ไทย-จีน ร่วมกันเปิดนิทรรศการ
ความสัมพันธระหว่างไทย-จีนนั้นมีมาแต่โบราณ จนมาถึงวันนี้วันที่ทั้งสองประเทศได้ร่วมกันสร้างโอกาสพิเศษ ร่วมกันนำวัตถุโบราณจากจีนมาแสดงผ่านความสนใจใคร่รู้ไปถึง จิ๋นซีฮ่องเต้ หรือ ฉินฉื่อหฺวังตี้ ผู้เป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ของจีน ก่อนคริสตกาล ฮ่องเต้ที่ชาวจีนยกย่องว่าพระองค์นั้นคือ พระเจ้าเจิ้ง(政 Zhèng ?) แห่งเมืองฉิน หมายถึง “ปฐมจักรพรรดิฉิน” หรือ “ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ฉิน” อันเป็นที่มาของการเรียกชื่อประเทศว่า “จีน” หรือ “ฉิน” พระองค์เป็นผู้รวมแผ่นดินและสถาปนาราชวงศ์ฉินขึ้นเมื่อปีที่ ๒๒๐ก่อนคริสตกาล และสามารถขยายอาณาเขตตั้งประเทศจีนสำเร็จในปีที่ ๒๒๑ ก่อนคริสตกาล หลังจากต่างเมืองแยกกันเป็นใหญ่ในยุคราชาแห่งแคว้นและสามก๊ก พระองค์จึงไม่ใช้ตำแหน่ง “หฺวัง” คือราชา เหมือนสมัยราชวงศ์ซางและราชวงศ์โจว แต่ทรงใช้คำว่า “หฺวังตี้” คือราชาธิราชหรือจักรพรรดิ เป็นจักรพรรดิพระองค์แรกของแผ่นดินจีน ทรงใช้ “หฺวังตี้” สืบราชวงศ์ต่อกันมาอีกสองพันปี
คณะผู้รับผิดชอบการจัดแสดง
รัชสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้นั้น แม่ทัพนายกองของพระองค์มีบทบาทสำคัญงยิ่งต่อการรวบแผ่นดินขยายอาณาจักร การรบกับ เผ่าเยฺว่ ทางใต้เมืองฉู่ ทำให้ดินแดน ไป่เยฺว่ ของเมืองหูหนานและกวั่งตงตกเป็นของเมืองฉิน การรบกับพวก ซฺยงหนู ในเอเชียตอนกลาง ทำให้ฉินได้ดินแดนเอ้อเอ่อร์ตัวซือของกลุ่ม ซฺยงหนู แม้ว่ามั่วตู๋ ฉันยฺหวีผู้นำซฺยงหนู จะผนวกดินแดนได้บ้างก็ตาม พระองค์มีอำมาตย์คนสำคัญหลายคน เช่น หลี่ ซือ มาช่วยปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อจัดระเบียบประเพณีอันหลากหลาย เป็นเหตุให้ทรงเผาตำรา ฝังบัณฑิต แล้วรวมกำแพงเมืองที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปนั้นเข้าเป็นกำแพงเมืองจีน สร้างระบบของถนนหนทางใหม่เป็นการใหญ่และสุดท้ายสร้างสุสานหลวง โดยมีรูปปั้นองครักษ์ขนาดเท่าคนจริงคอยพิทักษ์อยู่ ระหว่างที่ครองราชสมบัติ พระองค์ทรงเสาะแสวงหาน้ำอมฤตให้อายุยืนยาวมาตลอดแต่สุดท้ายพระองค์สวรรคตเมื่อปีที่ ๒๑๐ ก่อนคริสตกาลสุสานฉินสื่อหวง หรือ จิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งเป็นฮวงซุ้ยของจักรพรรดิจีนฉินสื่อหวง หรือจักรพรรดิจิ๋นซีแห่งปฐมราชวงศ์ฉิน หรือจิ๋นซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลหลินถง นอกเมืองซีอาน มณฑลฉ่านซี ประเทศจีน เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๗ โดยหยางจื้อฟา และชาวนา ๖ คน จากหมู่บ้านซีหยาง ในขณะที่ขุดดินทำบ่อน้ำเพื่อทำการเพาะปลูก ที่บริเวณเชิงเขาหลีซาน ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองซีอานไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๓๕ กม. ในระหว่างที่ขุดลึกลง ๔ เมตร ในวันที่ ๕ ของการขุดนั้นได้พบวัตถุที่ทำด้วยดินเผาที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายกับเหยือกสำหรับใส่น้ำ จึงค่อยๆขุดดินอย่างระมัดระวัง และเมื่อยิ่งขุดลึกลงไปก็พบกองทัพทหารดินเผาในชุดเกราะ คันธนู และลูกธนูทองเหลืองจำนวนหนึ่ง
แสดงจิ๋นซีฮ่องเต้สร้างประเทศ
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ รัฐบาลจีนได้เริ่มทำการขุดค้นภายในสุสาน ก็พบหลุมทหารรูปปั้นดินเผาจำนวนมาก ขณะนี้ขุดพบแล้วจำนวน ๓ หลุม จากทั้งหมด ๘ หลุม และได้พบวัตถุโบราณที่จัดเป็นลักษณะของกองทัพทหารดินเผาพร้อมด้วยสรรพาวุธ รถม้า และม้าศึก รวมแล้วกว่า ๗,๔๐๐ ชิ้นบริเวณพื้นที่หลุมสุสานนี้มีพื้นที่มากกว่า ๒๕,๐๐๐ ตารางเมตรและมีการคาดการณ์ว่าบริเวณสุสานฉินสื่อหวงนี้ จะมีพื้นที่มากกว่า ๒,๑๘๐ ตารางกิโลเมตร กองโบราณคดีและกรรมการมณฑลฉ่านซีของจีน ร่วมกันหามาตรการในการอนุรักษ์โบราณวัตถุทางประวัติศาสตร์ของจีน ต่อมาในวันที่๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๗ หยวนจงอี้ เจ้าคังหมิน ได้นำทีมนักโบราณคดี เดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านซีหยางอีกครั้ง เพื่อทำการตรวจสอบและขุดค้นเพิ่มเติมจนถึงปัจจุบัน วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๒ กองทัพทหารดินเผาภายใต้มหาสุสานฉินสื่อหวงนี้ได้เปิดให้สาธารณชนเข้าชมอย่างเป็นทางการ จนในที่สุดเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐ องค์การยูเนสโกได้ลงมติให้สุสานฉินสื่อหวง เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม สุสานฉินสื่อหวงแห่งนี้ ประวัติว่าเริ่มสร้างขึ้นในสมัยฉินสื่อหวง หรือจิ๋นซีฮ่องเต้ ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ ๓๘ ปี ตั้งแต่ปี ๒๔๖-๒๐๘ ก่อนคริสตกาล พื้นที่ของสุสานรวมทั้งสิ้น ๒,๑๘๐ ตร.กม. ภายในสุสานนั้นบรรจุพระบรมศพของฉินสื่อหวงและทรัพย์สมบัติต่างๆ ตลอดจนกองกำลังทหาร นางสนม และนางกำนัล รถม้า และขุนพลทหารจำนวนมาก เพื่อเป็นตัวแทนของข้าราชบริพารในการร่วมเดินทางไปยังปรโลกของฉินสื่อหวง โครงสร้างและสถาปัตยกรรมโดยรวมของสุสานนั้น มีพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความลึกเฉลี่ย ๓๕ เมตร กว้าง๑๔๕ เมตร และยาว ๑๗๐ เมตร วันนี้วัตถุโบราณสำคัญบางชิ้นได้ถูกนำมาแสดง ณ พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันนี้ไปถึงวันที่๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๒ เพื่อให้ผู้สนใจได้ชมกันโดยไม่ต้องเดินทางไปประเทศจีน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี