ด้วยเพลงชาตินั้นมีความสำคัญในฐานะเป็นสัญลักษณ์ของการรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย ซึ่งเป็นเพลงที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศใช้ตามรัฐนิยมฉบับที่ ๖ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๒ ซึ่งพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) หรือ ปีเตอร์ ไฟท์ (Peter Feit) ได้ประพันธ์ทำนองโดยแก้ไขเพิ่มเติมจากเดิมโดย พันเอกหลวง
สารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ในนามของกองทัพบก เป็นทำนองชนะการประกวดของกรมโฆษณาการ เมื่อพ.ศ.๒๔๗๕ ได้รับรางวัลมา ๑,๐๐๐ บาท โดยเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยาม เป็นไทย...ก่อนหน้าได้มี เพลงชาติ ที่ใช้กันมาแล้ว ๖ เพลง เริ่มต้นเพลงแรกเมื่อ ปี ๒๓๙๕-๒๔๑๔ ใช้ทำนองเพลง God Save the Queen เป็นเพลงเกียรติยศถวายความเคารพแด่พระเจ้าแผ่นดิน เรียกว่า เพลงสรรเสริญพระบารมีอังกฤษ ต่อมา พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)ได้ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นใหม่แล้วเรียกชื่อว่า เพลงจอมราชจงเจริญ เป็น เพลงชาติเพลงที่ ๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา ต่อมารัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชดำริว่าควรใช้ทำนองเพลงไทย ทำให้คณะครูดนตรีไทยได้เลือก เพลงทรงพระสุบิน หรือ เพลงบุหลันลอยเลื่อน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ มาเรียบเรียงใหม่ให้เป็นสากลขึ้นโดย เฮ วุดเซนจึงเป็น เพลงชาติเพลงที่ ๒ ใช้บรรเลงระหว่าง ปี ๒๔๑๔-๒๔๓๑ ส่วน เพลงชาติเพลงที่ ๓ นั้นได้ประพันธ์ทำนองโดย ปโยตร์ สชูโรฟสกี้ (PyotrSchurovsky) ชาวรัสเซีย ส่วนคำร้องนั้นเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ใช้บรรเลงเป็นเพลงชาติในระหว่างปี ๒๔๓๑-๒๔๗๕ ใช้มายาวนานด้วยมีทำนองไพเราะ, เนื้อหาสมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันใช้เป็น เพลงสรรเสริญพระบารมี แทน หลังการอภิวัตน์เปลี่ยนการปกครองโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ แม้จะมีการเตรียมการสร้างเพลงชาติขึ้นใหม่ โดยสมาชิกของคณะผู้ก่อการท่านหนึ่งมอบหมายให้พระเจนดุริยางค์เป็นผู้ประพันธ์แต่ยังไม่เสร็จเลยต้องใช้ทำนองเพลงไทยเดิม เพลงมหาชัยไปพลางก่อน เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี(สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้อง เพลงชาติเป็นเพลงที่ ๔ ได้ใช้ในช่วงสั้นเพียง ๗ วัน ไม่ถึงเดือนก็เปลี่ยนแปลงไปเป็น เพลงชาติเพลงที่ ๕ ประพันธ์ทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) เมื่อวันที่ ๔กรกฎาคม ๒๔๗๕ ส่วนเนื้อร้องนั้นขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์)แต่งขึ้นบรรเลงครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๔๗๕ ใช้อยู่เพียงปี ๒๔๗๕-๒๔๗๗จึงเปลี่ยนแปลงเฉพาะเนื้อร้อง โดยประพันธ์เพิ่มเติมจากของเดิมที่เห็นกันว่าสั้นไปนั้นให้ยาวขึ้น โดย นายฉันท์ ขำวิไลจึงถือเป็น เพลงชาติเพลงที่ ๖ ใช้ระหว่างปี๒๔๗๗-๒๔๘๒ ขณะเดียวกันมีเพลงชาติเพลงหนึ่งใช้ทำนองเพลงไทย ประพันธ์ทำนองโดย จางวางทั่ว พาทยโกศล โดยดัดแปลงเพลงไทยเดิม เพลงตระนิมิต ทำให้มีเพลงชาติแบบสากลและเพลงชาติแบบไทย ในที่สุดคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาลงมติให้ใช้ เพลงชาติแบบสากล นับเป็นเพลงชาติอย่างเป็นทางการเพลงแรกจนถึงปัจจุบัน อันโดยเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย เนื้อร้องของหลวงสารานุประพันธ์ ซึ่งส่งประกวดในนามกองทัพบกไทยก่อนแก้ไขเป็นฉบับทางการมีดังนี้ “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย-เป็นประชาธิปไตยของไทยทุกส่วน-อยู่ยืนยงดำรงไว้ได้ทั้งมวล-ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี-ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่-สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย” การประกวดเพลงชาติครั้งนั้นปรากฏว่ามีกวีและผู้มีชื่อเสียงทางการประพันธ์เพลงหลายคน เช่น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, แก้ว อัจฉริยะกุล, ชิต บุรทัต รวมถึงผู้ประพันธ์เนื้อเพลงชาติสองฉบับแรก ขุนวิจิตรมาตรา และ ฉันท์ ขำวิไล ด้วยส่งเนื้อร้องของตนเองเข้าประกวด แต่ปรากฏว่าไม่ผ่านการตัดสินครั้งนั้น นัยว่าเนื้อร้องที่ขุนวิจิตรมาตราแต่งใหม่นั้นมีการใช้คำว่า “ไทย” ถึง ๑๒ ครั้ง
สำหรับการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีความเห็นว่าธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นสิ่งที่ชาวไทยควรให้การเคารพและเชิดชู คณะรัฐมนตรีจึงได้ประกาศรัฐนิยมฉบับที่ ๔ เมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๒ ระบุแต่เพียงว่า ให้ทุกคนแสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบ หรือตามประเพณีนิยม ส่วนจะนิยมแบบไหนก็ว่ากันไปตามนิยม เพราะเพลงชาตินี้เป็นเพลงรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี