อนุสาวรีย์วีรชนคนบ้านระจัน
ประวัติศาสตร์ได้บันทึกวีรชนคนกล้าแห่งบ้านระจัน เมืองวิเศษไชยชาญ ไว้ว่า วันจันทร์ แรม ๒ ค่ำเดือนแปด ปีจอ พ.ศ.๒๓๐๙ นั้น ค่ายคนบ้านระจันถูกพม่าตีค่ายแตกหลังจากได้มีการสู้รบมาแล้ว ๗ ครั้งดังนั้นทุกปีในวันที่ ๒๓ มิถุนายน จึงมีการรวมพลคนสานต่ออุดมการณ์คนบ้านระจันให้ระลึกถึงวีรกรรมที่มีผู้กล้าเข้าสู้รบข้าศึกจนตัวตาย ที่ร่วมกันสู้รบกันมาตั้งแต่เดือน ๔ ปลายปีระกา พ.ศ.๒๓๐๘ จนค่ายแตกย่อยยับ และคนไทยถูกกวาดต้อนเป็นเชลยก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา จากเรื่องเล่าพงศาวดาร ตำนานคนกล้า ได้มีการถ่ายทอดกันมากมายทั้งนิยายเรื่องบางระจันของ ไม้ เมืองเดิม ภาพยนตร์และละคร จนคนทั้งแผ่นดินนั้นรู้จักชื่อบางระจันมากกว่าชื่อจริงคือ บ้านระจัน ซึ่งเป็นชื่อเดิมปรากฏในเอกสารเก่า อาทิตย์นี้ ธนิต เพชรถนอม, สันต์ สุดใจ ช่างภาพยอดฝีมือ ได้ชวนให้ร่วมกันสร้างกิจกรรมถ่ายภาพเพื่อเชิดชูวีรชนคนกล้า “คนบ้านระจัน” โดยมีกลุ่มถ่ายภาพคนวาดภาพด้วยแสงหลายคนลงพื้นที่จริงถ่ายภาพกันที่วัดอ้อยช้าง วัดโพธิ์เก้าต้น และตลาดย้อนยุคของบ้านระจัน ซึ่งมีจิตอาสามาร่วมกันสร้างบทบาทย้อนยุคสมัยให้สมจริงถึงเหตุการณ์เมื่อ ๑๕๓ ปี ทั้งหมดร่วมรังสรรค์การถ่ายทอดอารมณ์และจินตภาพตามสายตาช่างภาพวาดภาพด้วยแสงเงาให้ดูขรึมขลังและใช้สื่อความหมายตามลำดับเรื่องราวตามที่ปรากฏในพงศาวดาร ตำนานเล่าขานของพื้นถิ่น นับเป็นความร่วมมือร่วมใจที่เกิดขึ้นเองซึ่งต้องขอบคุณครูดาบตัวดำ วิทยา เอมพันธ์ และกลุ่มจิตอาสานักแสดงจากเมืองต่างๆ กว่า ๕๐ คน ทุกคนมาร่วมถ่ายทอดอารมณ์สืบสานความรักชาติรักแผ่นดินให้ปรากฏตามอย่างอุดมการณ์ “คนบ้านระจัน” เมืองวิเศษไชยชาญ
นักแสดงและช่างภาพกลุ่มวาดภาพด้วยแสง
“เมื่อเดือนสาม ปีระกา พุทธศักราช ๒๓๐๘ นายจันหนวดเขี้ยว นายโชติ นายดอก นายทองแก้ว นายทองเหม็น นายทองแสงใหญ่ นายแท่นนายเมืองพันเรือง ขุนสรรค์ และ นายอิน ได้เป็นหัวหน้ารวบรวมชาวบ้านตั้งค่ายต่อสู้พม่าที่บ้านบางระจันมีพระอาจารย์ธรรมโชติ เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิทยาคมบำรุงขวัญ ตั้งแต่เดือนสี่ ปีระกา พุทธศักราช ๒๓๐๘ จนถึงเดือนเจ็ด ปีจอ พุทธศักราช ๒๓๐๙ วีรชนค่ายบางระจัน ได้ต่อสู้พม่าด้วยความกล้าหาญและด้วยกำลังใจอันเด็ดเดี่ยว ยอมสละแม้เลือดเนื้อและชีวิตเพื่อรักษาแผ่นดินไทย รบชนะพม่าถึงเจ็ดครั้งจนพม่าครั่นคร้ามฝีมือ” จากข้อความที่จารึกของอนุสาวรีย์วีรชนคนบ้านระจัน และจังหวัดก็ควรจะดำริให้มีการแก้ไขให้เป็นชื่อ “บ้านระจัน” ตามหลักฐานเดิมเสีย ทั้งชื่ออำเภอตำบลหมู่บ้าน ไม่ใช่ชื่อ “บางระจัน” ตามนิยาย ไม้ เมืองเดิมที่ผิดกันมาแต่แรก เหตุการณ์ที่รับรู้กันก็คือคนบ้านระจันนั้นได้ตั้งค่ายที่บ้านระจัน วัดโพธิ์เก้าต้น ปักหลักสู้รบพม่าที่พยายามส่งทัพเข้ามาตีชาวบ้านระจันถึง ๗ ครั้ง แต่ไม่สำเร็จด้วยทุกคนมีใจสู้จนสุดท้าย สุกี้ ชาวมอญนายกองใหญ่ของพม่า ผู้เคยอยู่ในอยุธยามาเป็นเวลานาน จนรู้ว่าชาวบ้านระจันนั้นถนัดรบในที่แจ้ง จึงอาสามาปราบชาวบ้านระจัน โดยสั่งให้ยิงปืนใหญ่เข้าไปในค่ายแทนการสู้รบกันกลางแจ้ง ทำให้คนบ้านระจันเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก นายทองเหม็นได้ขี่กระบือบุกเข้าค่ายพม่า แต่ถูกพม่ารุมทำร้ายจนตาย ฝ่ายคนบ้านระจันไม่มีปืนใหญ่ยิงตอบโต้ครั้นขอไปทางกรุงศรีอยุธยาก็ไม่ให้ อ้างว่าเกรงจะถูกข้าศึกแย่งไประหว่างทาง ชาวบ้านจึงช่วยกันหล่อปืนใหญ่ขึ้นเอง โดยใช้ของใช้ทุกอย่างที่ทำด้วยทองเหลืองมาหล่อปืนได้สองกระบอก แต่พอทดลองยิง กระบอกปืนก็แตกจนใช้การไม่ได้ ในที่สุดชาวบ้านระจันก็พ่ายแพ้แก่พม่าหลังจากสู้กันมา ๕ เดือน วีรกรรมของชาวบ้านระจัน ได้ถูกยกย่องว่าเป็นเกียรติภูมิของคนกล้าหาญซึ่งเป็นต้นแบบความรักชาติรักแผ่นดินโดยแท้ และกิจกรรมครั้งนี้ได้ถ่ายทอดให้รู้สึกได้ว่าชาตินั้นเหนืออื่นใดสละได้แม้ชีวิต...ฝากความกล้าหาญหน่อย แก้ชื่ออำเภอและหมู่บ้านเสียให้ถูกครับ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี