เมื่อเขาพยายามที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปให้ได้ ถึงแม้เขาจะยืนได้ยากลำบากมาก เพราะขาหลังข้างหนึ่งหักจนใช้การไม่ได้ แต่เราก็ได้เห็นว่าเขายังพยายามที่จะยืนและพยายามจะอยู่กับลูกอ่อนของเขาต่อไป เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว สัตวแพทย์อย่างเรา รวมถึงใครก็ตามที่ได้เห็นความเข้มแข็งของแม่วัวตัวนี้แล้ว ก็ต้องให้ความช่วยเหลือเขาอย่างเต็มกำลังความสามารถ ซึ่งก็นับเป็นบุญของเขาที่ได้รับความอนุเคราะห์อย่างดีจากผู้อ่านหนังสือพิมพ์แนวหน้า รวมถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ที่ร่วมกันบริจาคเพื่อรักษาพยาบาลเขา เพราะความตั้งใจอยากให้เขามีชีวิตอยู่ต่อไป และขอบอกว่าการรักษาแม่วัวตัวนี้ด้วยการผ่าตัดดามแผ่นไททาเนียมคือการรักษาที่ต้องบันทึกในประวัติศาสตร์การรักษาสัตว์ใหญ่ด้วยว่าเป็นครั้งแรกของไทยและของโลก
แนวหน้าวาไรตี้สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัยพาคุณไปสนทนากับ นายสัตวแพทย์ ทนุวงศ์ ทัศนกาญจนาคร หรือ หมอเต้ แห่งโรงพยาบาลปศุสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาเขตจังหวัดนครปฐม และไปเยี่ยมวัวตัวหนึ่งซึ่งเข้าไปรับการรักษาพยาบาลเมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากขาหลังข้างซ้ายหักเพราะถูกวัวตัวอื่นเหยียบ สำหรับวัวตัวนี้คือแม่วัวที่คณะผู้อ่านแนวหน้าได้ร่วมกันบริจาคไถ่ชีวิตจากโรงฆ่าสัตว์แล้วนำไปมอบให้เกษตรกรในอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เลี้ยงดูเมื่อ 3 ปีก่อน (ทั้งนี้กลุ่มผู้อ่านแนวหน้าได้ร่วมกันบริจาคไถ่ชีวิตโคกระบือจากโรงฆ่าสัตว์มาแล้ว 55 ตัว แล้วโคกระบือเหล่านี้ก็ได้ตกลูกออกมาแล้วรวม 14 ตัว)
l ขอความกรุณาหมอเต้ช่วยเล่าให้ฟังด้วยครับว่าตลอดเวลาประมาณ 1 ปีเศษที่ผ่านมา ที่แม่วัวตัวนี้มารับการผ่าตัดแล้วดามไททาเนียมเพื่อช่วยให้กระดูกที่หักสามารถเชื่อมติดกันได้ หมอเต้ดูแลเขาอย่างไรบ้างหลังจากผ่าตัดแล้ว จนปัจจุบันเขาสามารถเดินได้ดีขึ้น แม้จะยังไม่ปกติ 100 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม
หลังจากที่แม่วัวตัวนี้ได้รับการผ่าตัดดามแผ่นไททาเนียม ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างคณะสัตวแพทย์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกลุ่มผู้ใจบุญที่เป็นสมาชิกของหนังสือพิมพ์แนวหน้า โดยแม่วัวตัวนี้เข้ารักการรักษาอยู่ประมาณ 1 ปีเศษ ๆ ตลอดเวลาที่ผมดูแลเขา จะเห็นได้ตลอดเวลาว่า เขามีความอดทนมาก พยายามยืนด้วยตัวเอง แม้ว่าขาหลังข้างซ้ายจะหักจนใช้การไม่ได้ คือผมเห็นเขาตั้งแต่วันแรกๆ หลังจากผู้เลี้ยงติดต่อไปยังอาจารย์เฉลิมชัย ยอดมาลัย ในฐานะผู้ทำโครงการไถ่ชีวิตโคกระบือ โดยเจ้าของแจ้งให้ทราบว่าวัวขาหักเพราะถูกเหยียบ แล้วถามว่าจะทำอย่างไรดี ซึ่งในวันนั้นก็ได้คำตอบว่า เราจะไม่ฆ่าเขา แต่เราจะรักษาเขาให้ดีที่สุดอย่างเต็มกำลังความสามารถ หลังจากตัดสินใจว่ารักษาเขา ผมก็เดินทางจากโรงพยาบาลปศุสัตว์ไปยังบ้านเจ้าของวัวที่เดิมบางนางบวช วันแรกที่ไปพบเขาก็รู้ได้ทันทีว่าเขามีความพยายามจะมีชีวิตอยู่ อาจเป็นเพราะเขามีลูกที่เพิ่งเกิดได้ไม่นานนัก เขาอาจจะเป็นห่วงลูก แม้ขาเขาจะหัก แต่เขาก็พยายามยืนเพื่อให้นมกับลูกอ่อน นี่คือภาพที่ผมเห็นว่าเขาพยายามจะมีชีวิตอยู่ต่อไปให้ได้ เมื่อเห็นเช่นนี้ก็ทำให้ผมและทีมสัตวแพทย์ จุฬาฯ ทุ่มเทความพยายามจะรักษาเขา ตามปกติของวัวขาหักนั้น เขามักจะนอน ไม่ยอมยืน แต่สำหรับแม่วัวตัวนี้เขาอดทนมากไม่เคยแสดงให้เห็นว่ามีอาการเซื่องซึม และเขาพยายามกินอาหาร ดังนั้นในช่วงแรกผมและทีมสัตวแพทย์จึงรักษาแผลของเขาให้สะอาดที่สุด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แล้วหลังจากนั้นอีกประมาณ 2 สัปดาห์ จึงย้ายเขามารักษาที่โรงพยาบาลปศุสัตว์
l แสดงว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้ทีมสัตวแพทย์ จุฬาฯ ตั้งใจรักษาแม่วัวตัวนี้เกิดมาจากความพยายามของแม่วัวที่จะดำรงชีวิตต่อไปให้ได้ โดยเฉพาะการที่เขาพยายามยืนให้นมลูก แต่ถ้าหากทีมสัตวแพทย์เห็นว่าเขานอนโดยไม่ยอมลุกขึ้น ก็หมายความว่าหมดหวังจะรักษา ผมขอถามต่อไปว่า ตามปกติแล้ววัวเนื้อแบบนี้ถ้าหากเกิดปัญหาเช่นเดียวกันแม่วัวตัวนี้ โดยทั่วๆ ไปเจ้าของก็มักจะ put to sleep หรือฆ่าใช่ไหมครับ แต่สำหรับการที่คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ ให้การรักษาพยาบาลแม่วัวตัวนี้จนกระทั่งหายเกือบเป็นปกติก็หมายความว่านี่คือครั้งแรกของเมืองไทย และของโลกพูดแบบนี้เกินความจริงไหมครับ
ผมคิดว่าไม่เกินความจริงครับ เพราะส่วนมากวัวเนื้อที่ขาหักจะไม่ได้รับการรักษาพยาบาล แต่อาจจะไม่ได้ฆ่าทันที แต่อาจจะปล่อยให้อยู่ต่อไปอีกสักพัก แต่
สุดท้ายก็ต้องตายเพราะอาการติดเชื้อ หรือไม่เช่นนั้นเมื่อเจ้าของไม่ต้องการเลี้ยงต่อไป เขาก็จะนำไปฆ่า สาเหตุที่ไม่รักษาวัวควายหรือสัตว์ใหญ่ที่บาดเจ็บก็อาจจะมาจากต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวนมาก และต้องมีทีมสัตวแพทย์และบุคลากรด้านสัตวแพทย์เข้าไปช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด พูดง่ายๆ คือการรักษาสัตว์ใหญ่ด้วยการผ่าตัดดามกระดูกที่หักเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้ความพยายามมาก และต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นหลายคนจึงไม่รักษาสัตว์ใหญ่ที่บาดเจ็บ โดยเฉพาะวัวและควาย เพราะเห็นว่าสิ้นเปลือง รักษาไปก็ไม่คุ้มค่า แต่สำหรับเคสนี้ ผมเห็นว่าเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างคณะสัตวแพทย์ คณะวิศวกรรมฯ จุฬาฯ และหนังสือพิมพ์แนวหน้า แล้วทุกอย่างก็สำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี หลายคนทราบข่าวว่าแม่วัวขาหักได้รับการรักษาจนหายเกือบปกติ ก็ยินดีด้วยกันทุกคน และผมก็เชื่อว่าแม่วัวก็คงยินดีมากเพราะจะได้กลับไปพบกับลูกของเขา
l หมอเต้ดูแลแม่วัวตัวนี้มา 1 ปีเศษ มีปัญหาและอุปสรรคในการรักษาพยาบาลในเรื่องใดบ้างครับ
อุปสรรคอย่างหนึ่งคือ ในเวลาทำแผล ทำความสะอาดแผลของเขา เขาจะไม่ชอบ อาจเป็นเพราะแรกๆเขาไม่คุ้นกับคน และบางครั้งมีอาการหงุดหงิดง่ายดูเหมือนเขาดื้อ แต่ผมก็เข้าใจได้ครับ เพราะเขาอาจจะฝังใจกับการที่เขาถูกทำให้เจ็บในช่วงการผ่าตัดเพื่อดามแผ่นไททาเนียม ซึ่งต้องเจาะกระดูกของเขา เขาคงเจ็บมากแล้วฝังใจว่าเวลาคนพวกนี้มาเข้าใกล้เขา อาจจะทำให้เขาเจ็บอีก แต่เมื่อรักษาเขาต่อเนื่องกัน 2-3 เดือน เขาก็ดื้อน้อยลง และยอมให้เราล้างแผลได้ง่ายขึ้น แต่ก็ยังไม่ค่อยเต็มใจร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะตอนล้างแผล เขาก็เจ็บพอประมาณ เขาจึงไม่ค่อยชอบ แต่เขาก็ไม่เคยทำร้ายผมนะครับ เพียงแต่ดูเหมือนไม่ค่อยเต็มใจให้เข้าไปทำแผลเท่านั้น แรกๆ ก็ต้องค่อยๆ เข้าไปหาเขา ค่อยๆ จับตัวของเขา แล้วก็ต้องพยายามสื่อสารกับเขาว่าเราเข้ามาช่วยเขา ไม่ได้มาทำอันตรายกับเขา ซึ่งผมเห็นว่าเขาเข้าใจเราได้นะครับ
l ผมสังเกตว่าแม่วัวตัวนี้ไม่ชอบให้จับหัว หรือจับใบหน้าของเขา นี่คืออาการปกติทั่วไปของวัวไหมครับเพราะผมสังเกตว่าเวลาผมจะลูบหัวเขา เขาจะสะบัดหัวไปมา เหมือนบอกว่าอย่าจับหัว
ตามปกติวัวจะเป็นสัตว์ที่หวงหน้า เขาไม่ชอบให้ใครไปจับต้องใบหน้าเขา ยกเว้นวัวที่คุ้ยเคยกับคนเลี้ยงมากเป็นพิเศษ แต่ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการเลี้ยงดูตั้งแต่
วัวยังเล็กๆ ด้วยครับ แต่ถ้าวัวที่ไม่คุ้นเคยกับคนอื่นๆเขาก็ไม่ชอบให้คนที่ไม่คุ้นเคยไปจับต้องตัวเขา แต่ถ้าวัวหรือควายตัวไหนคุ้นเคยกับคนมาโดยตลอด เขาก็จะไม่หวงหน้าไม่หวงตัว และจะชอบอยู่ใกล้ชิดกับคน แล้วยอมให้คนจับต้องตัวได้ ดังนั้นจึงเห็นว่าวัวที่คุ้นเคยกับคนเลี้ยงจะยอมให้คนเลี้ยงลูบหัว ลูบตัวได้โดยง่าย บางทีได้ยินเสียงคนเลี้ยงเข้ามาใกล้ๆ ก็จะเดินเข้าไปหาคนเลี้ยง เพราะเขารู้ว่าคนเลี้ยงไม่ทำอันตรายเขา
l หมอเต้ช่วยวิเคราะห์ด้วยครับว่า ตอนนี้แม่วัวเดินได้ปกติไหมครับ คือเดินสี่เท้าได้ปกติไหมครับ
เดินได้ครับ แต่ไม่สามารถลงน้ำหนักได้เต็มที่บนขาข้างที่หัก เพราะแม้กระดูกจะเชื่อมติดกันแล้วก็จริงแต่ก็ยังไม่สามารถรับน้ำหนักของตัวที่หนักกว่า 200กิโลกรัม ได้ เขาอาจจะใช้ขาข้างที่หักเป็นเสมือนเครื่องช่วยทำให้เกิดความสมดุลเมื่อขณะยืน เราจะเห็นว่าแม้ช่วงที่เขาลุกขึ้นยืนนั้น เขาก็ไม่ใช้ขาข้างที่หักเป็นเครื่องดันตัวขึ้นมา เพราะเขาคงรู้ดีว่า หากลงน้ำหนักไปบนขาข้างที่หัก เขาจะเจ็บ คือเขาเรียนรู้ด้วยตัวเขาเองว่า เขาใช้ขาข้างที่หักได้มากน้อยแค่ไหน แต่ต้องชมเชยเขานะครับ เพราะเขาสามารถลุกขึ้นได้ด้วยขาหลังเพียงขาเดียว ซึ่งนับว่าเก่งมาก เพราะเขาตัวใหญ่มีน้ำหนักมาก แต่เขาใช้ขาหลังเพียงขาเดียวพยุงตัวให้ลุกขึ้นได้
l เมื่อเราส่งมอบเขาคืนกลับไปในบ้านที่เขาเคยอยู่ หมอเต้จะต้องกำชับอะไรเป็นพิเศษกับคนที่เลี้ยงดูเขาบ้างครับ เพื่อไม่ให้เขาเกิดอันตรายขึ้นมาอีก
เรื่องแรกก็คือ ต้องดูความสะอาดของแผล เพราะแผลยังหายไม่สนิทร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องรักษาความสะอาดให้มากที่สุด คนดูแลต้องใส่ยาและทำความสะอาดทุกวัน โดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อ และยาทำความสะอาดแผล ซึ่งผมมั่นใจว่าคนดูแลจัดการได้ และที่สำคัญต้องทำให้คอกสะอาด อย่าให้เปียกชื้นสกปรก แล้วต้องแยกเขาไว้
ต่างหาก ห้ามให้อยู่ร่วมกับวัวตัวอื่นๆ เพราะเขาอาจจะถูกวัวตัวอื่นเหยียบขาข้างที่หักอีก แล้วที่สำคัญคือต้องห้ามตัวผู้ขึ้นขี่หรือปีนเพื่อผสมพันธุ์กับเขาเป็นอันขาด เพราะหากถูกปีนแล้ว ขาข้างที่หนักจะไม่สามารถรับน้ำหนักตัวผู้ได้ซึ่งอาจจะทำให้ขาหักได้อีกครั้ง ดังนั้นต้องแยกเลี้ยงครับ ส่วนเรื่องการกินอาหารก็ถือว่าเขากินได้ตามปกติแล้วครับไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง วัวตัวนี้น่ารักตรงที่กินอาหารได้เอง กินเก่งด้วย เมื่อเราเทอาหารให้เขา เขาก็จะเข้าไปกินโดยทันที วัวที่กินได้เอง ยืนได้เอง แม้จะเป็นวัวที่บาดเจ็บ แต่ก็นับว่าเป็นวัวที่เข้มแข็ง และอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป ดังนั้นเราจึงไม่จำเป็นต้องฆ่าเขาทิ้ง เพราะเมื่อเราเห็นชัดเจนว่าเขาพยายามจะมีชีวิตอยู่ให้ได้ เราก็ต้องช่วยกันรักษาเพื่อให้เขามีชีวิตยืนยาวต่อไป
l หมอเต้ครับ case study นี้ ผมถือได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจของคณะสัตวแพทย์ และคณะวิศวกรรม จุฬาฯ ผมขอย้ำเรื่องนี้หลายๆ ครั้ง และเป็นความอิ่มใจของผู้สนับสนุนโครงการนี้ ซึ่งเป็นผู้อ่านแนวหน้าเพราะหลายท่านได้ร่วมกันบริจาคเพื่อการนี้ โดยเฉพาะท่านผู้หญิงหลายท่าน ขออนุญาตไม่เอ่ยนามท่านท่านบอกว่า ขอให้บอกกับหมอด้วยว่า หากจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินเท่าไร ขอให้บอกมาจะยินดีสนับสนุน ขอแค่เพียงให้แม่วัวรอดชีวิตแล้วกลับไปหาลูกได้เท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้เท่ากับเป็นการบอกกับสังคมว่า ความคิดที่เคยเชื่อกันว่าเมื่อวัวควายขาหักต้องฆ่าทิ้งไป เพราะไม่มีใครรักษา ความคิดนี้สมควรได้รับการเปลี่ยนแปลงใช่ไหม เพราะจริงๆ แล้วเรารักษาได้ หากเรายินดีรักษาเขา และอยากจะบอกว่า หากคุณผู้อ่านทราบว่ามีเคสเช่นนี้เกิดขึ้น ก็ขอให้แจ้งหนังสือพิมพ์แนวหน้าหรือแจ้งที่คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ เรายินดีหารือร่วมกันและยินดีรักษาวัวควายที่บาดเจ็บ เพื่อให้เขามีชีวิตต่อไป
ครับ สัตว์ทุกชนิดรักตัว กลัวตาย และพยายามหนีจากการถูกกระทำให้เจ็บปวดทั้งนั้นครับ สัตว์ทุกตัวรักชีวิตของเขา ไม่ต่างไปจากคน ทีมสัตวแพทย์จะพิจารณาก่อนให้การช่วยเหลือสัตว์บาดเจ็บว่า เขาทรมานมากไหมหากต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป ถ้าเขาอยู่ต่อไปได้โดยไม่ทรมานมากจนเกินเหตุ สัตวแพทย์ จุฬาฯ ก็ยินดีช่วยเหลือพวกเขาทุกชีวิต การที่เขายังสามารถดำรงชีวิตได้ ยังกินอาหารได้ผมว่าเขาก็ยังมีโอกาสที่จะอยู่ต่อไปได้
l หมอช่วยประเมินค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเคสนี้ด้วยครับ
ทั้งหมดนี้ต้องบอกว่าเป็นเงินหลายแสนครับ แต่ก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกลุ่มผู้อ่านแนวหน้า แล้วก็ได้รับความร่วมมือร่วมไม้อย่างดีจากคณาจารย์ในคณะสัตวแพทย์ และคณะวิศวกรรม จุฬาฯ บางอย่างทางคณะก็ไม่ได้คิดค่าบริการ แต่ส่วนที่คิดค่าบริการก็คิดในราคาที่เป็นต้นทุนการทำงานจริงๆ ส่วนพวกหมอไม่ได้คิดค่าบริการอะไรเลยครับ ซึ่งทางอาจารย์และนิสิตคณะวิศวกรรมฯ ก็ช่วยเหลือในการทำงานนี้เป็นอย่างดีเมื่อผลออกมาสำเร็จเราทุกคนก็ภาคภูมิใจ และอิ่มเอมใจครับ การทำงานแบบนี้ต้องอาศัยทั้งแรงสนับสนุนด้านการเงิน ผสมกับความตั้งใจจริงครับ เราไม่พยายามพูดเรื่องเงิน แต่เราคิดเพียงว่าเราต้องการช่วยเขาให้มีชีวิตอยู่รอดต่อไป ผมเห็นว่าทุกคนทำงานด้วยใจมากกว่าครับ เมื่อเรามีความตั้งใจจริงแล้ว ทุกอย่างก็ประสบความสำเร็จได้ แม้จะมีอุปสรรคบ้าง แต่เราก็เอาชนะอุปสรรคได้ครับ โดยส่วนตัวของผมเอง ผมดีใจมากที่เขาได้กลับบ้านกลับไปหาลูกของเขา ส่วนทางเจ้าของวัวที่รับวัวไปเลี้ยงก็โทรศัพท์หาผมเป็นประจำถามว่าวัวเป็นอย่างไรบ้างหายหรือยัง เมื่อผมบอกว่าหายเกือบดีแล้ว และจะส่งกลับบ้านได้แล้ว เมื่อเจ้าของได้ยินเขาก็ยินดีมาก เขาคงผูกพันกันด้วยครับ ผมขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านที่มีส่วนช่วยให้วัวตัวนี้หายเป็นปกติ
l โครงการไถ่ชีวิตโคกระบือจากโรงฆ่าสัตว์ แล้วมอบให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงดู ซึ่งดำเนินโครงการโดยหนังสือพิมพ์แนวหน้า และได้รับการอนุเคราะห์เรื่องสวัสดิภาพสัตว์จากคณาจารย์คณะสัตวแพทย์ และบรรดาสัตวแพทย์ของจุฬาฯ เป็นโครงการที่เราดำเนินการมาแล้วเกือบ 6 ปี ไถ่ชีวิคโคกระบือมาแล้ว 55 ตัว โครงการนี้ยินดีมอบสัตว์ให้ผู้ที่พร้อมนำไปเลี้ยงดู แต่ต้องทำสัญญากับหนังสือพิมพ์แนวหน้าก่อน โดยมีเงื่อนไขคือห้ามขายต่อ ห้ามฆ่าโดยเด็ดขาด หากผิดสัญญาจะถูกดำเนินคดีอาญา ผมขอเรียนถามหมอเต้ว่า มีบางคนบอกว่าไม่ได้เป็นเกษตรกร แต่อยากรับสัตว์ไปเลี้ยง หมอเต้จะแนะนำอย่างไรครับ
อันดับแรกคือคนที่จะรับไปเลี้ยงดูต้องดูว่าตนเองมีความพร้อมหรือไม่ มีที่ดิน มีคอก มีที่อยู่ให้เขาหรือไม่ มีอาหารการกินให้เขาหรือไม่ มีคนดูแลหรือไม่ และต้องศึกษาหาความรู้ในการเลี้ยงดูสัตว์ก่อนนำไปเลี้ยงด้วยต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าเราดูแลเขาได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่เพราะการที่เรารับเขาไปเลี้ยงดูก็หมายถึงเราต้องรับผิดชอบต่อชีวิตของเขาด้วย หากคุณมีความพร้อมจริงๆ ก็โปรดติดต่อหนังสือพิมพ์แนวหน้า โดยติดต่อโดยตรงที่อาจารย์เฉลิมชัย หมายเลขโทรศัพท์ของแนวหน้าคือ091-7233615 ผมฝากทิ้งท้ายว่า หากคุณสนใจร่วมโครงการนี้ก็สามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์เดียวกันครับ
คุณสามารถพบรายการดีที่ครบครันด้วยสาระและความบันเทิง รายการ แนวหน้าวาไรตี้ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา16.00-16.25 น. ทางโทรทัศน์ TNN2 ช่อง 784 ดิจิทัลทีวี หรือ True Visions 8 และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTubeผู้หญิงแนวหน้า by คุณแหน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี