จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ทั่วโลกได้ประสบกับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019หรือ โควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อทะลุ 48 ล้านคนทั่วโลกทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์และธุรกิจอื่นๆ มุ่งมั่นสรรหาเทคโนโลยีเพื่อต่อสู้กับไวรัสชนิดนี้หนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังถูกพูดถึงมากขึ้นในช่วงเวลาที่โรคโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก คือ UVC หรือ เทคโนโลยีฆ่าเชื้อด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตเพราะนี่ถือเป็นเทคโนโลยีทำความสะอาดและฆ่าเชื้อที่ลดการสัมผัสโดยตรงของผู้ใช้งาน เพียงแค่สาดแสงลงไปก็กำจัดเชื้อโรคได้และช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้
สำหรับ UVC เป็นรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet) หรือ UV ที่มีความยาวคลื่นสั้นที่สุดในรังสี 3 ชนิด ได้แก่ UVA, UVB และ UVC ซึ่งแต่กลับมีพลังงานสูงที่สุด จนได้ชื่อว่า GermicidalLight หรือแสงที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทั้งสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กและต่อมนุษย์เอง จึงมีการนำมาใช้ฆ่าเชื้อโรคเป็นหลักด้วยวิธีการใช้แสงยูวีที่มีความเข้มข้นสูงพิเศษ หรือ Ultraviolet Germicidal Irradiation (UVGI) เพื่อฆ่าเชื้อไวรัส แบคทีเรียและเชื้อโรคชนิดต่างๆ ในอากาศและพื้นผิว
ปัจจุบันมีผลการวิจัยและการทดสอบมากมายทั้งจากสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาลที่พิสูจน์ได้ว่า UVC มีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อโรคได้ถึง99.99% โดยเชื้อโรคเหล่านั้น มีตั้งแต่ ไข้หวัด2009 (H1N1) เชื้อวัณโรค (TB) สารก่อภูมิแพ้หอบหืด รวมถึงเชื้อก่อโรคโควิด-19 ที่กำลังเป็นโรคระบาดรุนแรงในปัจจุบัน ทั้งนี้ UVC สามารถฆ่าเชื้อโรคทั้งที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ บนพื้นผิวทั่วไป และในน้ำได้เป็นอย่างดี
และเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยที่ทำให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการรักษาความสะอาด การฆ่าเชื้อโรค และการควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส ทำให้เราเห็นเทคโนโลยีฆ่าเชื้อด้วย UVC มากขึ้นในโรงพยาบาลหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาลศิริราชโรงพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี โรงพยาบาลบำราศนราดูร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และโรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นต้น
อาจารย์สุวัฒน์ สุขสวัสดิ์ อาจารย์สาขาภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานพยาบาล ภาควิชาเทคโนโลยีและสุขภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้เผยถึงการฆ่าเชื้อในโรงพยาบาลว่า “(ปัจจุบันนั้น)การฆ่าทำลายเชื้อในโรงพยาบาล จะมีหลักการเบื้องต้น คือ การขจัดการปนเปื้อน (Decontamination) เช่น การขจัดการปนเปื้อนเชื้อออกจากตัวคน เครื่องมือหรืออุปกรณ์ มีระดับการขจัดการปนเปื้อน ตั้งแต่การเช็ดทำความสะอาด(Cleaning) ทั่วไป การฆ่าทำลายเชื้อ (Disinfection) การทำลายหรือลดจำนวนเชื้อโรคลง จนถึงระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และ การทำให้ปราศจากเชื้อหรือปลอดเชื้อ (Sterilization) คือ การกำจัดหรือทำลายเชื้อโรคทุกชนิด รวมทั้งสปอร์ของเชื้อโรคได้ โดยกระบวนการฆ่าทำลายเชื้อจะใช้ 2 หลักการใหญ่ๆ คือ การฆ่าทำลายเชื้อโดยวิธีทางกายภาพ เช่น การฉายรังสียูวีซี (UVC)การใช้ความร้อนชื้น (Moisture heat) ความร้อนแห้ง(Dry heat) เป็นต้น และการฆ่าทำลายเชื้อโดยวิธีทางเคมี เช่น การเช็ดด้วย 70% Alcohol การแช่0.5% Sodium hypochlorite การอบด้วย35% Hydrogen peroxide เป็นต้น สิ่งสำคัญในการเลือกใช้วิธีการใดในการฆ่าทำลายเชื้อ มีหลักการที่ต้องนำมาพิจารณาเสมอ คือ ใช้ฆ่าเชื้ออะไร ความเข้มข้นเท่าไหร่ ระยะเวลานานแค่ไหน”
“วิธีการฆ่าทำลายเชื้อแต่ละวิธีจะมีข้อดีและข้อเสียต่างๆ กัน เช่น การใช้น้ำยาเช็ดทำความสะอาดพื้นผิว ข้อดี คือเชื้อจะไม่ฟุ้งกระจายขณะทำการเช็ด แต่มีข้อเสียคือเช็ดได้ไม่ทั่วพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อ จึงต้องใช้วิธีการฆ่าเชื้อด้วยการฉีดพ่นและการอบด้วยน้ำยา แทนหรือเสริมการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิว ซึ่งมีข้อดี คือสามารถฆ่าเชื้อได้ทั่วทุกพื้นผิว แต่กระบวนการฉีดพ่น และการอบ จะมีความเสี่ยงอันตรายสูง จึงต้องดำเนินการโดยผู้ฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ดังนั้น จะเห็นว่าไม่มีวิธีการฆ่าทำลายเชื้อวิธีใดดีที่สุดในทุกสถานการณ์ จึงควรเลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละสถานการณ์ และเป็นวิธีที่ประเมินแล้วว่าจะได้รับประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้นเสมอ”
สำหรับการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ใช้บริการนั้นอาจารย์สุวัฒน์กล่าวว่า “หลักการพื้นฐานในการลดหรือควบคุมปัจจัยเสี่ยงหรือสิ่งคุกคามสุขภาพ (Hazards) ให้บุคลากรหรือผู้ใช้บริการมีความปลอดภัย จะมีอยู่ 4 มาตรการ มีประสิทธิภาพดีที่สุด คือ การกำจัด/การทดแทน (Elimination/Substitution) เช่น การกำจัดเชื้อก่อโรคโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ให้หมดไปจากโรงพยาบาล เป็นต้นมาตรการที่มีประสิทธิภาพรองลงมา คือ การควบคุมทางวิศวกรรม (Engineering control) เช่นเทคโนโลยีการสร้างหอผู้ป่วยที่มีระบบระบายอากาศเหมาะสมสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด-19การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยเตียงเคลื่อนย้ายแรงดันลบ เป็นต้น ต่อมาเป็นมาตรการควบคุมด้วยการบริหารจัดการ เช่น เทคโนโลยีการอบรมแบบออนไลน์ การทำงานที่บ้านเพื่อลดการไปสัมผัสเชื้อ เป็นต้น มาตรการสุดท้าย ซึ่งมีประสิทธิภาพการควบคุมสิ่งคุกคามสุขภาพน้อยที่สุด คือ มาตรการด้านบุคคล (Personal control) เช่น สุขอนามัยส่วนบุคคล การสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment, PPE) เช่น หน้ากาก เสื้อคลุม ถุงมือ เป็นต้น”
จากคุณสมบัติของ UVC ที่ได้กล่าวมาข้างต้น เมื่อนำเปรียบเทียบกับการฆ่าเชื้อโรคด้วยวิธีอื่นๆ จะพบว่าการฆ่าเชื้อด้วย UVC มีความโดดเด่นหลายประการ ทั้งนี้ อาจารย์สุวัฒน์ได้ให้ข้อมูลในประเด็นนี้ว่าปัจจุบันมีการนำ UVC มาติดตั้งและใช้งานหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่ติดตั้งแบบ Stand Alone เช่น Upper room UVGI, เครื่องฟอกอากาศ เป็นต้น หรือแบบที่ติดตั้งในท่อ และแผงคอยล์เย็นของระบบระบายอากาศ หรือนวัตกรรมที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นในปัจจุบัน เช่น หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วย UVC เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดจะใช้แสง UVC ที่มาจากการสังเคราะห์ขึ้นโดยใช้หลอด UV เพราะแสง UVC ที่มาจากธรรมชาติ คือแสงแดดจากดวงอาทิตย์ที่ส่องลงมาที่พื้นผิวโลกเรานั้นไม่มี UVC เนื่องจากโอโซนในชั้นบรรยากาศดูดซับไว้หมดแล้ว ส่วนที่ทะลุผ่านมาถึงผิวโลกได้มากที่สุดเป็น UVA และ UVB ที่ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้
“UVC จัดว่าเป็นเทคโนโลยีสำหรับการฆ่าเชื้อโรคที่มีข้อดี/ข้อได้เปรียบ คือ ราคาถูก ลงทุนน้อย ฆ่าเชื้อโรคได้เกือบทุกชนิด ประหยัดพลังงานยกระดับคุณภาพอากาศภายในอาคาร (Indoor air quality) ลดมลพิษในอากาศ เช่น สารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds, VOCs)ซึ่งบางชนิดเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ และยังสามารถใช้ได้หลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัย (Residential building) ไปถึงอาคารพาณิชย์ (Commercial building) โดยเฉพาะโรงพยาบาล โรงแรม โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้าโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ยา และวัคซีน เป็นต้น จึงเหมาะสำหรับหน่วยงานที่งบประมาณน้อย ได้เข้าถึงเทคโนโลยีการฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพได้”
ทางด้าน ลลนา เลิศสมิติวันท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอเมอร์สัน กรุ๊ป (Emerson Group)กล่าวว่า “สถานการณ์การระบาดดังเช่นปัจจุบันทำให้ต้องให้ความสำคัญต่อการฆ่าเชื้อในพื้นที่อื่นด้วยมาตรฐานเดียวกับห้องผ่าตัด และการฆ่าเชื้อต้องทำได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วทันการณ์ ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลหลายแห่งสนใจเทคโนโลยีนี้และได้ประสานมาทางบริษัท ซึ่งทางเราเชื่อมั่นในประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง รวมทั้งจุดเด่นในแง่ของความคุ้มค่าต่อเม็ดเงิน และเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะมีการนำเทคโนโลยีฆ่าเชื้อด้วย UVC มาใช้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในอนาคต”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี