ผลิตภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยคือหลักสูตร เราต้องดูว่าหลักสูตรทันสมัยหรือไม่ ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้หรือไม่ … ผมอยากเห็นมหาวิทยาลัยไทยเก่งและแกร่งขึ้นยกแผงจนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ และอยากเห็นมหาวิทยาลัยไทยติดอันดับ 1 ใน 100 ของมหาวิทยาลัยระดับโลก
แนวหน้าวาไรตี้สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย นำคุณไปสนทนากับ ศ.ดร.บัณฑิตเอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.)
ในโอกาสอาจารย์เข้ารับตำแหน่งประธานทปอ. ในปี 2564 ขอเรียนถามว่าอาจารย์มีเป้าหมายหลักอะไรที่จะทำให้มหาวิทยาลัยของไทยก้าวหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ศ.ดร.บัณฑิต : ในนามประธาน ทปอ.ผมตั้งเป้าเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยไทยให้ดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม ทปอ. คือกลุ่มที่ร่วมกันทำงานเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัย เมื่อเราพิจารณาผลิตภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยไทยยุคปัจจุบัน ต้องดูว่าผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกให้สังคมยังเป็นที่สังคมต้องการหรือไม่ เพราะสังคมเปลี่ยนไปมากในระยะ 10 ปี ถ้าผลิตภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยล้าหลังไม่ตอบสนองความต้องการ ก็ไม่มีใครต้องการถ้าอาจารย์ยังใช้วิธีการแบบเก่า 40-50 ปี ก็ไม่เป็นที่ต้องการของสังคม เพราะยุคนี้ความรู้ถูกค้นหาได้จากอินเตอร์เนต ผิดกับสมัยก่อนที่ความรู้อยู่ในห้องเรียนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น จึงต้องปรับตัวให้ทันกาเปลี่ยนแปลง ความรู้หลายอย่างล้าสมัยไปแล้ว มหาวิทยาลัยต้องทำให้ผู้ศึกษาได้ความรู้ทันยุคทันสมัยสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกผู้คนจึงอยากเข้าไปหาความรู้จากมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยต้องฝึกฝนผู้เรียนให้มีทักษะสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมตลอดชีวิตตลอดเวลา หากทำไม่ได้ผู้เรียนจะเลือกเรียนหลักสูตร online ที่มีมากมายบนโลก และไม่สนใจเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัย
มีเสียงวิจารณ์จากวงวิชาชีพว่าบัณฑิตของมหาวิทยาลัยไทยจำนวนไม่น้อยไม่สามารถทำงานได้จริง นายจ้างต้องสอนงานให้ จบมาแล้วไม่สามารถทำงานได้ อาจารย์จะแก้ปัญหานี้อย่างไรครับ
ศ.ดร.บัณฑิต : มหาวิทยาลัยต้องสำรวจตัวเองเป็นอันดับแรก และดูว่าเป็นตามคำวิจารณ์หรือไม่ ในอดีตมหาวิทยาลัยไทยส่วนมากเน้นการให้ความรู้วิชาการ โดยบรรจุหลักทฤษฎีไว้ในชั้นปีต่างๆ มากมาย บัณฑิตจึงมีความรู้ด้านทฤษฎีมาก แต่มีปัญหาในด้านปฏิบัติจริง ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องเน้นทั้งด้านวิชาการและด้านปฏิบัติ ต้องเสริมสร้างแนวคิดวิเคราะห์เพื่อการแก้ปัญหา เน้นความคิดริเริ่ม และเน้นการสื่อสารระหว่างบุคคลเพื่อให้งานสำเร็จอย่างดี และต้องฝึกความอดทนของบัณฑิต โดยทำควบคู่ไปกับการฝึกฝนให้มีทักษะของชีวิตจริงในโลกยุคใหม่ ไม่ใช่เน้นแค่ความรู้เชิงวิชาการแต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงมหาวิทยาลัยต้องให้ทั้งความรู้ และทักษะในการทำงานจริง นี่คือคุณค่าของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยต้องผลิตบัณฑิตที่เป็นทั้งนักวิชาการและนักปฏิบัติในคนคนเดียวกัน หลายคนอาจมองว่าวันนี้เราเรียน online ได้โดยไม่จำเป็นต้องไปมหาวิทยาลัย แต่การเรียน onlineไม่ตอบโจทย์จริงของชีวิต มันต้องเป็น blendedlearning คือผสมผสานทฤษฎีกับปฏิบัติเข้าด้วยกัน มหาวิทยาลัยต้องสร้างทักษะให้ผู้ศึกษาได้ต้องทำให้บัณฑิตมีสติปัญญาเพื่อพัฒนาความรู้ต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด ต้องเน้นการปฏิบัติจริงโดยการฝึกงานกับสถานประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญในงานควบคู่กับการเรียนทฤษฎีและทำวิจัย บัณฑิตที่มีคุณสมบัติเช่นนี้จะสามารถรับใช้สังคมได้เป็นอย่างดี มหาวิทยาลัยต้องบ่มเพาะให้บัณฑิตออกไปทำงานได้โดยใช้เวลาเรียนรู้กับงานจริงๆ ในเวลาสั้น ต้องมีพื้นฐานด้านวิชาการแน่นและแข็งแกร่ง สามารถปรับตัวเข้ากับรูปแบบการทำงานที่หลากหลายในแต่ละบริษัทได้ และต้องสามารถแก้ปัญหาซับซ้อนได้
มีผู้วิจารณ์ว่าบัณฑิตจบใหม่ยุคหลังๆ ไม่อดทน เปลี่ยนงานง่ายมาก แต่เรียกร้องเงินเดือนสูงๆ ทั้งๆ ที่ยังทำงานไม่เป็น อาจารย์มีคำตอบเรื่องนี้ไหมครับ
ศ.ดร.บัณฑิต : ได้ยินเสียงวิจารณ์เรื่องนี้ เช่นกัน มีการเปรียบเทียบระหว่างเด็กไทยกับเด็กจีน พบว่าเด็กจีนตั้งใจทำงานมาก เพราะเขาคิดว่าหากเขาไม่ผ่านการฝึกงาน เขาหมดโอกาสทำงาน เพราะคนอื่นจะเข้าไปทำแทน เขาทุ่มเทเรียนรู้เต็มที่ และคิดค้นสร้างสรรค์ผลงานตลอดเวลา แต่สำหรับเด็กไทยมีเสียงบ่นว่า งานนี้ยากเกินไป ผมขอไปหางานอื่นที่ง่ายกว่านี้ทำดีกว่า นี่คือ attitude ของเด็กไทยจำนวนหนึ่ง เด็กไทยจำนวนหนึ่งก็ไม่ชอบความยากลำบาก ไม่สู้งาน อาจเป็นเพราะเขามีความเป็นอยู่สุขสบายเกินไป จึงไม่ทนกับแรงกดดันหรือเสียดทาน
เมื่อเด็กไทยเลือกงานมากและไม่อดทน นายจ้างจึงเลือกว่าจ้างแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไรครับ
ศ.ดร.บัณฑิต : ก็เป็นปัญหาเช่นนั้นจริงๆผมมองว่าปัจจุบันความอดทนในการเผชิญแรงกดดันของเด็กไทยมีน้อยลง เมื่อเผชิญปัญหาแม้ไม่มากนักก็ถอดใจ ไม่สู้งาน ไม่อดทน ปัญหานี้ไม่ใช่แค่เฉพาะบัณฑิตที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาทั่วไปของสังคมไทย ซึ่งก็เป็นปัญหาของประเทศด้วย ผมสังเกตจากละครไทยกับของจีนแล้วพบว่ามีความต่างกัน ของจีนเน้นตัวละครเอกที่เป็นวัยรุ่นจะรับบทคนเก่งด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี เก่งเรื่องการศึกษา แต่ตัวละครของไทยต่างกันเยอะมาก ใช้ชีวิตหรูหรามาก มีความร่ำรวยอย่างน่าอัศจรรย์ นี่คือความต่างของการนำเสนอเรื่องราวผ่านสื่อฯ ของไทยกับจีนมันสะท้อนการปลูกฝังทัศนคติของผู้คนในบ้านเมืองด้วย
คนไทยยังฝากความหวังไว้กับมหาวิทยาลัยว่าจะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ ในฐานะประธาน ทปอ. อาจารย์จะบอกอะไรกับสังคมครับ
ศ.ดร.บัณฑิต : มหาวิทยาลัยต้องเน้น 3 เรื่องหลัก คือ ต้องตอบโจทย์ ตอบความต้องการของสังคมให้ได้ ต้องสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม และต้องกระทำอย่างรวดเร็วฉับพลัน การตอบโจทย์สังคมต้องเริ่มทบทวนหลักสูตรให้ทันสมัย เป็นที่ต้องการของสังคม เพื่อดึงดูดให้มีผู้เข้าไปเรียนรู้ บัณฑิตของมหาวิทยาลัยต้องสามารถทำงานจริงได้ และต้องมีจิตสาธารณะ ส่วนคณาจารย์ก็ต้องสามารถลงมือปฏิบัติได้จริง และทำโดยทันที มิใช่เก่งแค่ทฤษฎี
เรียนถามเรื่องการติดอันดับมหาวิทยาลัยดีเด่นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลายคนสงสัยว่าวัดจากอะไรครับ
ศ.ดร.บัณฑิต : มีค่ายที่จัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกมากมาย แต่ละมหาวิทยาลัยก็จะเชื่อและนิยมค่ายที่จัดอันดับให้มหาวิทยาลัยของตนอยู่ในอันดับดี สำหรับจุฬาฯ ดูการจัดอันดับจากสองค่าย คือ QS กับ THE (Time Higher Education) QS จัดอันดับจุฬาฯ อยู่ในเกณฑ์ดีโดดเด่นมาตลอด ส่วนค่าย THEจัดอันดับจุฬาฯ อยู่ในเกณฑ์ดีเช่นกัน แต่ QSจัดอันดับของจุฬาฯ ดีกว่า จุฬาฯ พยายามพัฒนาตัวเองตลอดเวลา แต่หากจะพูดกันจริงๆ แล้วอันดับมหาวิทยาลัยไทยในระดับโลกยังไม่ดี แต่ที่น่ากลัวคือมันตกลงมาเรื่อยๆ เปรียบเหมือนเรากำลังแข่งขันกีฬาระดับโลก เราอยู่ในอันดับไม่น่าพอใจ แต่หากแข่งในระดับภูมิภาค เราอาจจะได้อันดับดี จริงๆ แล้วผมต้องการเห็นมหาวิทยาลัยไทยมีความแข็งแกร่งด้านวิชาการจนติดอันดับ 1 ใน 100 ของมหาวิทยาลัยระดับโลกและต้องการเห็นมหาวิทยาลัยไทยแกร่งขึ้นแบบยกแผง ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยใดเท่านั้น มีข้อสังเกตคือมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับต้นๆ ของโลกมักเป็นมหาวิทยาลัยที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักดังนั้นมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักมักไม่ติดอันดับต้นๆ การจัดอันดับ ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยเหล่านั้นมีชื่อเสียงมากในด้านวิชาการ เช่น มหาวิทยาลัยในเยอรมนี ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัวและต้องแข่งขันกับมหาวิทยาลัยทั่วโลกให้ได้จุฬาฯ ต้องปรับตัวด้วย ผมสังเกตว่ามหาวิทยาลัยของมาเลเซียในระยะ 3-4 ปีมานี้โดดเด่นมาก ติดอันดับโลกหลายมหาวิทยาลัยพร้อมๆ กัน ตัวอย่างเช่น University of Malaya ที่สมัยก่อนเคยอยู่อันดับหลังจากจุฬาฯ แต่ปัจจุบันเขาติดอันดับ 1 ใน 100 ของมหาวิทยาลัยโลก เน้นว่ามหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัวมากขึ้น ผมต้องหารือกับทุกมหาวิทยาลัยในฐานะประธาน ทปอ. เมื่อมหาวิทยาลัยไทยแข็งแกร่งด้านวิชาการจริง ก็ต้องติดอันดับท็อปร้อยของมหาวิทยาลัยโลกแน่นอน
เรียนถามประเด็นจุฬาฯ กับการช่วยแก้ปัญหาสังคมไทย หลายคนคาดหวังเรื่องนี้มาก อาจารย์จะตอบสังคมอย่างไรครับ
ศ.ดร.บัณฑิต : ผมตั้งเป้าเรื่องนี้ตลอดเวลา วางเป้าหมายให้จุฬาฯ ช่วยสร้างเสริมสังคมไทยให้ก้าวไกลในสังคมโลกไปพร้อมๆ กับแนวคิด เมื่อสังคมไทยมีปัญหา จุฬาฯ มีคำตอบจุฬาฯ พยายามแก้ปัญหาให้สังคมไทยมาโดยตลอด เช่น ยุคสังคมสูงวัย จุฬาฯ มีโครงการจุฬาฯ ARI (Aging Research Innovation) เป็นความร่วมมือของอาจารย์หลายสาขา เช่น แพทย์ วิศวะฯ รัฐศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหาสังคมสูงวัยอย่างครอบคลุมทุกมิติ โครงการนี้เป็นที่ยอมรับโดยหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งได้ร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว อีกโครงการคือ Chula Zero Waste เพื่อรักษาสภาพแวดล้อม ลดปริมาณขยะและโครงการ Creative Tourism เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่โดยเน้นจุดแข็งของพื้นที่เป็นจุดขาย เน้นระบบนิเวศที่ดี และงานวิจัยเรื่องกัญชากับการรักษาโรค เหล่านี้คือตัวอย่างที่จุฬาฯ มีส่วนช่วยเหลือสังคมในฐานะนักวิชาการและนักปฏิบัติ นี่คือพันธกิจสำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อสังคมไทย
อาจารย์ครับ มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่มหาวิทยาลัยไทยทุกแห่งจะร่วมกันทำงานแก้ปัญหาสำคัญของสังคม เพราะทุกมหาวิทยาลัยมีบุคลากรชั้นยอด แต่ทำงานด้วยกันไม่ค่อยสำเร็จ อาจารย์ในฐานะประธาน ทปอ. จะมีวิธีทำเรื่องนี้อย่างไรครับ
ศ.ดร.บัณฑิต : เรื่องสำคัญนี้อยู่ที่ระดับนโยบายของประเทศ ถ้าฝ่ายนโยบายกำหนดเป้าชัดเจน เช่น อยากเห็นการแก้ปัญหาสังคมสูงวัย ก็ต้องกำหนดนโยบายให้ชัดว่าต้องทำภายในเวลากี่ปี เมื่อเป้าหมายชัด ด้านวิชาการก็จะตอบสนองได้ตรงประเด็น และทำให้บรรลุเป้าหมายเราต้องมีผู้กำหนดนโยบายที่มี vision มีเป้าชัดเจนถ้าเรามีแบบนี้ เราจะไม่ทำงานแบบมะงุมมะงาหราไม่สะเปะสะปะ แล้วประเทศไทยจะก้าวหน้ารวดเร็วแน่นอนครับ
คุณจะได้พบกับรายการดีที่ครบครันด้วยสาระและความบันเทิง รายการแนวหน้าวาไรตี้ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา16.00-16.30 น. ทางโทรทัศน์ TNN 2 ช่อง 784ดิจิทัลทีวี หรือ True Visions 8 และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube แนวหน้าวาไรตี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี