สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)เคยมีการประเมินว่า หากประเทศไทยไม่มีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้งาน โอกาสทางเศรษฐกิจที่ประเทศจะสูญเสียนับเป็นมูลค่าสูงถึง 2.3 ล้านล้านบาท ภายในปี 2573 ซึ่งเป็นปีที่คาดว่า 5Gจะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจมากที่สุด โดยตัวเลขนี้เทียบได้กับ GDP ของประเทศไทยในปัจจุบันถึง 20%
ภาคส่วนที่จะเสียหายหนักที่สุดตามการประเมินของ กสทช. คือภาคการผลิตและอุตสาหกรรม ที่เป็นเครื่องจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้ประมาณการไว้ว่าจะ
เสียโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่ 7 แสนล้านบาท ไปจนถึง 1.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 10-30% ของการเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยปัจจุบัน
ขณะที่ภาคส่วนอื่นๆ อย่างภาคการเกษตร อาจสูญเสียโอกาสที่จะทำ Smart Farming ในการช่วยวิเคราะห์ดิน น้ำ และทรัพยากรต่างๆ ส่วนภาคการขนส่งโลจิสติกส์ อาจสูญเสียโอกาสในการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างยานพาหนะด้วยกัน และเชื่อมต่อกับระบบควบคุมการจราจร หรือภาคการท่องเที่ยว อาจสูญเสียโอกาสในการใช้แพลทฟอร์มและเทคโนโลยีเสมือนจริง ทั้ง Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR)
นอกจากการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจแล้ว หาก 5Gไม่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาที่กำหนด ประเทศไทยยังอาจสูญเสียเครื่องมือในการฝ่าวิกฤติสังคมผู้สูงอายุ นั่นเพราะเทคโนโลยี 5G จะช่วยลดการนัดพบแพทย์สำหรับการวินิจฉัยรักษาโรคพื้นฐานได้ถึง 5.5% ต่อปี หรือคิดเป็นการเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ของผู้ป่วยในไทย 12-15 ล้านครั้ง
จากการประหยัดเวลาการเดินทางนี้ ยังจะประหยัดค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้ป่วยได้อย่างน้อย 11,000 ล้านบาทต่อปีอีกทั้ง 5G ยังจะช่วยให้เกิดการรักษาทางไกล หรือ Telehealth ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาในการลางานเป็นวันๆ เพื่อไปโรงพยาบาลอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม พบว่ามีอยู่สามปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดเทคโนโลยี 5G ขึ้นในประเทศไทย อันดับแรกคือ คลื่นความถี่ (Spectrum) เพราะเมื่อมีการส่งข้อมูลผ่านโครงข่ายมากขึ้นและเร็วขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งต้องการคลื่นความถี่เพื่อรองรับมากขึ้นเท่านั้น โดยที่ผ่านมา กสทช. ได้จัดสรรคลื่นความถี่เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้ง 3G และ 4G ในคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz,1800 MHz และ 900 MHz
สำหรับคลื่นความถี่ในอนาคตที่คาดว่าจะนำมาประมูลเพื่อใช้งาน 5G ภายในปี 2563 คือคลื่นความถี่ 700 MHz และ 2600 MHz ขณะที่คลื่นความถี่ใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจคือคลื่นความถี่ย่าน 3.5 GHz (C-Band) และย่าน 26 กับ 28 GHz หรือย่าน mmWave
ปัจจัยถัดมาคือ โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เมื่อ 5G มีการรับ-ส่งข้อมูลปริมาณมากและความเร็วสูงขึ้นเท่าไร โครงสร้างพื้นฐานเพื่อจะรองรับข้อมูลที่วิ่งบน 5G ยิ่งต้องมีความจุมากเท่านั้น เช่น หากต้องการส่งข้อมูลปริมาณมหาศาลระหว่างกรุงเทพมหานครและเชียงใหม่ ส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างสองภูมิภาค จะต้องมีความจุข้อมูลสูงพอที่จะรองรับการส่งข้อมูลความเร็วสูงนั้นด้วย
ทว่าแม้จะมีการลงทุนระบบ 5G ได้ครอบคลุมทั้งประเทศ แต่หากโครงสร้างพื้นฐานไม่มีความจุเพียงพอ ก็จะทำให้เกิดคอขวดในการส่งข้อมูลผ่าน 5G ที่จะไม่สามารถทำงานได้เต็มศักยภาพ ดังนั้นจึงต้องการการลงทุนจากภาคเอกชนในการเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งโครงข่ายหลักและโครงข่ายรอง
ขณะเดียวกัน การสนับสนุนให้เกิดการร่วมกันขยายเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานของผู้ให้บริการ หรือที่เรียกว่า Infrastructure Sharing จะช่วยลดวงเงินลงทุนตั้งต้น และลดความเสี่ยงจากการลงทุนแก่ผู้ให้บริการแต่ละราย พร้อมสามารถขยายโครงข่ายพื้นที่บริการให้มีความครอบคลุมได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ปัจจัยสุดท้ายคือ การเชื่อมต่อ (Connectivity) ซึ่ง 5G จะไม่เป็นเพียงโครงข่ายที่เชื่อมโยงมนุษย์ด้วยกันแบบที่เราใช้ 4G ในปัจจุบัน แต่จะเป็นโครงข่ายที่รองรับอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) และการสื่อสารของจักรกลอัจฉริยะ (AI) อีกด้วย ดังนั้นนอกจาก 5G จะต้องมีการเชื่อมต่อที่ดี ทั้งความง่ายและความทั่วถึง ยังต้องสามารถรองรับการเชื่อมต่อจากอุปกรณ์ IoT หลากหลายรูปแบบด้วย
ตัวอย่างเช่น การมี Smart City ในอนาคตซึ่งต้องการอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันเป็นจำนวนมากในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ Smart Home ภายในบ้าน Smart Grid สำหรับภาคไฟฟ้า หรือ Smart Energy รวมทั้ง Smart Traffic Management การจัดการให้ผู้ใช้งานสามารถเชื่อมต่อได้อย่างสะดวก พร้อมกับให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าใช้อุปกรณ์รูปแบบใหม่ๆ ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายสูงมากนักจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ทั้งนี้สำนักงาน กสทช. ได้มีการกำหนดโรดแมปเพื่อผลักดัน 5G ซึ่งประกอบไปด้วย การประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ใหม่ (Set Zero การจัดสรรคลื่น) ที่สะท้อนความต้องการอย่างสมเหตุสมผล การทบทวนกำหนดระยะเวลาการชำระเงิน (Term of Payment)เพื่อสร้างแรงจูงใจลงทุนระยะยาว รวมไปถึงการกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตตามกลุ่มผู้ใช้งาน เช่น ภาคโทรคมนาคม ที่อนุญาตครอบคลุมการใช้งานทั่วประเทศ (Nationwide) หรือภาคการผลิต ที่อนุญาตเฉพาะพื้นที่ (Specific Location) เช่น นิคมอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ซึ่งภายใต้โรดแมปนี้ กสทช. มั่นใจว่า 5G จะเกิดขึ้นได้ภายในปี 2563-2564
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี