ปัจจุบันผู้หญิงไม่ถูกตีกรอบหรือจำกัดรูปแบบการทำงานที่ต้องอยู่ในออฟฟิศ หรือในร่มแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จะเห็นว่ามีผู้หญิงเก่ง ในหลากหลายวงการที่ทำงานได้อย่างคล่องแคล่วและเข้มแข็งเทียบเท่าผู้ชาย เช่นเดียวกับสายอาชีพ “วิศวกร” ที่แต่เดิมหลายคนมักมีภาพจำว่าเป็นสายอาชีพสำหรับผู้ชาย ด้วยกรอบการทำงานที่ต้องลงพื้นที่ทำงานกลางแจ้ง ต้องคุมโครงการก่อสร้างหามรุ่งหามค่ำ อีกทั้ง มีตำแหน่งงานรองรับ และความก้าวหน้าทางอาชีพที่มากกว่า แต่ในปัจจุบัน “วิศวกรชาย” และ “วิศวกรหญิง” สามารถทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ อีกทั้ง ยังมีโอกาสเติบโตในเส้นทางอาชีพได้อย่างเท่าเทียม
รองศาสตราจารย์ พูลพร แสงบางปลา กรรมการจรรยาบรรณ สภาวิศวกร นายกกิตติมศักดิ์สมาคมวิศวกรยานยนต์ไทย นายกสมาคมวิศวกรหญิงไทยคนแรก ประธานกลุ่มชิ้นส่วนและยานยนต์ ASEAN และหนึ่งในทีมทดลองวิจัยพลังงานทดแทนในเครื่องยนต์ เผยถึงบทบาทการทำงานในฐานะวิศวกรหญิงว่า ไม่มีคำว่ายาก หากนำความรู้ที่ได้ศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยตลอด 4 ปี มาประยุกต์ใช้ในโลกของการทำงานได้อย่างเหมาะสม ภายใต้การยึดมั่นในจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ซึ่งสิ่งสำคัญสำหรับวิศวกรรุ่นใหม่จะต้องเรียนรู้รอบด้าน เพื่อก้าวให้ทันกับยุคอุตสาหกรรม 4.0 ต้องไม่เก่งเฉพาะวิชาที่เรียนมาเท่านั้น ต้องศึกษาศาสตร์วิศวกรรม ทั้งวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมอุตสาหการ หรือกระทั่งหลักการบริหารงาน การบริหารคน และการบริหารเงิน
“ความท้าทายของผู้หญิงในอาชีพวิศวกรสำหรับตัวเองแล้ว เริ่มตั้งแต่การตัดสินใจก้าวเข้าสู่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2500 ถือว่าเป็นผู้หญิงคนเดียวในคณะ ทำให้ต้องมีความมานะ อดทน เพื่อพิสูจน์ถึงความเป็นผู้หญิงสามารถประกอบอาชีพวิศวกรได้ เมื่อเรียนจบการศึกษาก็ได้ทำอาชีพวิศวกรอย่างเต็มตัว เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น จากนั้นก็ตัดสินใจผันตัวเองสู่การเป็นอาชีพเรือจ้าง โดยเป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อปลุกปั้นบุคลากรที่มีคุณภาพประดับวงการ”
จากการทำงานมาตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ พูลพร มีผลงานมากมายนับไม่ถ้วน โดยผลงานที่ชื่นชอบและสร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเอง คือการทดลองวิจัยพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่วิจัยพลังงานทดแทน อาทิ แก๊สแอลพีจี (LPG) ซีเอ็นจี (CNG) เอทานอล (Ethanol) และไบโอดีเซล (Biodiesel) จนทำให้ทุกวันนี้ประเทศไทยใช้พลังงานทดแทนต่างๆ ตามงานวิจัยของอาจารย์ รวมทั้งระบบไอเสีย จึงได้รับการขนานนามว่า “หญิงแกร่งแห่งวงการยานยนต์” และยังคงมุ่งมั่นปลุกปั้นบุคลากรวิศวกรไทย เพื่อทำงานช่วยเหลือสังคมและพัฒนาประเทศไทยให้มีความยั่งยืนต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภมาศ สุชาตานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หรือ TSE (Thammasat School of Engineering) กล่าวถึงจุดเปลี่ยนของการทำงานในสายวิศวกรหญิง สู่เส้นทางของการศึกษาว่า เกิดจากความต้องการในการส่งต่อองค์ความรู้ ด้านวิศวกรรมอุตสาหการ ให้เกิดขึ้นในวงกว้างยิ่งขึ้น ผ่านเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีแพสชั่นในการเป็น “วิศวกร” นอกเหนือจากการเป็นฟันเฟืองหนึ่ง ในการวางแผนการบริหารจัดการ คำนวณต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ การวางผังโรงงาน การควบคุมกระบวนการผลิต และอื่นๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการยกระดับศักยภาพของโรงงานสายการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งความรู้ในสาขาดังกล่าว สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานได้ในหลากมิติ ควบคู่ไปกับการปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง และไม่หยุดเรียนรู้เทคโนโลยีหรืออัพเดตเทรนด์ใหม่ๆ
อย่างไรก็ตาม แม้การทำงานในอดีตของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภมาศ ในฐานะวิศวกรหญิงประจำโรงงานสายการผลิต จะต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านการทำงานในบางประการ อาทิ การลงพื้นที่ทำงานในต่างจังหวัด การประสานและควบคุมการทำงานของช่างเทคนิคในฝ่ายต่างๆ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่า “เรื่องเพศ ทั้งเพศหญิง และเพศที่สาม (LGBTQ) มิใช่ข้อจำกัดในการทำงานสายวิศวฯ ในปัจจุบัน เพราะหากคุณสามารถแสดงศักยภาพเป็นที่ประจักษ์ได้ หรือทำงานที่ได้รับมอบหมายได้เป็นอย่างดี เมื่อนั้นคุณก็จะได้รับการยอมรับอย่างไร้เงื่อนไข
นางสาวชลธิชา ปิยะศิริศิลป์ วิศวกรประมาณราคา บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่งแอนด์แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) (Team Group) ศิษย์เก่าจากสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงการก้าวสู่เส้นทางอาชีพวิศวกรหญิงว่า การก่อสร้างเป็นหนึ่งในผลงานที่มีรูปธรรมจับต้องได้ จึงวางแผนชีวิตและเลือกศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย ในหลักสูตรวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมกับสอบใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือ ใบ ก.ว. กับสภาวิศวกรทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษา เพื่อเป็นการเบิกทางสู่เป้าหมายอาชีพวิศวกรโยธาหญิงเต็มตัว
“แต่ทั้งนี้ กว่าจะก้าวสู่อาชีพวิศวกรโยธาได้สำเร็จนั้น ต้องใช้ความอดทนสูง โดยสมัยเรียนมหาวิทยาลัยจะมีเพื่อนผู้หญิงที่คณะน้อยมาก อีกทั้ง เพื่อนหลายๆ คน ยังเลือกหันหลังไปในเส้นทางอาชีพอื่นแทน ซึ่งจริงๆ แล้วในรูปแบบการทำงานบางประเภทอย่างการประมาณการก่อสร้างและการวางแผนนั้น ส่วนตัวมองว่าวิศวกรหญิงสามารถทำได้ดีกว่าผู้ชาย ด้วยความที่ผู้หญิงมีความละเอียดอ่อนที่มากกว่า โดยทุกวันนี้ยังรู้สึกสนุกกับการออกดูไซท์งานก่อสร้าง และเชื่อมั่นว่าผู้หญิงก็สามารถทำงานวิศวกรโยธาได้ดีไม่ต่างจากผู้ชาย”
ปิดท้ายที่ นางสาวณัชชา คูณอเนกสิน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เล่าว่า จากความสนใจที่จะศึกษาต่อด้านวิศวกรรมอุตสาหการ ด้วยมองว่าเป็นหลักสูตรที่มีสาขาน่าเรียนหลายแขนง มีกลุ่มงานรองรับมั่นคงและหลากหลาย ทั้งบริษัทและโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้ง ยังเป็นหลักสูตรที่ตอบโจทย์โลกการทำงานในปัจจุบันและอนาคต ที่มีเรื่องของเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. สถาบันที่เข้มแข็งด้านวิศวกรรมศาสตร์ มีกิจกรรมที่กระตุ้นการคิดวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเน้นสร้างประสบการณ์จากการลงมือทำมากกว่าการเลคเชอร์ โดยมีอาจารย์ภาคให้คำปรึกษา จึงทำให้ตนได้สัมผัสและคุ้นเคยกับรูปแบบการทำงานจริง ก่อนเดินทางไปฝึกประสบการณ์ ที่ มหาวิทยาลัยโตไก ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ตนสามารถนำความรู้จาก สจล. ไปปรับใช้ในการฝึกปฏิบัติที่ห้องแลป ประเทศญี่ปุ่น ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในภาคอุตสาหกรรมเช่นกัน
ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดของสมาชิกวิศวกร ที่ขึ้นทะเบียนกับ สภาวิศวกร (COE) เสาหลักของชาติด้านวิศวกรรมนั้นมีจำนวนกว่า 170,000 ราย และกว่า 10% เป็นวิศวกรหญิง ครอบคลุมทั้งสิ้น 7 สาขา ได้แก่ วิศวกรรมโยธา, วิศวกรรมเหมืองแร่, วิศวกรรมเครื่องกล, วิศวกรรมไฟฟ้า, วิศวกรรมอุตสาหการ, วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และวิศวกรรมเคมี โดยผู้สนใจที่จบการศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ใน 7 สาขาดังกล่าว สามารถสมัครเป็นสมาชิกสภาวิศวกร เพื่อสอบ “ใบอนุญาตประกอบอาชีพวิศวกรรมควบคุม” หรือ “ใบ ก.ว.” สู่การรับรองมาตรฐานและศักยภาพการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมได้ที่ สภาวิศวกร ซอยรามคำแหง 39 (เทพลีลา 1) กรุงเทพฯ โดยสามารถติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของสภาวิศวกรได้ที่ สายด่วน 1303 เว็บไซต์ www.coe.or.th หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจwww.facebook.com/coethailand
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี