พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ได้ทำให้พระบรมมหาราชวังได้รับความสนใจใคร่รู้ถึงสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมอันวิจิตรงดงามมากขึ้น นอกเหนือจากจะเป็นสถานที่รโหฐานที่น่าชมของประเทศ พระบรมมหาราชวังแห่งนี้ในอดีตนั้นเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันพระบรมมหาราชวังมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศนิยมเข้าเยี่ยมชมทุกวันปีละมากกว่า ๘-๙ ล้านคน
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ได้ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาและโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังหลวงขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศและสร้างหมู่พระมหามณเฑียรเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์การก่อสร้างพระราชวังหลวงนั้นนำรูปแบบของพระราชวังหลวงอยุธยา เริ่มสร้างพร้อมกับการสร้างพระนครเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ โดยสร้างพระที่นั่งขึ้นในบริเวณที่เคยเป็นที่อยู่ของพระยาราชาเศรษฐีและชาวจีนทั้งหลาย โดยพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปอยู่สถานที่แห่งใหม่ตั้งแต่คลองใต้วัดสามปลื้มจนถึงคลองเหนือ วัดสามเพ็ง โดยเริ่มดำเนินการในวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ หลังพระราชพิธียกเสาหลักเมือง ๑ วัน และมีการเฉลิมพระราชมณเฑียรในวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๕พระราชมณเฑียรในขณะนั้นสร้างด้วยเครื่องไม้และปักเสาระเนียดรายรอบพระราชวัง เพื่อประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษก ต่อมาพ.ศ.๒๓๒๖ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมณเฑียร พระมหาปราสาท เปลี่ยนเสาระเนียดจากเครื่องไม้เป็นก่อกำแพงอิฐ สร้างประตูรายรอบพระราชวังหลวง ตลอดจนสร้างพระอารามในพระราชวังหลวง คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต เมื่อสร้างพระราชนิเวศน์หมู่ปราสาทราชมณเฑียรเป็นการถาวรแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณีอีกครั้งหนึ่งในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๘
หลังจากนั้นพระราชวังหลวงได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมขยายอาณาเขตและบูรณปฏิสังขรณ์มาในทุกรัชกาล จนถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระราชอนุชาธิราช ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงบัญญัติให้เรียกพระราชวังหลวงว่า พระบรมมหาราชวัง ทรงบัญญัติให้ใช้คำว่า “บรม” สำหรับฝ่ายวังหลวง และใช้คำว่า “บวร” สำหรับฝ่ายวังหน้า ทำให้เรียกพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้านั้นว่า “พระบวรราชวัง” เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้วพระราชวังหลวงก็ยังใช้ว่า พระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่นั้นมา
อาณาเขตพระบรมมหาราชวังนั้นสถานที่โดยรอบทาง ทิศเหนือ ติดกับท้องสนามหลวงทิศตะวันออก ติดกับกระทรวงกลาโหม ทิศใต้ ติดกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ ทิศตะวันตก ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา พระบรมมหาราชวังเมื่อแรกสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีเนื้อที่ทั้งหมด ๑๓๒ ไร่ ต่อมารัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ขยายเขตพื้นที่ออกไปทางใต้เป็น ๑๕๒ ไร่ ๒ งาน ผังพระบรมมหาราชวังนั้นยึดเอาแบบพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา กำหนดพื้นที่ให้ติดกับแม่น้ำ หันหน้าไปทางทิศเหนือโดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ทางทิศตะวันตก โดยสร้างกำแพงเมืองด้านข้างแม่น้ำเป็นกำแพงพระบรมมหาราชวังชั้นนอกและสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นพระอารามหลวงของพระบรมมหาราชวังตามแบบอย่างวัดพระศรีสรรเพชญ์ ของกรุงศรีอยุธยา ที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ดังนั้น พระบรมมหาราชวังจึงเป็นภูมิมรดกศิลปกรรมไทยแห่งเดียวที่สร้างสรรค์โดยช่างศิลป์อยุธยาที่เหลืออยู่ จนความสง่างามแห่งเทพวิมานนั้นกลับฟื้นคืนมาให้เห็นได้จนทุกวันนี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี