คนทั่วไปมักจะยกย่องแพทย์พยาบาลใส่เสื้อสีขาวที่เป็นผู้นำในการรักษาผู้ป่วยโควิด โดยมี อสม. หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเป็นกำลังสำคัญ แต่อาจไม่ทราบว่ายังมีกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มีความสำคัญยิ่งในการป้องกันและตรวจคัดกรองแยกผู้ติดเชื้อโควิดก่อนนำส่งโรงพยาบาล หรือ ศูนย์กักกัน คนเหล่านี้ใส่เสื้อสีฟ้า ทำงานแบบปิดทองหลังพระ อยู่ตามโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. เรียกชื่อเป็นทางการว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุข แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หมออนามัย”
สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมือง สมุทรสาคร ซึ่งควบคุมดูแลโรงพยาบาลตำบล 23 แห่ง ต้องทำงานอย่างหนักในช่วงโควิดระบาด เพราะต้องรับผิดชอบตลาดกลางกุ้งที่เป็นศูนย์กลางโรคระบาด และโรงงานในเขตอำเภอเมืองจำนวนมาก ซึ่งมีแรงงานต่างด้าวกว่าแสนคน ผู้เป็นหัวหน้าสาธารณสุขอำเภอเมือง สมุทรสาครที่รับภาระเสี่ยงตายที่หนักอึ้งนี้ คือ สาธารณสุขอำเภอเมือง ที่ชื่อ “นายมานะ เปาทุย”
มานะ เปาทุย เรียนจบปริญญาตรีสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต เคยเป็นสาธารณสุขอำเภอกระทุ่มแบนก่อนที่จะย้ายมาเป็นสาธารณสุขอำเภอเมือง สมุทรสาคร เขาเป็นอุปนายกสภาการสาธารณสุขชุมชนระดับประเทศด้วย
นายมานะ เปาทุย ได้รวมพลังนักรบเสื้อสีฟ้า หมออนามัย และพนักงานสาธารณสุขในอำเภอเมือง สมุทรสาครร่วมกับแพทย์พยาบาล ใส่ชุดไอ้โม่งคลุมหัว สวมแว่นตา หน้ากากอนามัย พร้อมถุงมือ คล้ายชุดมนุษย์อวกาศ ทำการตรวจหาเชื้อโควิดของคนไทยและต่างด้าวหลายหมื่นคนในอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาครนายมานะ เดินทางเข้าไปเจรจาชี้แจงกับแรงงานพม่าที่ตลาดกลางกุ้งด้วยตนเอง โดยใช้ล่ามแปลคำต่อคำ ค้นพบผู้ติดเชื้อโควิดกว่า 2,000 คน นำส่ง “ศูนย์ห่วงใยคนสาคร” เพื่อกักตัว 14วัน จนกว่าจะเกิดภูมิต้านทานในตัวและตรวจไม่พบเชื้อแล้ว จึงจะส่งตัวกลับที่พัก แต่ห้ามออกจากบริเวณควบคุมจนกว่าเหตุการณ์จะคลี่คลาย โดยคนที่ออกไปนอกเขตจะกลับเข้ามาในบริเวณควบคุมอีกไม่ได้
หมออนามัย หรือนักรบเสื้อฟ้า ที่ทำงานร่วมกับอาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. เป็นกำลังสำคัญในสมรภูมิโควิด ทำการเฝ้าระวัง คัดกรอง ค้นหา ตรวจเชิงรุก ควบคุม และดูแลรักษา ผู้ติดเชื้อโควิด เพื่อป้องกันไม่ให้ระบาดลุกลามไปที่อื่น ด้วยความลำบาก เสี่ยงภัย เสี่ยงชีวิต อย่างใกล้ชิดประชาชน
ที่ทำงานของหมออนามัย อยู่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งพัฒนามาจากสถานีอนามัย สุขศาลา และโอสถศาลาที่ตั้งมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และโรงพระโอสถสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยอาจอาศัยแนวการปฏิบัติงานของ อโรคยาศาล สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่7 ยุคเขมรโบราณกว่า 800 ปีมาแล้ว
จังหวัด สมุทรสาคร มีโรงงานกว่า 10,000 แห่ง คนทำงานกว่า 300,000 คน ส่วนหนึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวจาก พม่า มอญ และเขมร ทั้งที่เข้ามาทำงานโดยถูกและผิดกฎหมาย แต่การที่จะตรวจหาเชื้อโควิดจากคนงานทั้งหมดย่อมเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมหาศาล ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงจัดการให้มีตรวจคนงานทุกคนในโรงงานขนาดใหญ่ที่มีคนงานเกิน 500 คน จำนวนราว 100 โรงงานเสร็จไปเรียบร้อยแล้ว และ กำลังทยอยตรวจในโรงงานขนาดกลางและเล็ก โดยสุ่มตรวจจากกลุ่มเสี่ยงราวร้อยละ 10 ของคนงานในโรงงานคือประมาณ 30,000คน หากที่ใดพบผู้ติดเชื้อเกินร้อยละ10 ก็จะขยายการตรวจคนงานทุกคนของโรงงานนั้นทันที
การทำงานอย่างเสี่ยงอันตราย เสี่ยงชีวิต ด้วยความพยายามอย่างหนัก ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หมออนามัย ภายใต้การนำของ นายมานะ เปาทุย เป็นสิ่งที่ควรยกย่อง สรรเสริญ อย่างยิ่งไปตลอดกาล
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี