เพื่อเผยแพร่พระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในด้านการส่งเสริมงานศิลปาชีพด้านผ้าไหมไทย ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ได้จัดทำโครงการปรับปรุงการนำเสนอและการจัดแสดงงานหัตถศิลป์ ณ หอสุพรรณ-พัสตร์ ในปี 2563 พร้อมจัดงานเปิดหอนิทรรศการและกิจกรรมเสวนาพิเศษ “สืบสานงานสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ณ หอสุพรรณ-พัสตร์ ชั้น 2 อาคารศาลาพระมิ่งมงคล ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อเร็วๆ นี้
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ จัดแสดงนิทรรศการชุดใหม่ “สืบสานงานสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง” เรียนรู้พระราชกรณียกิจการส่งเสริมงานหัตถศิลป์ มรดกชาติอันทรงคุณค่าของไทย เพื่อเผยแพร่พระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในด้านการส่งเสริมงานศิลปาชีพผ้าไหมไทย โดยมีนายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เป็นประธานเปิดหอนิทรรศการสุพรรณ-พัสตร์ ที่จัดแสดงผลงานและนำเสนอเรื่องราวภายใต้แนวคิด “สืบสานงานสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ถ่ายทอดเรื่องราวอันเป็นที่มาของพระราชดำริในการนำศิลปหัตถกรรมมาเป็นอาชีพเสริมให้แก่ชาวไร่ชาวนาไทย และนำไปสู่การก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในเวลาต่อมา
ภายในนิทรรศการ “สืบสานงานสมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง” บอกเล่าถึงพระราชกรณียกิจและแนวพระราชดำริสำคัญที่ทรงส่งเสริมฟื้นฟูและปรับปรุงคุณภาพของผ้าไหมไทย อันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการผลิตและการใช้ผ้า จนทำให้ไหมไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยถ่ายทอดผ่านนิทรรศการในโซนต่างๆ ที่บอกเล่าจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมอาชีพการทอผ้าไหมแก่ราษฎร รวมถึงภูมิปัญญาในการทอผ้าไหมอันเป็นงานประณีตศิลป์ที่มีความสวยงามและสะท้อนเรื่องราวประวัติศาสตร์ในแต่ละพื้นถิ่นผ่านลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์
รวมทั้งมีเรื่องราวอันทรงคุณค่าของ 12 สิ่งที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทำให้ไหมไทยเป็นที่นิยม อาทิ การส่งเสริมให้การทอผ้าเป็นอาชีพเสริมของสตรีในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ เพราะอุปกรณ์ในการเลี้ยงไหมและเครื่องไม้เครื่องมือในการทอ สามารถหาได้ในครัวเรือนและในชุมชนสามารถบรรเทาความเดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติได้ การส่งเสริมให้มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และพัฒนาสายพันธุ์ไหมเพื่อให้ได้คุณภาพเส้นไหมที่ดียิ่งขึ้น การพัฒนาคุณภาพของสีย้อม กรรมวิธีการย้อม และการใช้ชุดสีใหม่ๆจนเกิดเป็นผ้ามัดหมี่ที่มีสีสันสวยหวาน ต่างจากมัดหมี่เดิมที่มักมีสีเข้มไม่สว่างสดใส
ที่สำคัญคือ การพัฒนารูปแบบการทอจากเดิมที่ผ้าไหมจะมีหน้าผ้าที่มีความสั้นยาวหลากหลายตามความกว้างของกี่ โดยทรงแนะนำให้ปรับเปลี่ยนขยายความกว้างของหน้าผ้าให้เป็นมาตรฐานประมาณเมตรเหมือนกัน รวมถึงทรงมีพระราชดำริให้ทอผ้าพื้นและผ้าลายมัดหมี่ในผืนเดียวกัน โดยใช้เส้นยืนและเส้นพุ่งที่ย้อมในคราวเดียวกัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เองที่ทำให้ผ้าไหมไทยมีการนำมาตัดเย็บเป็นชุดสำหรับสวมใส่อย่างแพร่หลาย เป็นต้น
ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำชมนิทรรศการ “สืบสานงานสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง” พร้อมให้ข้อมูลว่า นับแต่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรครั้งแรกในท้องที่ชนบททางภาคอีสานในปี พ.ศ.2498 จึงทอดพระเนตรเห็นสตรีชาวบ้านนุ่งผ้าซิ่นไหมงดงามมาเฝ้าฯรับเสด็จอยู่แทบทุกพื้นที่ จึงทรงประทับใจในความงามของผ้าไหมมาตั้งแต่ครั้งนั้น และเห็นว่าการทอผ้าเป็นภูมิปัญญาและสิ่งที่ชาวบ้านคุ้นเคย
อีกทั้งสิ่งที่ทรงรับฟังจากราษฎรมานั้นได้ซึมซาบอยู่ในพระราชหฤทัยว่า “ราษฎรส่วนใหญ่ของประเทศในเวลานั้นเป็นเกษตรกร ฝากชีวิตไว้กับดินฟ้าอากาศ ยามใดที่ดินฟ้าอากาศไม่อำนวย เกษตรกรก็ต้องเดือดร้อน ลำบาก และส่วนใหญ่ก็เป็นหนี้สินหลายคนทิ้งถิ่นทำมาหากินในจังหวัดใหญ่ๆ”
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงทรงมีพระราชดำริและทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ จัดหาอาชีพเสริมให้แก่เกษตรกรเหล่านี้ โดยเป็นอาชีพที่จะประกอบอยู่ที่บ้านได้ในเวลาที่ว่างจากการทำไร่ทำนา หรือเมื่อดินฟ้าอากาศไม่อำนวยให้เพาะปลูก หรือแม้แต่ผู้ไม่มีที่ดินก็จะสามารถประกอบอาชีพเสริมนี้ได้ด้วยทรัพยากรธรรมชาติหรือวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตน และด้วยภูมิปัญญาตลอดจนด้วยฝีมือของเขาเอง
ภายในงานมีการจัดเสวนาพิเศษ “สืบสานงานสมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง” โดยวิทยากรผู้มากประสบการณ์ได้แก่ กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสาร VOGUE Thailand, อัครชญ แก้วอาภรณ์ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายนิทรรศการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด, ตรีชฎา เพชรรัตน์ นักแสดงที่หลงใหลในผ้าไทย มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ และดำเนินการเสวนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสาร VOGUE Thailand กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงส่งเสริมการใช้ผ้าไหมไทยด้วยการนำมาทำเป็นฉลองพระองค์ ซึ่งถือเป็นการทำการตลาด และทำให้คนไทยได้เห็นและซึมซับ ทั้งยังทรงเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ดีไซเนอร์ไทยในการนำผ้าไหมไทยและผ้าไทยมาออกแบบทำเสื้อผ้า
อีกทั้ง ตนเองได้คลุกคลีกับผ้าไหมไทยมาพอสมควรและทุกๆ ปีที่มีการจัดงาน Vogue Gala ได้นำผ้าไหมจากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพฯ ส่งไปให้ดีไซเนอร์ชื่อดังต่างประเทศออกแบบชุด เมื่อทุกคนเห็นชุดผ้าไหมไทยต่างพากันทึ่งในฝีมือการทอผ้าของคนไทย ผมจึงอธิบายไปว่า ในแถบภาคอีสานการทอผ้านั้นอยู่ในสายเลือดของคนไทยมาแต่บรรพบุรุษและสิ่งสำคัญอย่างที่ BBC ได้เคยบอกไว้ว่า การทอผ้าแบบโบราณยังคงอนุรักษ์อยู่ได้นั้น เป็นเพราะพระองค์ท่านทรงชุบชีวิตขึ้นมาใหม่
ด้าน อัครชญ แก้วอาภรณ์ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายนิทรรศการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด กล่าวว่า ได้เห็นพัฒนาการของผ้าไหม และได้เห็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ใช้ผ้าไทยในชีวิตประจำวัน จากเดิมที่เกิดคำถามจากคนส่วนหนึ่งว่า คนใช้ผ้าไทย คือคนแก่ แต่ปัจจุบันหลายหน่วยงานได้มีการส่งเสริมการใช้ผ้าไทยในหลากรูปแบบ ทำให้เยาวชนได้รู้จักการใช้ผ้าไทยและออกแบบการแต่งกายด้วยผ้าไทยในวาระต่างๆ ในสไตล์ของตนเอง และการที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของผ้าไทย จากผ้านุ่งมาเป็นการทอเป็นพับ ได้ทำให้มีการนำผ้าไทยมาใช้ในวงกว้างขึ้น ไม่ว่าจะนำมาตัดเป็นชุดราตรี กระเป๋า หรือนำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
ด้าน ปอย-ตรีชฎา เพชรรัตน์ นักแสดงชื่อดังที่หลงใหลในผ้าไทย เล่าว่า ได้เห็นพระราชกรณียกิจของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงเกิดความชื่นชอบและหลงใหลในผ้าไทยและเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง เมื่อนำไปสวมใส่ ชาวต่างชาติที่เห็นต่างพากันตกตะลึง เพราะเขามองว่าผ้าไทยเป็นลักชัวรี่ อิน อาร์ต เป็นงานศิลป์ที่สืบสานต่อยอดจากบรรพบุรุษ มีลวดลายที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ถ้าคนรุ่นหลังไม่สนใจ ไม่เห็นคุณค่าก็จะสูญเปล่าและจะหายไป ตนเองจึงนำผ้าไทยมาสวมใส่ให้คนไทยและคนต่างชาติได้เห็นว่า ผ้าไทยของเรานั้นเมื่อนำมาตัดเย็บออกแบบให้เป็นสมัยใหม่ก็งดงาม สามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT มีพันธกิจในการเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ และอนุรักษ์สืบสานคุณค่าศิลปหัตถกรรมไทย โดยสร้างค่านิยมและความตระหนักในคุณค่าให้แก่งานศิลปหัตถกรรม จึงได้มีการจัดแสดงนิทรรศการที่สะท้อนถึงความงามของงานหัตถศิลป์ไทยในมิติต่างๆ ผ่าน 6 หอนิทรรศการ ได้แก่หอศิลปาชีพ, หอหัตถศิลป์ระหว่างประเทศ,หอเกียรติยศ, หอสุพรรณ-พัสตร์, หอนวัตศิลป์ และหอนิทรรศการโขน ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของงานศิลปหัตถกรรมทรงคุณค่าของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
มาร่วมชื่นชมเรื่องราวอันทรงคุณค่าของ 12 สิ่งที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงทำให้ผ้าไหมไทยเป็นที่นิยมและการจัดแสดงผ้าแพรวา ผ้าไหมมัดหมี่ผ้าปักไหมน้อย และผ้าปักชาวเขา พร้อมตัวอย่าง พันธุ์ไหม ที่นำเสนออย่างร่วมสมัยเสริมสร้างประสบการณ์ผสานองค์ความรู้ผ่านนิทรรศการ “สืบสานงานสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ณ หอสุพรรณ-พัสตร์ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายบริหาร องค์ความรู้ และนิทรรศการ โทร.035-367054 ต่อ 3108 หรือ SACICT Call Center 1289
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี