วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ทำให้คนทั่วโลกตกงานหรือขาดรายได้หลายร้อยล้านคน ทำให้คนจำนวนมากที่เข้ามาหาทำงานในเมืองต้องกลับไปบ้านในชนบท เพื่อหาปูปลากินประทังชีวิต แต่มีบางคนค้นพบวิธีหารายได้ในยุคโควิดด้วยการเลี้ยงควายไทย ซึ่งเป็นวิธีการโบราณ มาตั้งแต่สมัยบ้านเชียง ที่ขุดพบกระดูกควายในหลุมศพอายุราว 5,000 ปี
ควายไทยธรรมดาราคาตัวละประมาณ 1 - 2 หมื่นบาท แต่ถ้าเป็นพ่อพันธุ์ ควายงามตัวใหญ่ ลักษณะดีที่ชนะการประกวด สูงใหญ่ยาวหนาลึก กระดูกแข้งขาใหญ่ เชื่อง กินหญ้าเก่ง ตาแต้ม แก้มจ้ำ ถุงเท้าขาว ตัวยาว กระดูกใหญ่ปล้องคอสามเส้น ราคาจะพุ่งขึ้นเป็นตัวละหลายแสน ถึงกว่าล้านบาท
ข้อมูลจากศูนย์สนเทศกระบือนานาชาติ เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ระบุว่า ในประเทศไทยมีควายราว 1.2 ล้านตัว เป็นตัวผู้ 5 แสนตัว ตัวเมีย 7 แสนตัว จังหวัดที่มีควายมาก คือ สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ
โดยต้นตำราควายงามของประเทศไทย เริ่มต้นที่ “ปู่เบิ้ม” ซึ่งเป็นควายไทยที่ นายเสมียน หมายชัย นักพัฒนาพันธุ์ควายแห่ง อ.บ้านศรีธาตุ จ.อุดรธานี ได้ไปค้นพบชื้อมาราคา 36,000 บาท จากชาวบ้านในหุบเขาป่าลึก อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ นำมาเลี้ยงบำรุงอย่างดี แล้วส่งประกวดได้รางวัลชนะเลิศในงานเกษตรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ปี 2536 ต่อมา นายเกษม - นางประนอม มะแอ นักค้าวัวควายที่มีนบุรี ได้ซื้อปู่เบิ้มมาเลี้ยงไว้
พ.ศ. 2542 นายอาทร จันทวิมล เลขาธิการสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ใช้เงินบริจาค 1 แสนบาท ซื้อปู่เบิ้มจาก นางประนอม มอบให้กรมปศุสัตว์นำไปขยายพันธุ์ ที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์สุรินทร์ โดยมี นายสุพรชัย ฟ้ารี เป็นผู้ดูแล ได้ลูกควายทั้งตัวผู้ตัวเมียราว 90 ตัว
ต่อมา เกิด “วัณโรคควาย” ในศูนย์บำรุงพันธ์สัตว์สุรินทร์ ทำให้ต้องฆ่าควายในศูนย์สุรินทร์ รวมทั้งลูกปู่เบิ้มทั้งหมดอย่างน่าเสียดายยิ่ง แต่ยังโชคดีที่ปู่เบิ้มรอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด เพราะก่อนเกิดโรคระบาด พ.ต.อ.อเนก เตาสุภาพ
ได้ทำหนังสือขอยืมปู่เบิ้มไปขยายพันธุ์ที่อุทัยธานี จนเกิดลูก ชื่อ “เบิ้มพันล้าน” ที่ ทนายเยม จากขอนแก่น ได้ซื้อต่อไปผลิตน้ำเชื้อขายไปราวหมื่นโดส ได้เงินไปหลายล้านบาท และขณะนี้ นายกิตติ กุบแก้ว ปสุสัตว์จังหวัดอุบลราชธานี ได้นำน้ำเชื้อควายเบิ้มพันล้าน และ เงินอุทัย ไปผสมเทียมกับแม่พันธุ์ดีที่สุดของทั้ง 20 อำเภอในจังหวัดอุบลราชธานี
คุณวิไลลักษณ์ พาภักดี หรือ อุ๋ม คนรุ่นใหม่ อายุราว 26 ปี เจ้าของภักดีฟาร์มที่ บ้านโพธิ์ทอง ต.หนองนาคำ อ.เมือง จ. อุดรธานี (065-092-9583) อดีตนักวิชาการเกษตรพืชไร่ เรียนจบปริญญาตรีเกษตรพืชสวน จากหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ลาออกจากการเป็นลูกจ้าง มายึดเอาการเลี้ยงควายสวยงามสำหรับส่งประกวด สืบต่ออาชีพเลี้ยงควายของพ่อแม่ โดยเลี้ยงควายเพียง 15 ตัว และปลูกหญ้า 1 ไร่สำหรับควายหนึ่งตัว ด้วยการหาซื้อแม่ควายพันธุ์ดีจากที่ต่างๆ มาผสมเทียมหรือผสมจริงกับน้ำเชื้อควายงามที่มีชื่อเสียง
เมื่อออกลูกมาหย่านมแล้ว จะขายได้ตัวละราว 1-2 แสนบาท โดยมีคนมาจองตั้งแต่ก่อนลูกควายจะเกิด เธอมีแม่พันธุ์ 4 ตัว ออกลูกปีละตัว ขายได้เงินปีละ 4 แสนบาท ถ้าขายแม่พันธุ์ก็ได้ตัวละประมาณ 4 - 5 แสนบาท ขายหญ้าแพงโกล่าอายุ 3 เดือนได้ตลอดปี รายได้เดือนละ 30,000 - 40,000 บาท ขายมูลควาย รวมรายได้ปีละประมาณ 5 แสนบาท ซึ่งเป็นเงินมากกว่าการทำงานประจำ โดยไม่ต้องเป็นลูกน้องคอยรับคำสั่งใคร อยากทำงานเวลาไหนก็ได้
การเลี้ยงควายไว้นั้นคล้ายเป็นเงินฝากออมสิน ในยุคโควิดนี้ เธอขายลูกควายได้ดี เพราะมีคนรุ่นใหม่ต้องการซื้อมาก เธอเปลี่ยนระบบการเลี้ยงควายแบบเลี้ยงไล่ทุ่งแทะเล็ม มาเป็นเลี้ยงในคอก ปลูกหญ้า อย่างดีตัดให้กินทำให้ควายอ้วนท้วนสมบูรณ์ ส่งประกวดได้รางวัลเป็นประจำ โดยไม่ได้เลี้ยงขายเพื่อส่งโรงฆ่าสัตว์ เธอฉีดยา ให้วัคซีนควายด้วยตนเอง โดยเรียนจาก ดร.ต๋อง ที่กาฬสินธุ์ เธอบอกว่า จุดสำคัญของการเลี้ยงควาย คือ การปลูกหญ้า เพราะถ้าไปซื้อหญ้าของคนอื่นมาอาจมียาฆ่าแมลง ฆ่ารา เธอขายหญ้าได้กระสอบละ 50 บาท และปลูกกล้วยระหว่างแปลงหญ้าด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี