หน้าที่ของผู้อำนวยการโรงพยาบาลคือ ทำให้หมอและเจ้าหน้าที่ทุกคนในโรงพยาบาลทำงานได้เต็มศักยภาพ และมีความสุขในการทำงานมากที่สุด เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนที่ไปรับบริการ
แนวหน้าวาไรตี้สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย นำคุณไปสนทนากับ นายแพทย์ชาญชัยจันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่นเพื่อให้คุณได้ทราบถึงแนวทางการแก้ปัญหาการขาดทุนสะสมของโรงพยาบาล และการทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเข้าไปแออัดอยู่ในโรงพยาบาลประจำจังหวัด (หมายเหตุ สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563)
l คุณหมอครับ ในแต่ละปีมีคนไข้เข้ามาใช้บริการของโรงพยาบาลมากน้อยเพียงใดครับ
นพ.ชาญชัย : จากสถิติโดยประมาณคือคนมีไข้นอกเข้ามาใช้บริการ 1 ล้านครั้ง ส่วนคนไข้ใน 1 แสนครั้ง
l ได้ข่าวว่าโรงพยาบาลนี้เคยติดลบหนักมากจนเกือบจะไม่มีเงินบริหารงานต่อไป แต่คุณหมอสามารถพลิกสถานการณ์ได้ในเวลาที่รวดเร็ว ใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างไรครับ
นพ.ชาญชัย : ใช่ครับ โรงพยาบาลนี้เคยประสบปัญหาการเงินที่หนักมากมาก่อน ก่อนอื่นขออนุญาตเล่าให้ฟังว่าโรงพยาบาลแห่งนี้มีสถานะอย่างไร โรงพยาบาลของแก่นเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ที่ต้องดูแลประชาชนในอีก 3 จังหวัด คือ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ รวมประชากรที่เราต้องดูแลคือ 5 ล้าน แต่ก็มีพี่น้องจากชัยภูมิ อุดรธานี และสกลนคร โดยเฉพาะพี่น้องที่อาศัยในเขตเชื่อมต่อตะเข็บจังหวัดที่ใกล้กับเราเข้ามารับบริการที่เราด้วย ส่วนใหญ่ผู้ที่มารับบริการจากเราก็มักจะป่วยเป็นโรคที่ค่อนข้างร้ายแรง ซึ่งโรงพยาบาลอื่นจำเป็นต้องส่งมารักษาต่อที่เรา เพราะเราเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งมีหมอเฉพาะทางที่รักษาโรคร้ายโดยเฉพาะ เช่น หมอรักษาโรคกระดูกเฉพาะเด็ก หมอที่เชี่ยวชาญการผ่ากระดูกสันหลัง หมอเชี่ยวชาญด้านผ่าตัดสมอง เป็นต้น แต่ในโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ดูแลของเราจะมีหมอที่เฉพาะทางในโรคเบื้องต้นเท่านั้น แต่สำหรับโรงพยาบาลขอนแก่นจะมีหมอผู้เชี่ยวชาญที่เจาะลงไปโดยเฉพาะ ดังนั้น เราจึงต้องดูแลคนป่วยที่มีอาการหนักมากๆ หรือป่วยด้วยโรคที่ร้ายแรงมากๆ ส่วนประเด็นที่เราประสบปัญหาการเงินอย่างหนักก็คือ เราเคยติดลบทางบัญชีจนไม่สามารถจะสั่งยาได้เกิน 30 วัน ซึ่งเราก็ต้องแก้ปัญหานี้ให้กับหมอเพราะหมอจะรักษาคนไข้ได้ดีก็ต้องมียาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น รวมถึงต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ดีและทันสมัยในการรักษา ทุกคนทราบดีว่าราคาเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยแพงมาก แต่เราก็ต้องหามาให้ได้ เพื่อให้หมอทำงานได้โดยมีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วงที่ผมย้ายมารับหน้าที่ใหม่ๆ โรงพยาบาลติดลบอยู่เกือบ 300 ล้านบาท เราก็ต้องระดมสมองร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เราประเมินตัวเองว่าเรามีศักยภาพด้านไหน แล้วจะแปรมันเป็นเงินได้อย่างไร เช่น เรามีผู้เชี่ยวชาญระดับสูงที่สามารถรักษาคนไข้ได้ดีถ้าเรามีคนไข้มาก เราก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ปัญหาคือในหลายครั้งเราไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนต่างๆ ได้ เช่น กองทุน สปสช. กองทุนข้าราชการ กองทุนประกันสังคม แต่เราก็ต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องมาดูว่าเราลดรายจ่ายอะไรได้บ้าง สิ่งแรกที่ผมดูคือใน 50-100 รายการแรก ของรายจ่ายนั้นอะไรที่เราสามารถลดลงได้บ้าง เราวิเคราะห์กันว่าทำไมจึงใช้จ่ายในสิ่งนั้นๆ มาก และจะลดรายจ่ายได้อย่างไร เราสามารถเปิดแข่งขันเพื่อประกวดราคาจัดซื้อที่เป็นธรรมและโปร่งใสได้ เราก็ค่อยๆ ทำตรงนี้จนสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก ยกตัวอย่างคือโรงพยาบาลใช้ออกซิเจนเหลวปีหนึ่ง 2 ล้านยูนิตเราจึงเชิญชวนให้บริษัทขายสินค้าตัวนี้เข้ามาประมูลแข่งขันกัน จนทำให้เราสามารถประหยัดค่าออกซิเจนเหลวได้มาก คือจากยูนิตละ 9.50 บาทเหลือ 3.94 บาท ปีหนึ่งประหยัดได้ 11 ล้านบาท และอีกตัวอย่างหนึ่งคือเรื่องการซื้อไข่เพื่อประกอบอาหารในโรงพยาบาล ตามปกติไข่มีการปรับราคาขึ้นลงตามฤดูกาล ดังนั้นแทนที่เราจะประมูลเพียงครั้งเดียวในหนึ่งปี ก็จัดประมูลเป็นรอบๆ ตามราคาไข่ในท้องตลาด แต่การประมูลของเราทำอย่างเปิดเผยโปร่งใสตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างทุกประการ ซึ่งก็ทำให้ได้ราคาไข่ที่ถูกลงตามราคาตลาด ส่วนเรื่องยาและเวชภัณฑ์นั้น โรงพยาบาลของเราสามารถซื้อได้ราคาถูกกว่าค่ามัธยฐานของประเทศถึงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ โดยเราเปิดการแข่งขันเสนอราคาอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม โดยโรงพยาบาลเราใช้ยาในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก แล้วเราก็ยังคิดต่อไปว่า หากเราซื้อยาโดยรวมกันซื้อในทุกโรงพยาบาล เช่น ในโรงพยาบาลจังหวัดในกลุ่มของเราและโรงพยาบาลชุมชนในกลุ่มของเรา ซึ่งถือว่าซื้อยาจำนวนมาก เมื่อผู้ค้าเห็นว่าสามารถขายได้จำนวนมาก เขาก็สนใจ แล้วเราก็ได้ยาที่ราคาถูกลง แม้กระทั่งเรื่องของวัสดุทางการแพทย์ก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน เช่น น้ำยาสำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการที่โรงพยาบาลทุกแห่งต้องใช้ ผมก็เจรจากับผู้ขายว่าขอลดราคาลง เนื่องจากในตอนแรกเราซื้อน้ำยาและเครื่องมือแล้ว แต่ในปีต่อๆ ไป เราขอซื้อแค่น้ำยาเท่านั้น ก็ขอให้เขาลดราคาให้เรา แต่ผมย้ำนะครับว่าเราทำทุกอย่างตามระเบียบพัสดุอย่างเคร่งครัด เราเจรจาอย่างโปร่งใสโดยมีคณะกรรมการเจรจา ส่วนเรื่องยานั้น บริษัทต่างชาติมักจะอ้างว่าเขาขายยาราคาเดียวทั้งประเทศ ผมก็ต่อรองว่าถ้าสามารถแถมให้กับโรงพยาบาลได้ก็ขอให้ระบุให้ชัดเจนตามระเบียบพัสดุว่าคุณขายเท่าไร และแถมให้เท่าไร โดยระบุทุกอย่างให้ชัดเจนโปร่งใส นี่ก็ช่วยให้เราลดค่าใช้จ่ายได้ครับ
l นอกจากวิธีเจรจากับตัวแทนขายยา ขายอุปกรณ์ทางการแพทย์แล้ว คุณหมอยังต้องไปเจรจาขอความช่วยเหลือจากชาวบ้าน จากนักธุรกิจ และจากพระสงฆ์ในจังหวัดด้วยใช่ไหมครับ
นพ.ชาญชัย : ผมบอกกับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรของเราทุกคนว่า ประชาชนคือเจ้านายของเรา ขอให้เราบริการประชาชนให้ดีแล้วประชาชนจะช่วยเรา นี้คือการพลิกโฉมบริการของเรา เราเน้นความมีน้ำใจ เอาใจใส่ เอื้ออาทรกับผู้ป่วยทุกคน แล้วผมก็ออกพบปะกับชาวขอนแก่น เช่น ไปที่สมาคมจีน สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ไปพบพ่อค้า ประชาชนที่เขามีเงินที่สามารถบริจาคช่วยเราได้ ไปเล่าให้เขาฟังว่าโรงพยาบาลทำอะไรให้ประชาชนบ้าง และโรงพยาบาลประสบวิกฤติอะไร เมื่อเขาเห็นและเข้าใจ เขาก็ช่วยเรา ผมจัดทำผ้าป่าระดมทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ เพราะเห็นว่าการจะทำให้แพทย์ทำงานกับเราต่อไปได้ ก็ต้องมีเครื่องมือดีๆ ให้เขาเขาจะได้ทำงานเพื่อคนป่วยได้ดีที่สุด ผมรู้ว่าหากหมอมีเครื่องมือดี หมอก็ทำงานได้ดี และจะอยู่กับเรานาน แล้วคนไข้ก็ได้ประโยชน์ เมื่อเราไปบอกกับพี่น้องประชาชน เขาก็ช่วยโรงพยาบาลของเขา เพราะเขาเห็นว่าโรงพยาบาลทำเพื่อเขา และคนทุกคนในจังหวัด แรกๆ ทำผ้าป่าได้ปีละ 1-2 ล้าน แต่เมื่อเขาเห็นความตั้งใจจริงของหมอและบุคลากรทางการแพทย์ ก็ทำให้ได้เงินจากผ้าป่าปีละ 15 ล้านบาท และมีเงินบริจาคเข้ามาเรื่อยๆ แล้วเมื่อคุณตูน บอดี้สแลม มาช่วยวิ่งระดมทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ให้เรา ก็ทำให้เราได้รับเงินบริจาคมากขึ้น เพราะว่าพี่น้องประชาชนเห็นว่าโรงพยาบาลขอนแก่นเป็นที่พึ่งของพวกเขาได้ มีเรื่องสำคัญอีกเรื่องคือ เราพยายามให้บริการประชาชนให้ครอบคลุม เราตั้งหน่วยแพทย์นอกโรงพยาบาล เพื่อให้หมอใกล้ชิดกับประชาชน แรกๆ เราทำ 4 แห่ง แล้วขยายเป็น 7 แห่ง และมีแผนขยายเพิ่มอีก แพทย์เหล่านี้สามารถดูแลประชาชนในเขตอำเภอเมือง และรอบๆ ได้ประมาณ 4 แสนคนเมื่อประชาชนรู้ว่ามีหมอมาอยู่ใกล้ๆ บ้านของเขา ก็ไม่ต้องเข้าไปหาหมอในโรงพยาบาลศูนย์ หมอเหล่านี้จะดูแลสุขภาพให้ เข้าไปเยี่ยมบ้านคนป่วย ไปดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ตรงนี้ทำให้ประชาชนไว้วางใจเรา ซึ่งผลดีคือ เราสามารถช่วยให้คนไข้ไม่ต้องเข้าไปแออัดอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์ ทำให้โรงพยาบาลศูนย์สามารถรักษาคนไข้อาการหนัก ที่ป่วยด้วยโรคร้ายแรงได้ดีมากขึ้น โรงพยาบาลขอนแก่นเป็นที่ฝึกงานของนักเรียนแพทย์ชั้นปีที่ 4-6 จาก โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกด้วย ดังนั้นโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นจึงมีภารกิจมาก แต่ก็ทำให้หมอทุกคนสามารถพัฒนาตัวเองได้ตลอดเวลา แต่ที่สำคัญคือ หมอและพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ของเราทุกคนมีจิตวิญญาณของผู้ให้บริการกับประชาชนด้วยความเต็มใจ เรามีครูแพทย์ที่ยอดเยี่ยม ทุกคนทำงานด้วยอุดมการณ์เพื่อประชาชน เราจึงดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยอย่างดีด้วยมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรม แพทย์ของเราทุ่มเททำงานเพื่อประชาชนมาก หลายคนไม่ยอมเปิดคลินิกส่วนตัว แต่ทุ่มเททำงานให้กับโรงพยาบาล แม้คนไข้ของเราจะมาก แต่ทุกคนช่วยกันทำงานอย่างเต็มกำลัง จึงทำงานได้ดี อีกสิ่งหนึ่งคือเราพยายามให้คนไข้ที่ไม่ป่วยด้วยโรคร้ายแรงอยู่ในชุมชน แล้วเราส่งหมอไปหาเขาในชุมชน ดังนั้นหมอที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจึงสามารถทำงานได้เต็มกำลังในโรงพยาบาล ทำให้ลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ นอกจากนี้เรายังมีการส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ เพื่อให้ไม่ต้องมารับยาที่โรงพยาบาล โดยยาทุกตัวที่เราส่งให้นั้น เราควบคุมคุณภาพอย่างดีทุกตัว แล้วเราก็พัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลลูกข่ายของเราตลอดเวลา อย่างเช่น โรงพยาบาลสิรินธรโรงพยาบาลชุมแพ เพื่อให้โรงพยาบาลเหล่านี้บริการผู้ป่วยที่อยู่ใกล้กับโรงพยาบาลได้รอบด้านแต่หากมีโรคร้ายแรงจริงๆ จึงจะส่งเข้ามาในโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งก็ทำให้คนไข้ที่อาศัยอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลลูกข่ายไม่ต้องเดินทางเข้ามาในโรงพยาบาลศูนย์ ส่วนหมอในโรงพยาบาลศูนย์ก็ทำหน้าที่รักษาโรคร้ายแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องกังวลกับเรื่องคนไข้ที่มากมายจนเกินกำลังของหมอ นี่คือการทำให้ทั้งหมอและคนไข้ได้ประโยชน์สูงสุด และทำให้โรงพยาบาลลูกข่ายพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ด้วย
l ทุกวันนี้โรงพยาบาลขอนแก่นไม่มีปัญหาเรื่องการเงินสำหรับบริหารโรงพยาบาลแล้วใช่ไหมครับ
นพ.ชาญชัย : ปัญหาลดลงครับ แต่เรายังต้องมีมอนิเตอร์อยู่ตลอดเวลา เราต้องมอนิเตอร์เป็นรายไตรมาส โดยดูว่าแผนที่เราทำมันสอดคล้องกับสถานการณ์จริงหรือไม่ ต้องดูว่ามีอะไรที่ต้องปรับเปลี่ยนหรือไม่ เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอด เช่น ช่วงโควิด-19 ระบาด คนจำนวนมากที่ป่วยเล็กๆ น้อยๆ ไม่เข้าโรงพยาบาลเพราะกลัวเชื้อโควิด-19 โรงพยาบาลมีเตียงอยู่ 1,100 เตียง แต่มีคนไข้เพียงครึ่งเดียว เราต้องวิเคราะห์สถานการณ์ตามความเป็นจริงในแต่ละวันว่ามีรายรับ รายจ่ายเท่าไร ช่วงโควิด-19 ระบาด รายได้ลด แต่รายจ่ายเพิ่มขึ้น เพราะต้องซื้อหน้ากากอนามัยให้หมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน ต้องหาชุด PPE ให้ ต้องเตรียมเครื่องป้องกันการติดเชื้อให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกคน ต้องปรับมาตรฐานห้องตรวจรักษา ในช่วงนั้นเราประกาศขอรับบริจาค ได้รับเงินกว่า 50 ล้านบาท จากประชาชนที่เห็นความสำคัญของเรา แล้วยิ่งเมื่อประชาชนเห็นว่าเราสามารถรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ดี ทุกคนหายป่วย แม้จะมีรายหนึ่งอาการสาหัส แต่เราก็รักษาจนหายเป็นปกติ ก็ยิ่งทำให้เราได้รับความเชื่อถือมากขึ้น ซึ่งสำหรับผมเอง ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ผมคิดเสมอว่าผมมีหน้าที่อำนวยการเพื่อให้หมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนทำงานได้เต็มศักยภาพ ทำงานด้วยความสุข ด้วยความราบรื่น และอยากทำงานกับเรานานๆ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ผมจึงทุ่มเท และตั้งใจทำงานส่วนของผมให้ดีที่สุด
คุณสามารถพบรายการดีที่ครบครันด้วยสาระและความบันเทิง รายการแนวหน้าวาไรตี้ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา16.00-16.25 น. ทางโทรทัศน์ TNN 2 ช่อง 784ดิจิทัลทีวี หรือ True Visions 8 และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ผู้หญิงแนวหน้า byคุณแหน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี