยมงคลจากพระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แล้วเสด็จฯ โดยขบวนราบใหญ่ ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เสด็จฯ ไปถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ณ ปราสาทพระเทพบิดร และเสด็จฯ ไปถวายบังคมพระบรมอัฐิ พระอัฐิ สมเด็จพระบรมราชบุพการี ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงพระแท่นราชบรรจถรณ์ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร
ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในการพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธยพระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อทรงนมัสการพระพุทธปฏิมาประธาน และพระบรมราชสรีรางคาร
ในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้นำศาสนาและผู้แทนคณะพาณิชย์ เฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล แล้วเสด็จออก ณ สีหบัญชร
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น เสด็จออกให้คณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
ทั้งนี้หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ในปลายเดือนตุลาคม พ.ศ.2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จ
พระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ไปยังวัดอรุณราชวราราม เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน
หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)
“วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” หรือที่นิยมเรียกกันว่า “วัดพระแก้ว” เป็นวัดที่ประดิษฐาน “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)”พระพุทธรูปสำคัญคู่บ้าน
คู่เมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2325 ในพระบรมมหาราชวังโดยไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์สมัยอยุธยา ภายในวัดประกอบด้วยศาสนสถานสำคัญ ได้แก่
พระศรีรัตนเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ปราสาทพระเทพบิดร ประดิษฐานพระบรมรูปบูรพมหากษัตริย์ พระอัษฎามหาเจดีย์ พระระเบียงคต เขียนจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์โดยรอบที่สำคัญคือ พระอุโบสถเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีและรัฐพิธีทางพระพุทธศาสนา อาทิ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
“วัดสุทัศนเทพวราราม” สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ตรงพื้นที่ที่เป็นศูนย์รวมชุมชนและศูนย์รวมศาสนสถานทั้งพุทธและพราหมณ์กลางพระนคร แผนผังเขตพุทธาวาสจำลองภูมิจักรวาลตามคติมณฑลแบบพุทธ พระวิหารหลวงประดิษฐาน
พระศรีศากยมุนี หรือหลวงพ่อโต ซึ่งอัญเชิญมาจากเมืองสุโขทัย ชุกชี (ฐานพระพุทธรูป) ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลพระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8)
ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมพุทธประวัติ และเรื่องในวรรณคดี ด้านหน้าพระอุโบสถมีสัตตมหาสถานหรือสัญลักษณ์แสดงสถานที่พระพุทธองค์ประดับภายหลังการตรัสรู้ 7 แห่ง ด้วยความสำคัญของสถานที่ตั้งและคติความเชื่อทางศาสนา วัดสุทัศนเทพวรารามจึงเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญทางศาสนาของบ้านเมืองในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 เป็นสถานที่เสกน้ำอภิเษกจาก 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เพื่อแห่เชิญไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม รวมทั้งน้ำจากเบญจสุทธคงคาและน้ำจากสระ 4 สระ
พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน
“พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน” ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นท้องพระโรงสำคัญที่พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ทรงใช้เป็นที่ประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญของบ้านเมือง เช่น เสด็จออกขุนนาง เสด็จออกมหาสมาคมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ตลอดจนเสด็จออกรับทูตต่างประเทศที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่ปลายสุดของท้องพระโรงเป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน และด้านหน้าพระที่นั่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ภายใต้
พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
“พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท” ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางทางฝั่งตะวันตกในพระบรมมหาราชวัง รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่เสด็จออกว่าราชการ ต่อมาเป็นที่ตั้งพระบรมศพพระมหากษัตริย์ รวมทั้งพระอัครมเหสีและพระศพพระบรมวงศ์บางพระองค์ ลักษณะเป็นพระที่นั่งก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูงรูปจัตุรมุข หลังคาทรงปราสาท มุขเด็จด้านหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นมุขโถง
มีพระที่นั่งบุษบกมาลาตั้งอยู่กลางมุข เป็นที่สำหรับเสด็จออกมหาสมาคม หรือเสด็จออกให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ซึ่งในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินด้วยขบวนราบใหญ่จากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อถวายบังคมพระบรมอัฐิ และพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี
พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท
“พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท” ตั้งอยู่บนกำแพงพระบรมมหาราชวัง ระหว่างประตูเทวาพิทักษ์กับประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์ สร้างในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) เพื่อเป็นที่ประทับทอดพระเนตรขบวนแห่ในพระราชพิธีสนานใหญ่ และการฝึกช้าง ลักษณะเป็นพลับพลาโถง ทำด้วยเครื่องไม้ มีอัฒจันทร์ขึ้นลงทางทิศเหนือและใต้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ก่อผนังอิฐฉาบปูนต่อเติมหลังคาเป็นยอดปราสาท จากนั้นในปี พ.ศ. 2492 มีการต่อเติมสร้างเฉลียงไม้ด้านตะวันออกเป็นสีหบัญชร
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จออก ณ ท้องพระโรง เพื่อให้ผู้นำศาสนา และผู้แทนคณะพาณิชย์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล และเสด็จออก ณ สีหบัญชร เพื่อให้พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล
ปราสาทพระเทพบิดร
“ปราสาทพระเทพบิดร” ตั้งอยู่ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นอาคารจัตุรมุขทรงไทย ยอดปราสาททรงปรางค์ประดับกระเบื้องเคลือบสีทั้งหลัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2398 เพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) พระราชทานนามว่า “พระพุทธปรางค์ปราสาท” ครั้นก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มีพระบรมราชวินิจฉัยว่าปราสาทแห่งนี้มีขนาดเล็กไม่เพียงพอแก่การพระราชพิธีต่างๆ
จึงอัญเชิญพระเจดีย์กาไหล่ทองของรัชกาลที่ 4 มาประดิษฐานเป็นประธานถึงปลายรัชกาลเกิดเพลิงไหม้เครื่องบนหลังคาปราสาทและพระเจดีย์กาไหล่ทองจนหมดสิ้น เมื่อบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จสมบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชในพระบรมราชจักรีวงศ์ 5 พระองค์ และพระราชทานนามใหม่ว่า ปราสาทพระเทพบิดร
จากนั้นรัชกาลต่อๆ มา โปรดเกล้าฯให้หล่อพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ ประดิษฐานเพิ่มเติมตามลำดับ ทั้งนี้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินไปถวายบังคมพระบรมรูป
สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ณ ปราสาทพระเทพบิดร
พระที่นั่งไพศาลทักษิณ
“พระที่นั่งไพศาลทักษิณ” ตั้งอยู่กลางระหว่างท้องพระโรงหน้าของพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานกับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีลักษณะเป็นพระที่นั่งโถงยาว ยกพื้นสูงทอดยาวไปตามทิศตะวันออก-ตะวันตก ผนังทิศตะวันออกของพระที่นั่งมีพระทวารสำหรับเสด็จพระราชดำเนินไปยังหอพระสุลาลัยพิมาน หน้าพระทวารประดิษฐานพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร 7 ชั้น)
ส่วนผนังด้านทิศตะวันตกมีพระทวารสำหรับเสด็จพระราชดำเนินไปยังหอพระธาตุมณเฑียร หน้าพระทวารประดิษฐานพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตร 9 ชั้น) “พระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช”สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เป็นสถานที่ทรงรับน้ำอภิเษก เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมขัตติยราชวราภรณ์ เครื่องราชูปโภค และพระแสงราชศัสตราวุธในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
“พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นระหว่างหมู่พระมหามณเฑียรกับหมู่พระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังเดิมประกอบด้วยหมู่พระที่นั่งต่างๆ รวม 11 องค์ ปัจจุบันเหลือเพียง 4 องค์ โดยมีพระที่นั่งที่สำคัญที่สุดคือ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สร้างเมื่อ พ.ศ.2419 เพื่อเป็นท้องพระโรง ลักษณะเป็นอาคาร 3 ชั้น และมีพระที่นั่ง 3 องค์เชื่อมต่อกันคือ พระที่นั่งองค์กลาง พระที่นั่งองค์ตะวันตก และพระที่นั่งองค์ตะวันออก
โดยชั้นบนพระที่นั่งองค์กลางเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ รัชกาลที่ 4-9 ท้องพระโรงกลางเป็นที่ประดิษฐานพระแท่นพุดตานถม ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ทั้งนี้ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในสมัยรัชกาลที่ 9 และ ณ ปัจจุบันคือรัชกาลที่ 10 เป็นที่เสด็จออกรับทูตานุทูตที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วัดอรุณราชวราราม
“วัดอรุณราชวราราม” เดิมชื่อวัดมะกอก สร้างในสมัยอยุธยา ต่อมามีการปฏิสังขรณ์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี โดยเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้ง จากนั้นเมื่อเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดอรุณราชวรารามในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) หลังการปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง วัดนี้มีศาสนสถานสำคัญ คือ
พระปรางค์ที่สร้างมาแต่รัชกาลที่ 2 แต่ได้มีการฉลองในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยมีพระปรางค์ประธานขนาดใหญ่สูง 81 เมตร มีพระปรางค์องค์เล็กและมณฑปประจำทิศทั้ง 4 ทั้งหมดมีสีขาวประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องสีงดงามยิ่ง
พระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยนามว่า พระพุทธธรรมิศราชโลกธาตุดิลก ที่หน้าพระประธานประดิษฐานพระอรุณหรือพระแจ้ง ศิลปะล้านช้าง อัญเชิญมาไว้แต่ครั้งรัชกาลที่ 4 ปัจจุบันพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของประเทศไทยและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ซึ่งในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี