พระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒ ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้เป็นวันที่ปวงชนชาวไทยได้มีความสุขที่สุดพร้อมกับร่วมกันถวายความจงรักภักดีและเรียนรู้ถึงราชประเพณีโบราณ คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งมีความหมายมาจากคำว่าราชา+อภิเษก และคำว่า อภิเษก นั้นแปลว่า รดน้ำ ซึ่งแตกต่างจากราชประเพณีราชาภิเษกในประเทศตะวันตก ที่ให้ความสำคัญกับการสวมมงกุฎโดยใช้คำว่า CORONATIONหมายถึง มงกุฎแห่งชัยชนะ ไม่มีการรดน้ำอย่างประเทศตะวันออก แม้ในพระราชพิธีจะมีการสวมมงกุฎเช่นเดียวกัน ก็ไม่ถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญเท่ากับพิธีรดน้ำ คือ การสรงน้ำมุรธาภิเษก ซึ่งมีความอธิบายจากคำว่า มูรธา+ อภิเษก และคำว่า มูรธา นั้นแปลว่า พระเศียร ดังนั้น การสรงน้ำมุรธาภิเษก จึงหมายถึงน้ำรดพระเศียรจากน้ำที่มาจาก “ปัญจมหานที”คือแม่น้ำสำคัญ ๕ สาย ในชมพูทวีป เป็นน้ำที่ไหลลงมาจากเขาไกรลาส สถานที่สถิตของพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เขาหิมพานต์นี้คือ เขาหิมวันต์หรือเขาหิมาลัยที่แปลว่าเขาสีขาว ในปัจจุบันการตั้งพระราชพิธีราชาภิเษกนั้นมีมาแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ ซึ่งมีหลักฐานจากภาพสลักและจารึกของขอม-จารึกสมัยสุโขทัยหลายแห่ง สำหรับสมัยอยุธยานั้นมีตำราราชาภิเษกที่สืบทอดเป็นหลักฐานถึงพระราชพิธีราชาภิเษก และมีการให้ความสำคัญกับการใช้น้ำจากสระทั้งสี่ของแคว้นสุวรรณภูมิ คือ เมืองสุพรรณบุรี
เมื่อแรกมีการตั้งพิธีปราบดาภิเษกขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ.๒๓๒๕ นั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินต้น คือ รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดใช้เป็นน้ำมุรธาภิเษกตามอย่างราชประเพณีโบราณหรือตำราสมัยอยุธยา ซึ่งให้ความสำคัญกับน้ำจากสระทั้งสี่คือ สระยม สระนา สระคาและสระแก้ว มาทำพิธีปราบดาภิเษกในเบื้องต้น ในพระราชพิธีราชาภิเษก ครั้งที่ ๒ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินต้นหลังจากทรงสร้างพระที่นั่งมหามณเฑียรเสร็จแล้วพร้อมกับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ครบถ้วน พระองค์ทรงโปรดให้ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกโดยสมบูรณ์ตามธรรมเนียมโบราณเมื่อวันที่ ๑๐-๑๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๘พระราชพิธีในคราวนั้นนอกจากจะใช้น้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ๔ แห่ง แหล่งเดียวกับพระราชพิธีสมัยอยุธยาแล้ว พระองค์ยังทรงโปรดฯให้นำน้ำจากแม่น้ำ ๕ สาย ที่เรียกกันว่า “เบญจสุทธิคงคา” มาอนุโลมตามตำราของพราหมณ์ที่ใช้แม่น้ำ ๕ สายในชมพูทวีปด้วย โดยตักน้ำมาจากแม่น้ำ ๕ สายสำคัญในพระราชอาณาจักรต่อมาได้มีการรวมน้ำจากแหล่งต่างๆ ของประเทศให้มีความหมายถึงการใช้น้ำเป็นสื่อการถวายพระราชอำนาจแด่พระราชาองค์ใหม่นั่นเองสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๙ รัชกาลในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นผ่านมาแล้ว ๑๑ ครั้งกล่าวคือทุกรัชกาลนั้นต้องมีพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งเดียว ส่วนรัชกาลที่จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒ ครั้งนั้น คือ รัชกาลที่ ๑พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเป็นการปราบดาภิเษกใน ๑๐-๑๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๕ ซึ่งเป็นเวลาเริ่มสร้างพระนครใหม่ จึงจัดพระราชพิธีอย่างสังเขปไปก่อน ต่อเมื่อสร้างพระนครและพระบรมมหาราชวังเสร็จแล้ว จึงจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีอย่างครบถ้วนอีกครั้งในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๘,รัชกาลที่ ๕ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๑๑ จัดขึ้นขณะพระองค์ยังทรงเป็นยุวกษัตริย์ เมื่อบรรลุนิติภาวะทรงว่าราชการด้วยพระองค์เองแล้ว จึงโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้ง ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๑๖, และรัชกาลที่ ๖ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็น ๒ คราว คราวแรก ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๓ เป็นการบรมราชาภิเษก เฉลิมพระราชมณเฑียรตามโบราณราชประเพณี แต่งดการแห่เสด็จฯเลียบพระนครและการรื่นเริงอื่นๆ ไว้ก่อน เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพกษัตริย์รัชกาลก่อนแล้ว จึงทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชอีกครั้ง๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๔ ให้เป็นการรื่นเริงสำหรับประเทศ และให้นานาประเทศที่มีไมตรีมีโอกาสมาร่วมงานไม่ให้ผิดพระราชประเพณี สำหรับรัชกาลที่ ๘ นั้นยังไม่ได้มีพระราชพิธีนี้ด้วยเหตุสวรรคตก่อน ตั้งแต่วันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๙ วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓ จนถึงวันนี้เกือบ ๗๐ ปี ที่ชาวไทยได้เห็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และร่วมกันชื่นชมพระบารมีในรัชกาลที่ ๑๐ พระราชาผู้เป็นร่มโพธิสมภารพระองค์ใหม่กันทั่วแผ่นดิน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี