ช้างเป็นสัญลักษณ์สยาม
สืบเนื่องจากวันอนุรักษ์มรดกไทยเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ที่ผ่านมา กรมศิลปากรโดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ได้นำเสนอ “ตำราช้างในเอกสารโบราณ” เป็นเอกสารที่หายากและน่าสนใจยิ่ง อาจารย์ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ผู้เชี่ยวชาญอักษรโบราณได้ใช้เวลากับการถอดบทเรียนจากเอกสารเก่าด้วยความตั้งใจ เพราะเหตุที่ช้างกับมนุษย์ได้มีความสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อกันมากว่า ๔,๐๐๐ ปี และมนุษย์ได้มีวิธีการนำช้างออกจากป่ามาใช้เป็นพาหนะที่แสดงถึงอำนาจเหนือช้างจนช้างถูกใช้เป็นอาวุธด้วยมีพลังมากกว่าสัตว์อื่นในการสู้รบ จึงมีการพัฒนาการคติความเชื่อให้ช้างกลายมาเป็น “สัตว์มงคล” คู่บารมีของผู้ครอบครอง ดังนั้นการสร้าง “ตำราคชศาสตร์” ขึ้นในดินแดนอินเดียเหนือโดยนักบวชและปราชญ์โบราณจดบันทึกพฤติกรรมของช้างไว้ แล้วนำสร้างเป็นตำราสำหรับกษัตริย์จึงทำให้ตำราคชศาสตร์จากอินเดียได้เดินทางมาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิแหล่งที่มีช้างจำนวนมากพร้อมกับคติความเชื่อทางศาสนา เทคโนโลยี การปกครอง การค้าขาย เป็นต้น ด้วยเหตุที่ตำราคชศาสตร์ถูกถ่ายทอดเรียนรู้กันในสยามประเทศ จึงมีความคล้ายคลึงกับต้นกำเนิดตำราช้างในอินเดีย ดังปรากฏว่า “หมอเฒ่า” หรือ “หัวหน้าครูช้าง” นั้นคือ “พราหมณ์พฤติบาศ” ตามคำเรียกของสันสกฤต ส่วน “ครูช้าง” นั้นคือ“พราหมณ์หัศดาจารย์” ซึ่งพราหมณ์ทั้งสองนี้จะร่วมกันในพิธีกรรมสำคัญที่เกี่ยวกับช้างโดยเฉพาะ และพลอยให้นักบวชในศาสนาฮินดูนั้นถูกเรียกเป็น พราหมณ์ ไปด้วย เช่นเดียวกับเรียกชื่อ ศาสนาพราหมณ์แทนศาสนาฮินดูจากอินเดีย
ช้างในพระเวสสันดรชาดก
ตำราคชศาสตร์นี้เป็นตำราในคัมภีร์ไตรเพทของศาสนาฮินดู เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของช้าง แบ่งออกเป็น ๒ ตำรา คือ ตำราคชลักษณ์กล่าวถึงรูปพรรณสัณฐานของช้าง ทั้งดีและชั่ว และตำราคชกรรม กล่าวถึงตำราที่รวบรวมเวทมนตร์คาถา กระบวนการจับช้าง รักษาช้าง และการบำบัดเสนียดจัญไรต่างๆ ของช้าง นอกจากตำราคชศาสตร์แล้วสยามประเทศยังมีตำรานารายณ์ประทมสินธุ์ กล่าวถึงการกำเนิดช้างมงคลว่า พระนารายณ์บรรทมบนเกษียรสมุทร บังเกิดดอกบัวจากพระอุทรมี ๘ กลีบ๑๗๓ เกสร จึงนำไปถวายพระอิศวร ที่เขาไกรลาศพระอิศวรแบ่งเกสรดอกบัวนั้นประทานแก่ พระองค์เองพระอิศวร รับเกสรไว้ ๘ เกสร ประทานแก่ พระพรหมจำนวน ๒๔ เกสร ประทานแก่ พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ จำนวน ๘ เกสร และประทานแก่พระอัคนีหรือพระเพลิง จำนวน ๑๓๕ เกสร ไว้อีกด้วย สร้างความเชื่อว่าพระอิศวร พระพรหม พระวิษณุ และพระเพลิงเทวดา ๔ องค์นั้นต่างสร้างช้างเผือกตระกูลต่างๆ ขึ้น๔ ตระกูล จากดอกบัว โดยหมายว่าดอกบัวให้เป็นโลกพระพรหม พระอิศวร พระวิษณุและพระอัคนีมหาเทพทั้งสี่ ทรงเนรมิตช้างจากกลีบและเกสรบัวที่พระนารายณ์ประทาน และสามารถแบ่งช้างมงคลเป็น ๔ ตระกูล ตามนามแห่งเทพหรือพระผู้เป็นเจ้าผู้ให้กำเนิด คือ ช้างตระกูลพรหมพงศ์, ช้างตระกูลอิศวรพงศ์, ช้างตระกูลวิษณุพงศ์ และ ช้างตระกูลอัคนีพงศ์ ซึ่งมีช้างในตระกูลต่างๆ ดังนี้ ช้างตระกูลพรหมพงศ์ มีตระกูลช้างไอยราพต, ช้างบุณฑริก, ช้างพราหมณ์โลหิต, ช้างกมุท, ช้างอัญชัน, ช้างบุษปทันต์,ช้างเสาวโภค, ช้างสุประดิษฐ์และช้างอีก ๑๐ หมู่ช้างตระกูลอิศวรพงศ์ มีตระกูล ช้างอ้อมจักรวาฬ,ช้างคชกรรณหัสดี, ช้างเอกทันต์, ช้างกาฬทันต์,ช้างจัตุศก, ช้างโรมทันต์,ช้างสิงหชงฆ์, ช้างจุมปราสาท, ช้างตระกูลวิษณุพงศ์ มีตระกูลช้างสังขทันต์, ช้างพะหัสดิน,ช้างชมลบ, ช้างลบชม,ช้างครบกระจอก, ช้างพลุกสดำ, ช้างสังขทันต์อีกพวกหนึ่ง, ช้างโคบุตร,ช้างตระกูลอัคนีพงศ์สร้างช้าง ๕๑ จำพวก เช่นช้างประพัทจักรวาฬ,ช้างเศวตพระพร, ช้างปทุมหัสดี, ช้างเศวตาคชราช, ช้างประทุมทันต์,ช้างประทุมทนต์, ช้างประทุมทันต์มณีจักร เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีช้างชาติอำนวยพงศ์ต่างๆ มีนามของช้างพังและลักษณะของช้างที่ให้โทษ ๘๐ ประการ ส่วนตำราคชกรรมนั้นเป็นศาสตร์โบราณที่นำไปสู่เครื่องรางของขลังและองค์ความรู้การจับช้าง การฝึกช้าง การดูแลรักษาช้าง ที่เชื่อว่าช้างนั้นมีเทวดารักษา หมอควาญหรือครูช้างต้องฝึกและเรียนรู้ที่ต้องมี “ชนัก” ติดตัวเสมอ ซึ่งสามารถหารายละเอียดจากตำราและภาพเขียนที่ปรากฏโดยเฉพาะ ส่วน “ตั๋วช้าง”นั้นต้องไปหาเอาที่อื่น เป็นเรื่องนอกตำรา ครูเฒ่าถือว่าเป็นเสนียด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี