พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2562 ในวันที่ 30 มกราคม 2563 เวลา 17.30 น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พร้อมทั้งพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล พร้อมคู่สมรส ในวันเดียวกัน ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
ในปี 2562 ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู
บาร์เทนชลากเกอร์ (Professor Dr.Ralf F.W. Bartenschlager) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีผลงานสำคัญทางการศึกษาเกี่ยวกับวงจรชีวิตของไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C Virus หรือ HCV) ซึ่งนำไปสู่องค์ความรู้ในการพัฒนายาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง มีความจำเพาะและปลอดภัย และสาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ เดวิด เมบี (Professor David Mabey) สหราชอาณาจักร ได้ค้นพบว่าการให้ยาเอซิโทรมัยซิน (azithromycin) เพียง 1 ครั้ง สามารถรักษาโรคริดสีดวงตาอย่างได้ผลและการให้ยาเอซิโทรมัยซินแบบครอบคลุมประชากรจำนวนมาก สามารถช่วยกำจัดโรคนี้ให้หมดไปได้ในถิ่นที่เป็นแหล่งระบาดของโลก
เมื่อ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินถึงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ อ่านประกาศสดุดีเกียรติคุณและกราบบังคมทูลเบิกผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2562 เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัลตามลำดับ จากนั้นในช่วงค่ำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปีพ.ศ.2562 พร้อมด้วยคู่สมรส ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปี
ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2562 ทั้งสิ้น 66 ราย จาก 35 ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาและนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้าย
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2562 (ซ้าย) ศ.นพ.เดวิด เมบี และศ.ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ ถ่ายภาพกับเหรียญรางวัลและประกาศนียบัตร
ด้านผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2562 ทั้ง 2 สาขา ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไทย โดย สาขาการแพทย์ ศาสตราจารย์ ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ (Professor Dr.Ralf F.W. Bartenschlager) หัวหน้าภาควิชาโรคติดเชื้อ อณูไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก และหัวหน้าหน่วยไวรัสที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง สถาบันวิจัยมะเร็งแห่งเยอรมนี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนทีมคณะทำงานรู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจที่ได้รับรางวัลนี้ อุปสรรคในการทำงานมี 2 เรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรกคือ การค้นหาวิธีเพาะเลี้ยงเซลล์ในช่วงแรกซึ่งยาก ต้องใช้เวลาถึง7 ปีกว่าจะสำเร็จ และอีกปัญหาสำคัญคือ การจะทำอย่างไรให้ทีมงานไม่ท้อถอยและมีความมุ่งมั่นจนท้ายที่สุดก็ประสบความสำเร็จสามารถค้นพบยาแอนตี้ไวรัสชนิดนี้ได้ และในอนาคตอยากรักษาคนให้มากกว่านี้และทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้นด้วยการทำให้ราคายาถูกลง และอีกโรคที่ทางคณะทำงานให้ความสนใจและอยากศึกษาเพิ่มเติมคือ โรคไข้เลือดออก เพราะมองว่าเป็นโรคร้ายที่จำเป็นต้องหาทางรักษา
ในส่วนของไวรัสโคโรนาที่กำลังระบาดในขณะนี้ หัวหน้าภาควิชาโรคติดเชื้อ อณูไวรัสวิทยา แนะนำว่า ไม่ควรตื่นตระหนกตกใจ เพราะเป็นการแพร่ระบาดของไวรัสตัวใหม่ที่ติดต่อระหว่างสัตว์มาสู่มนุษย์ และมนุษย์สู่มนุษย์ เริ่มต้นที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งในขณะนี้มีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตยังไม่เกิน 2% เมื่อเทียบกับโรคซาร์สและเมอร์ส มีความรุนแรงน้อยกว่าเยอะ ซึ่งมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ การป้องกันการเคลื่อนย้ายผู้มีโอกาสติดเชื้อให้อยู่กับที่มากที่สุด ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีมาตรการที่รัฐบาลประกาศชัดเจนอยู่แล้ว คอยดูอย่างใกล้ชิดสำหรับผู้ที่มาจากประเทศจีน มีการตรวจสอบวัดไข้ เฝ้าดูอาการ ส่วนพวกเราทุกคนต้องคอยดูแลตัวเองด้วยการล้างมือบ่อยๆ อย่าเอามือไปสัมผัสดวงตา ถ้าไม่แน่ใจควรสวมใส่หน้ากากอนามัย ทั้งนี้ เป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนต้องทำอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องคอยติดตามสถานการณ์ของโรคต่อไป และเชื่อว่าจะค้นพบวัคซีนที่สามารถรักษาโรคนี้ได้ในเร็ววันนี้
ขณะที่ สาขาการสาธารณสุข ศาสตราจารย์ นายแพทย์เดวิด เมบี (Professor David Matey) ศาสตราจารย์สาขาโรคติดต่อ และภาควิชาวิจัยคลินิก วิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร เผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ประจำปี 2562 ในสาขาสาธารณสุข ตนได้ศึกษาเกียรติประวัติของพระองค์ท่านเกี่ยวกับวงการแพทย์ไทย และตนเลือกทำวิจัยเกี่ยวกับโรคริดสีดวงตา ซึ่งเป็นโรคของการติดเชื้อที่ทำให้ตาบอดได้บ่อยที่สุด แต่ผู้คนไม่ค่อยสนใจโรคนี้ โดยโรคดังกล่าวเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า “คลามิเดีย ทราโคมาติส” (Chlamydia Trachomatis) ซึ่งทำให้ตาบอดหรือเกิดความพิการทางสายตาได้มากถึงปีละ 2 ล้านคนทั่วโลก การติดเชื้อแพร่กระจายได้โดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากตาหรือจมูกของผู้ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่มีสุขอนามัยไม่ดี ประชากรอยู่อย่างหนาแน่น และไม่มีแหล่งน้ำสะอาดที่เข้าถึงได้เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ก่อนพบตัวยารักษานี้ ผู้ป่วยโรคริดสีดวงตาต้องป้ายยาที่ตาวันละ 2 ครั้ง ทำให้ไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่องภายหลังทำวิจัยจนพบยารักษา ทำให้ทุกคนได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงและสามารถช่วยเหลือคนในประเทศที่กำลังพัฒนาได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี