เนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ครบ ๔๔ ปี ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งประกอบด้วยทั้งภาครัฐและเอกชน จะจัดงาน “วันวิภาวดี” ขึ้นเพื่อสดุดีและบำเพ็ญกุศลถวายพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ดังเช่นได้จัดมาทุกปี ณ ลานอนุสาวรีย์ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อรำลึกถึงคุณความดีให้อนุชนรุ่นหลังและประชาชนทั่วไปได้ทราบสืบต่อไป
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงมีพระนามเดิมว่าหม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต ทรงเป็นพระธิดาในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัสต้นราชสกุลรัชนี) และหม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ (วรวรรณ) รัชนี ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๓ทรงมีอนุชาร่วมพระบิดามารดาเดียวกันหนึ่งองค์คือ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี
พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ แล้วจึงศึกษาหลักสูตรสมบูรณ์ศึกษาที่โรงเรียนนี้เพิ่มเติมอีก ๓ ปี ทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ ภายหลังจากที่ทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตได้ทรงรับใช้พระบิดาอย่างใกล้ชิด กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เป็นที่รู้จักกันดีในวงการประพันธ์ในนาม“น.ม.ส.” ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น“กวีเอก” ผู้หนึ่งแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คล้ายพระบิดา พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตทรงพระปรีชาสามารถหลายประการ โดยเฉพาะทางอักษรศาสตร์ ทรงเขียนเรื่องสำหรับเด็กเมื่อพระชันษาเพียง ๑๔ ปี และทรงใช้นามปากกา “ว.ณ ประมวญมารค” ทรงพระนิพนธ์นวนิยายอมตะเรื่อง ปริศนา รัตนาวดีเจ้าสาวของอานนท์ ฯลฯ อีกทั้งสารคดีเรื่อง ตามเสด็จอเมริกา ตามเสด็จปากีสถาน ต่อมา ทรงพระนิพนธ์นวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องพระราชินีนาถวิกตอเรีย คลั่งเพราะรัก ฯลฯ นอกจากนั้นยังได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องสั้นรวมทั้งบทละครวิทยุด้วย
พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตเสกสมรสกับหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิตเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๙ โดยทรงเป็นคู่สมรสคู่เดียวที่ได้รับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์จากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลพระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงมีธิดา๒ คน คือ หม่อมราชวงศ์วิภานันท์ และหม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต
พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคต่างๆ ในราชอาณาจักรตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๐ และต่อจากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โดยเสด็จในตำแหน่งนางสนองพระโอษฐ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยือนต่างประเทศ รวม ๒๕ ประเทศ
ในระยะ ๑๐ ปีสุดท้ายของพระชนม์ชีพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตทรงปฏิบัติภารกิจแทนพระองค์ในด้านการพัฒนาพื้นที่ทุรกันดารภาคใต้ทรงนำหน่วยพระราชทานไปช่วยเหลือประชาชนในท้องที่ที่ห่างไกลและทุรกันดารที่สุด โดยมิได้ทรงย่อท้อต่อความยากลำบากในการเดินทางหรือที่พักแรม เมื่อพระองค์ท่านเสด็จที่ใดก็ได้นำความไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และต่อมาความเจริญก็ค่อยๆ ไปถึงที่นั้น จนในที่สุดชาวบ้านจึงได้ขนานพระนามว่า “เจ้าแม่” พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นด้วยการเสด็จเยี่ยมเยียนประชาชนพาแพทย์ไปรักษาพยาบาลคนที่เจ็บป่วยจัดสิ่งของหยูกยาไปช่วยชาวบ้านที่ยากไร้หรือประสบภัย แจกอุปกรณ์การศึกษาแก่เด็กนักเรียน แนะนำการงานอาชีพและส่งเสริมศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้งยังนำสิ่งของพระราชทานไปเยี่ยมบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร พลเรือน สมาชิกกองอาสาสมัครรักษาดินแดน แม้ในเขตที่มีผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการอย่างรุนแรง ก็ยังทรงพระอุตสาหะเสด็จไปให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ถึงแนวหน้า
เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๐ ระหว่างทางเสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์เพื่อนำสิ่งของพระราชทานไปเยี่ยมบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่ที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทรงทราบจากวิทยุว่ามีตำรวจตระเวนชายแดนได้รับบาดเจ็บจากกับระเบิด ๒ นาย ด้วยความที่ทรงห่วงใยผู้บาดเจ็บเกรงว่าจะได้รับการรักษาพยาบาลไม่ทันท่วงที จึงรับสั่งให้นักบินเฮลิคอปเตอร์ร่อนลงเพื่อรับเจ้าหน้าที่ที่บาดเจ็บ๒ นายนั้น ไปส่งโรงพยาบาล ขณะที่นักบินนำเครื่องร่อนลงต่ำใกล้บ้านเหนือคลอง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้ก่อการร้ายได้ระดมยิงเฮลิคอปเตอร์ กระสุนทะลุเข้ามาต้องพระองค์ ทรงได้รับบาดเจ็บสาหัสและสิ้นพระชนม์ก่อนเสด็จถึงโรงพยาบาล
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงมีพระบรมราชโองการให้สถาปนาหม่อมเจ้าวิภาวดีรังสิต เป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า
วิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๐ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์และประถมาภรณ์ช้างเผือก และรัฐบาลในขณะนั้น โดย ฯพณฯ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี ได้อัญเชิญพระนามมาตั้งชื่อถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ที่เชื่อมต่อถนนในกรุงเทพฯ กับถนนไปสู่ภูมิภาคทั่วประเทศว่า “ถนนวิภาวดีรังสิต” เพื่อเทิดพระเกียรติ และเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึงพระประวัติ ผลงาน และการเสียสละของพระองค์ท่าน
ถึงแม้ว่าพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตได้สิ้นพระชนม์ไป ๔๔ ปีแล้ว แต่คุณงามความดีของท่านยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวใต้ ชาวสุราษฎร์ฯ ได้กำหนดวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของทุกปี คือวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ เป็น “วันวิภาวดี” เพื่อทำพิธีสดุดีและบำเพ็ญกุศลถวาย ณ พระอนุสาวรีย์๕ แห่งทั่วจังหวัดสุราษฎร์ธานี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี