เครื่องเคลือบแบบต่างๆ
อาทิตย์นี้ ได้ตามรอยสยามไปที่เมืองสุโขทัย ซึ่งมีการพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสุโขทัยหลายเรื่อง ที่น่าสนใจมากคือการสร้างอาคารหอบรรณสารให้เป็นสถานที่รวบรวมหนังสือ เอกสาร และข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมเพื่อเชื่อมโยงความรู้และข้อมูลของมรดกโลกที่อยู่ในสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ในครั้งนี้ นายอเนก สีหามาตย์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้มอบหนังสือและเอกสารจากงานการปฏิบัติการโบราณคดีที่ผ่านมาเกือบ ๓๐ ปีนั้น กว่า ๓,๐๐๐ รายการ ให้เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำคัญของพื้นที่ ถือว่าเป็นการจุดประกายศึกษาให้เกิดหอบรรณสารในจังหวัดต่างๆ ที่เห็นความสำคัญเช่นเดียวกัน ดังนั้น การเรียนรู้ สืบค้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่เคยหยุดนิ่ง นอกจากในอุทยานประวัติศาสตร์จะมีโบราณสถานทั้งในและนอกเมืองเก่าที่กรมศิลปากรต้องดูแลแล้ว การสำรวจและขุดค้นของสำนักโบราณคดีก็ยังไม่เคยหยุดนิ่งโดยเฉพาะเรื่อง เครื่องสังคโลก ที่ใช้เรียกเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตขึ้นในสมัยสุโขทัย ซึ่งพบว่ามีเตาเผาตั้งอยู่ทั้งที่เมืองสุโขทัย และเมืองศรีสัชนาลัย เป็นเครื่องถ้วยชามที่เคลือบสีต่างๆเช่น สีเขียวไข่กา สีน้ำตาล เขียนลายใต้เคลือบใสเป็นรูปต่างๆ ส่งเป็นสินค้าออกจนมีเส้นทางสายเครื่องเคลือบที่เชื่อมต่อไปในพื้นที่ต่างๆ บนแผ่นดินและเกาะต่างๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น ด้วย
กระปุกเขียนสีใต้เคลือบ
ประเด็นสำคัญก็คือการพบแหล่งเตาเผาเครื่องถ้วยชามสังคโลกที่เมืองเก่าสุโขทัยทางด้านเหนือ นอกกำแพงเมืองโดยเฉพาะบริเวณคันดินรอบวัดพระพายหลวงนั้น มีเตาเผาอยู่ ๒ แบบ คือ เป็นเตากลม มีพื้นเจาะรูเพื่อระบายความร้อนจากช่องใส่ไฟที่อยู่ด้านล่างขึ้นไปด้านบน เรียกว่าเตาตะกรับ ใช้เผาภาชนะที่ระดับอุณหภูมิไม่เกิน ๙๐๐ องศา และเตาที่มีลักษณะเป็นรูปหลังเต่า มีช่องใส่เชื้อเพลิง ช่องเรียงภาชนะ และปล่องระบายความร้อน อยู่คนละแนวกัน เพื่อระบายความร้อนในแนวนอน เรียกว่า เตาประทุน ใช้เผาภาชนะที่ระดับอุณหภูมิสูง ๙๐๐-๑,๒๐๐ องศา เตาเผาที่พบในสุโขทัยนี้ส่วนใหญ่เป็นเตาที่ก่อขึ้นจากอิฐดิบ ไม่ใช่เตาขุดที่ขุดเข้าไปในเนินดินธรรมชาติแบบเตาเผาบางแห่งที่พบในศรีสัชนาลัย เตาเผาจากอิฐดิบนี้พบว่าก่ออยู่บนชั้นดินดานซึ่งเป็นชั้นดินล่างสุดของสุโขทัย ดังนั้นชื่อเตาทุเรียง หรือ เตาสังคโลก จึงเป็นชื่อเรียกเตาเผาถ้วยชามสังคโลกของสุโขทัยในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ที่สำรวจแล้วพบมีอยู่ ๓ แหล่งด้วยกัน คือ เตาทุเรียงบริเวณเมืองเก่าสุโขทัย เตาทุเรียงป่ายาง และเตาทุเรียงเกาะน้อย ที่อำเภอศรีสัชนาลัย ดังนั้นแหล่งเตาเผาจึงมีการผลิตตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน หมักดิน และปั้นเป็นภาชนะต่างๆ แล้วจึงไปสู่ขั้นตอนของการเผาภาชนะ อีกทั้งมีแหล่งน้ำที่ใช้เป็นเส้นทางส่งออกได้ด้วย
ตุ๊กตาเคลือบ
สำหรับเตาเผาที่พบในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยนี้ อยู่ทางทิศเหนือของตัวเมืองสุโขทัย ใกล้กับวัดพระพายหลวงตามแนวฝั่งลำน้ำโจน เป็นเนินดินที่ชาวบ้านเรียกว่า เนินร่อนทองขณะนี้สำรวจพบเตาสังคโลกจำนวนไม่น้อยกว่า ๖๒ เตา มีลักษณะเป็นเตาเผาแบบอิฐกว้างขนาด ๑.๕๐-๒ เมตร ๕๐ เตา และยาวขนาด ๔-๕ เมตร มีรูปแบบคล้ายกับประทุนเกวียน ๑๒ เตา แบ่งออกเป็น ๓ ส่วนได้แก่ ที่จุดเชื้อเพลิง ที่วางถ้วยชามและปล่องไฟระบายความร้อน คาดว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อีกทั้งยังพบภาชนะถ้วยชามที่เป็นของใช้สอยเป็นส่วนใหญ่ เป็นเครื่องปั้นที่เคลือบสีน้ำตาลหรือสีดำแล้วเคลือบใสสีเขียวอ่อน และในการเผามักจะใช้กี๋ ซึ่งเป็นจานที่มีขา มีปุ่ม ๕ ปุ่ม วางคั่นระหว่างชามแต่ละใบ เตาสังคโลกบางเตายังพบเศษถ้วยชามสังคโลกอยู่ในเตาเป็นจำนวนมากด้วย ทำให้พบว่ามีลายเขียนสีดำภาพใต้เคลือบที่ประณีตกว่ามีการเขียนปลาตัวเดียว-ปลา ๔ ตัว และเมื่อตรวจสอบอายุแล้วพบว่าอยู่ใน พ.ศ. ๑๙๕๓-๒๒๓ ตรงกับสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท(พญาลือไท) ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีการส่งออกสินค้าเครื่องเคลือบหลากหลายชิ้นงานมากว่า ๖๐๐ ปีแล้ว ต่อไปคงจะได้เห็นลำน้ำแม่ลำพันออกจากบริเวณนี้เป็นร่องรอยการค้าเมืองสุโขทัยซึ่งยังปล่อยตื้นๆ รกๆ อยู่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี