ตักบาตรเทโว วัดตะพานหิน
วันที่ ๑๓ ตุลาคม วันนี้เป็นวันออกพรรษา ที่ทุกคนรู้จักวันนี้ดี ด้วยมีประเพณีตักบาตรเทโว จัดกันทุกวัดสำคัญทั่วประเทศ โดยเฉพาะวัดที่มีพระพุทธบาทอยู่บนเขา และมณฑปด้วยแล้ว ได้ถือเป็นงานสำคัญที่ทำต่อเนื่องทุกปีส่วนงานบุญนี้ให้สาระและพิธีการงานกันอย่างไรขึ้นอยู่ว่าวัดจะสืบทอดหรือเถิดเทิงกันอย่างไร ไม่เหมือนกัน ด้วยความต่างนี้จึงมีชื่องานเรียกต่างกัน เช่น ตักบาตรเขาวงกต ตักบาตรดาวดึงส์ ตักบาตรดอกไม้ ตักบาตรน้ำผึ้งประเพณีโยนบัว และตักบาตรเทโว บางแห่งอุตริต่อท้ายงานเป็นตักบาตรเทโวโรหะนะเข้าไปอีก อ้างว่าอยู่ในพระสูตรเรื่องโรหะนะ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์หลายแห่ง แก่นเรื่องของงานตักบาตรเทโวนั้นคือ เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว เทพบุตรพระมารดาได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน พระพุทธองค์ตั้งพระทัยจะลงที่ประตู เมืองสังกัสนครท้าวโกสีย์สักกเทวราช (พระอินทร์) ได้เนรมิตบันไดทอง-บันไดแก้ว-บันไดเงินทอดลงมายังเมืองสังกัสนครที่มีเหล่าพระพุทธสาวก กษัตริย์ ๗ แคว้น และพุทธบริษัทมารอเฝ้ารับเสด็จอยู่จำนวนมาก ทำให้เกิดการถวายมหาสังฆทานแก่พระพุทธสาวกขึ้นครั้งแรกในโลก ครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงเปิดโลกทั้งสามโลกคือ สวรรค์ โลก และนรก ทำให้หมู่เทวดา เหล่ามนุษย์ และสัตว์นรก นั้นสามารถเห็นธรรมถึงกันเป็นอัศจรรย์ จากนั้นจึงมีขบวนของพระอินทร์ พระพรหม พระวิษณุกรรม และเทพยดาตามส่งจนถึงโลกมนุษย์ที่เมืองสังกัสนครนั้น ต่อมาจึงแตกเรื่องไปเป็นตักบาตรด้วยข้าวปั้น ข้าวเหนียว ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัด ข้าวสาร ดอกไม้ น้ำผึ้ง ไปตามพื้นที่ และแทรกภูมิปัญญาชาวนาไว้กันงานนี้เช่นทำเสื่อไม้ไผ่หรือสังเวียนเขาวงกตใช้ในการเก็บข้าวและธงกระดาษเพื่อปักรับขวัญข้าว ข้าวกระยาสารท เป็นต้น
เขาหน้าเมืองสังกัสนครในอินเดีย
ตามคัมภีร์อรรถกถา ซึ่งเป็นคัมภีร์ชั้นหลังพระไตรปิฎกนั้นกล่าวว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จจำพรรษาณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งนครสาวัตถี ทรงรำลึกถึงพระพุทธองค์มาก ด้วยความเคารพรักและศรัทธาจึงสั่งให้ช่างหลวงแกะพระพุทธรูปลักษณะคล้ายองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยไม้แก่นจันทน์หอมอย่างดี ประดิษฐานไว้ในพระราชนิเวศน์เพื่อสักการบูชา พระไม้แก่นจันทน์องค์นี้ถือว่าเป็นพระพุทธรูปองค์แรกในพระพุทธศาสนา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาและได้มาโปรดธรรมพระเจ้าปเสนทิโกศล พระพุทธรูปไม้แก่นจันทน์องค์นั้นได้แสดงปาฏิหาริย์ลอยจากพระแท่น เพื่อให้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับ ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่า “เอวํ นิสีทถขอพระองค์จงประทับนั่งอยู่อย่างนั้นแล” พระพุทธรูปแก่นจันทน์จึงประทับนั่งไม่ลอยไปที่อื่น และพระพุทธองค์ทรงตรัสถึงอานิสงส์การสร้างรูปเปรียบของพระองค์ให้พระเจ้าปเสนทิโกศลสดับไว้ด้วย
ตักบาตรเทโว วัดตะพานหิน
ตั้งแต่นั้นมาจึงได้มีการสร้างพระพุทธรูปอันเนื่องจากเหตุการณ์นี้ขึ้นหลายปางคือ ปางโปรดพุทธมารดา ปางเปิดโลก ปางยมกปาฏิหาริย์ ปางเสด็จดาวดึงส์ ปางพระแก่นจันทน์ทั้งประทับนั่ง และประทับยืน พระพุทธรูปที่พบเก่าสุดมีตั้งแต่ยุคทวารวดี ในสมัยสุโขทัยนั้นมีการสร้าง พระอัฏฐารส วัดตะพานหินเป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยสูง ๑๘ ศอก ซึ่งเชื่อว่า พระอัฏฐารสนี้คือ พระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ที่ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ กล่าวถึงเมืองสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ว่า “…ในกลางอรัญญิก มีพิหารอันณึ่งมนใหญ่ สูงงามแก่กม มีพระอัฏฐารสอันณึ่งลุกยืน…”ครั้งนั้นพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงช้างเผือกชื่อ รูจาคีรี ขึ้นไปนบพระทุกวันข้างขึ้น ๑๕ ค่ำ และข้างแรม ๑๕ ค่ำ และนอกเหนือไปจากวันพระแล้วในวันพระเจ้าเปิดโลก วัดตะพานหินได้เป็นที่โอยศีลโอยทานในงานบุญประเพณีสำคัญโดยเฉพาะงานตักบาตรเทโว ซึ่งมีบันไดหิน เป็นจุดเชื่อมระหว่างโลกทั้งสามตามพุทธตำนาน สำหรับภูมิสถานแห่งเดียวที่สร้างขึ้นตามพุทธตำนานคือ งานตักบาตรเทโวของจังหวัดอุทัยธานี โดยพระปลัดใจ(ต่อมาเป็นพระครูสุนทรมุนี เจ้าคณะเมือง)สร้างมณฑปขึ้นที่ยอดเขาแก้ว ชื่อสิริมายากุฎาคาร และบันไดลงจากเขาสำหรับจัดประเพณีตักบาตรเทโวโดยตรง เดิมมีการทำกิจกรรมอันเป็นมหาสังฆทานแก่พระสงฆ์ทุกวัด พร้อมกับตั้งโรงทานสำหรับชาวบ้านทั้งเมือง ถือเป็นเอกลักษณ์แห่งเดียวหากเดินหน้าจัดงานให้ถูกเรื่องถูกราวตามพุทธตำนานแล้ว เชื่อได้เลยว่าจะเป็นงานสำคัญระดับโลกที่น่าสนใจแห่งเดียว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี