โบราณสถานที่สิรกับ
ในชมพูทวีปนั้น ไม่มีใครไม่รู้จัก “ตักศิลา” ซึ่งเป็นเมืองอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียโบราณคือรัฐปัญจาบ ในอดีตนั้นเป็นมหาวิทยาลัยและศูนย์กลางของศิลปวิทยาการมาก่อนพุทธกาล และสมัยพุทธกาลนั้นมีสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์สั่งสอนศิลปวิทยาต่างๆ ให้ศิษย์ที่มาเล่าเรียนในดินแดนชมพูทวีป มีบุคคลสำคัญหลายคนที่สำเร็จการศึกษาจากตักศิลา เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศล หมอชีวกโกมารภัจจ์ องคุลีมาล เป็นต้น อาทิตย์นี้ยังขอตามรอยหาอารยธรรมโบราณกันต่อไปยังกรุงอิสลามาบัดของปากีสถาน โชคดีที่มีพิพิธภัณฑ์ตักศิลา รวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับความเป็นอยู่และภูมิปัญญาของชาวตักศิลาในยุคต่างๆ ไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ ทำให้ได้เรียนรู้จากซากสถูปเจดีย์ วัดวาอาราม และปฏิมากรรม แบบศิลปะคันธาระ ที่มีจำนวนมาก
คณะผู้ศึกษาที่ตักศิลา
เมืองตักศิลาแห่งนี้เป็นนครหลวงของแคว้นคันธาระ ซึ่งเป็นหนึ่งใน ๑๖ แคว้น ของชมพูทวีปก่อตั้งโดยชาวอารยันยุคแรก และดำรงอยู่ภายใต้อารยธรรมที่หลากหลาย คือ อารยธรรมกรีก โดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช อารยธรรมฮินดูของหลายราชวงศ์ และสมัยพุทธกาลนั้นพระเจ้าอโศกมหาราชมีได้สร้าง ตักศิลา ให้มีชื่อเสียงพร้อมกับทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำแคว้นและสร้างความรุ่งเรืองมานับพันปี โดยมีศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ ที่สอนกันสำนักตักศิลาคือ ๑.ไตรเพท : พระเวท (Vedas) ฤคเวท (Rigveda)อำนาจแห่งเทวะ และประวัติการสร้างโลก ยชุรเวท(Yajurveda) สวดสรรเสริญเทพเจ้า สามเวท(Samaveda) พิธีกรรมต่างๆ ทั้งการบูชาและการบวงสรวง ๒.สรีรศาสตร์ (Sharira) วิชาพิจารณาลักษณะส่วนต่างๆ ของร่างกาย ๓.สังขยาศาสตร์(Samkhya) วิชาคำนวณ ๔.สมาธิศาสตร์ (Samadhi) วิชาทำจิตให้แน่วแน่ ๕.นิติศาสตร์ (Niti) วิชาเกี่ยวกับกฎหมาย
เจดีย์ที่โมหรา มูราดู
๖.วิเสสิกศาสตร์ (Vaisheshika) วิชาแยกประเภทคนและสิ่งของ ๗.โชติยศาสตร์ (Jyothisha)วิชาทำนายเหตุการณ์ทั่วไป ๘.คันธัพพศาสตร์(Gandharva-veda) วิชาฟ้อนรำและดนตรี ๙.ติกิจฉศาสตร์(Chikitsa) วิชาแพทย์ ๑๐.ปุรณศาสตร์ (Puranas)วิชาโบราณคดี ๑๑.ศาสนศาสตร์ (Sasana) วิชาการศาสนา ๑๒.โหราศาสตร์ (Hora) วิชาเกี่ยวกับการทำนาย ๑๓.มายาศาสตร์ (Maya) วิชากล ๑๔.เหตุศาสตร์ (Hetu) วิชาค้นหาเหตุ ๑๕.วันตุศาสตร์ (Vantu) วิชาคิด๑๖.ยุทธศาสตร์ (Vyuha) วิชาการรบ ๑๗.ฉันทศาสตร์(Chandas)วิชาแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน๑๘.ลักษณะศาสตร์ (Lakshana) วิชาดูลักษณะคนซึ่งถือเป็นภูมิศิลปวิทยาการความรู้ของโลกจากตักศิลาที่ยังสืบต่อมาจนทุกวันนี้
พ.ศ.๒๙๖-๔๓๔ อักษรคันธารี-ขโรษฐี
ต่อมาคริสต์ศตวรรษที่ ๕ นั้น ชนชาติเฮฟทาไลต์ (Hephthalite) ได้ยกทัพมาตีอินเดียและทำลายพระพุทธศาสนา ทำให้เมืองตักศิลาพินาศสูญสิ้นแต่บัดนั้นมา ปัจจุบันตักศิลาได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ ๔เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสจากการที่เป็นสิ่งยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้วและมีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์ด้วยดินแดนนี้ได้รับวัฒนธรรมอินเดียและผสมกับวัฒนธรรมกรีกไซเธียน ปาร์เธียน และกุษาณะ ซึ่งอยู่รอบคันธาระจนเป็นเหตุให้เกิดศิลปะแบบคันธาระ และภาษาคันธารีซึ่งมีการค้นพบใน เมืองโขตาน เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีน นอกจากนั้นยังพบคัมภีร์ใบลานและเปลือกไม้ เก็บไว้ที่ภาควิชาตะวันออกศึกษาณ สถาบันวิทยาศาสตร์กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ ปารีส ประเทศฝรั่งเศส คัมภีร์ที่พบในอัฟกานิสถานว่าด้วยเรื่องปฐมเทศนา คำสวดมนต์เป็นต้น เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกรุงคาบูลอัฟกานิสถาน จากนั้นยังปรากฏตามฝาผนังถ้ำมีรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเจริญสมาธิภาวนา ห่มผ้าสีขาวอมเหลืองด้วย ซึ่งเป็นหลักฐานของวิทยาการความรู้จากอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี