ภูเวียง เวเนเตอร์ แย้มนิยมมี
นับเป็นข่าวดีที่ต้องชื่นชมยินดีกันในโอกาสที่กรมทรัพยากรธรณี ค้นพบไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ของไทยเป็นตัวที่ ๑๐ หลังจากที่มีการขุดพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ไทยมาแล้ว ๙ ตัว แม้จะเป็นเพียงซากฟอสซิล ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของไดโนเสาร์ก็ตาม แต่ด้วยเหตุที่มีการเรียนรู้ต่อรุ่นและมีศึกษาตรวจสอบตามระบบสากลจากนักบรรพชีวินของไทย จนทำให้มีการยอมรับว่าไดโนเสาร์ที่พบใหม่นี้ ได้พบเฉพาะพื้นที่ประเทศไทยนั้น ได้แสดงถึงความก้าวหน้าในการเรียนรู้เรื่องไดโนเสาร์ที่ต่อรุ่นกันมา จนเป็นที่ยอมรับในวงการไดโนเสาร์หรือบรรพชีวินในระดับโลก ซึ่งนายสมหมาย เตชวาลอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ได้สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้และเปิดศูนย์ข้อมูลในอุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียงขึ้นที่ อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น ร่วมกับดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และประชาชนในพื้นที่ในการที่จะร่วมกันส่งเสริม
ให้แหล่งที่พบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นสมบัติของโลกนั้น ได้เป็นจุดนำความสนใจให้เกิดการท่องเที่ยวเรียนรู้โลกดึกดำบรรพ์ขึ้นในพื้นที่จริง
ไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ที่พบนี้มีชื่อว่า “ภูเวียง เวเนเตอร์ แย้มนิยมมี” เป็นไดโนเสาร์เทอร์โรพอด ขนาดกลาง ซึ่งเป็นสกุลและชนิดใหม่ของโลกที่ขุดพบในหลุมขุดค้นที่ 9B ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง จ.ขอนแก่นนับเป็นซากไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ ตัวที่ ๑๐ ของประเทศไทย และเป็นตัวที่ ๕ ของขอนแก่น
ซากฟอสซิลไดโนเสาร์ที่พบ
ไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ที่พบนี้มีลักษณะแตกต่างจากที่เคยค้นพบมา เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อ เมื่อมีการศึกษาจากกระดูกสันหลังส่วนหลัง กระดูกสันหลังส่วนสะโพก กระดูกมือและเล็บ กระดูกหน้าแข้ง ข้อเท้าฝ่าเท้า และเท้า ที่ขุดพบแล้ว ได้ประมาณว่ามีขนาดลำตัวยาว ๕-๖ เมตร จัดอยู่ในกลุ่ม เมกะแรพเตอรา และคาดว่าจะมีลักษณะทั่วไปคล้ายไดโนเสาร์ตัวอื่นๆ ที่พบในประเทศญี่ปุ่น คือมีขาหน้าและขาหลังที่ยาว บ่งบอกถึงการวิ่งเร็ว มีกรงเล็บใหญ่ มีกะโหลกเรียวกว่าไดโนเสาร์ที่มีการพบโดยทั่วไป จึงมีสมญาเล่าขานกันว่าเป็น “ไดโนเสาร์นักล่าแห่งเทือกเขาภูเวียง”
ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กับชิ้นส่วนที่พบ
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๓ เป็นต้นมา ไดโนเสาร์ที่พบในประเทศไทยนั้น มีทั้งชนิดที่พบใหม่ของโลก และชนิดที่พบอยู่ทั่วไปอยู่ในแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ สำหรับไดโนเสาร์พันธุ์ไทยที่มีชื่อเฉพาะนั้นคือสยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis)-ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ (Phuwiangosaurus sirindhornae)-สยามโมซอรัส สุธีธรณี (Siamosaurus suteethorni)-คอมพ์ซอกนาธัส (Compsognathus)-ซิททาโกซอรัส สัตยารักษ์คิ(Psittacesaurus sattayaraki)-กินรีมิมัส (Kinnareemimus)-อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชี (Isanosaurus attavipatchi)-สเตโกซอรัส(Stegosaurus)
บทความเสนอไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ต่อโลก
ปัจจุบันมีการขุดพบฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ในประเทศไทยถึง ๑๖ ชนิด ในจำนวนนี้เป็นไดโนเสาร์ชนิดใหม่ สกุลใหม่ของโลกแล้ว ๑๐ ชนิด ซึ่ง ๕ ชนิดนั้นอยู่ที่ขอนแก่น จึงทำให้การพัฒนาเป็นอุทยานธรณีระดับโลกของยูเนสโกนั้น ขอนแก่นจึงมีความพร้อมโดยจะมีการส่งเสริมร่วมกันให้ได้รับการรับรองจากยูเนสโก ซึ่งจะต้องมีการเตรียมเรื่องของงานวิจัยเพื่อเป็นหลักฐานการวิจัยมารองรับ สำหรับในเชิงพื้นที่ในเรื่องของการส่งเสริมการศึกษาและการท่องเที่ยว ถือว่าขณะนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะในการยกระดับเรื่องการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน เพื่อนำไปเป็นข้อมูลให้กับทางยูเนสโกได้ โดยเฉพาะเรื่องการให้ความรู้และการอนุรักษ์ธรรมชาติและโปรแกรมของยูเนสโกที่เน้นการพัฒนาพื้นที่รวมถึงการทำกิจกรรมต่างให้ครบถ้วนซึ่งในอนาคตนั้นจะทำให้ขอนแก่นและประเทศไทยมีชื่อเสียงระดับโลกที่มีแหล่งไดโนเสาร์สายพันธุ์ไทยหนึ่งเดียวที่มีนักธรณีวิทยาทำการวิจัย สร้างเกียรติภูมิให้ประเทศต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี