การนำขวดพลาสติกใส หรือขวด PET (Poly Ethylene Terephthalate) ที่ถูกทิ้งเป็นขยะไปแปรรูปเป็นเส้นใยแล้วนำไปผลิตชุดสวมสำหรับผ่าตัด และชุด PPE (Personal Protective Equipment) คือการแปรรูปขยะให้เป็นเสมือนทองคำ แต่ที่มากกว่านั้นคือสามารถลดขยะมูลฝอย และเพิ่มความปลอดภัยในการทำงานของคุณหมอและพยาบาล ขณะช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย โดยเฉพาะในยุคที่โควิด-19 กำลังรุกรานโลกมนุษย์
ไลฟ์วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย นำคุณไปสนทนาถึงการผลิตชุด PPEจากขยะที่มาจากขวด PET ที่ถูกทิ้งกลาดเกลื่อนในสังคมไทย กับ คุณสุพจน์ ชัยวิไล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยแทฟฟิต้า จำกัด
อยากเรียนถามแนวคิดนำขวด PET ไปแปรรูปเป็นชุด PPE ที่กำลังเป็นสิ่งของซึ่งคนเกือบทั้งโลกต้องการในยามถูกโควิด-19 เล่นงานอย่างหนัก
คุณสุพจน์ : อันที่จริงหลายประเทศที่พัฒนาแล้วเขานำขวด PET ที่ใช้แล้วไปแปรรูปเป็นเสื้อผ้ามาระยะหนึ่งแล้วครับ ผมเองอยู่ในแวดวงการผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ดังๆ ระดับโลกให้กับลูกค้าต่างชาติมานานถึง 30 ปี และมองเห็นแนวทางการใช้เส้นใยสำหรับทำสิ่งทอจากวัสดุ re-cycleมาประมาณ 20 ปี เพราะแนวโน้มของโลกไปในทิศทางนั้น เราทุกคนคงทราบดีว่าเสื้อผ้าของเรานั้นส่วนมากก็ทำมาจากเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ซึ่งมันก็คือวัสดุตัวเดียวกับขวด PET ที่เราใช้แล้วทิ้งบ้านเรามีขวด PET มากมายที่ถูกทิ้ง ผมจึงเกิดความคิดว่าต้องนำขยะเหล่านี้ไปแปรรูปเป็นเสื้อผ้า แต่เมื่อถึงวันหนึ่งที่สังคมของเราประสบวิกฤติโควิด-19 อย่างหนัก คุณหมอ คุณพยาบาล และบุคลากรการแพทย์ขาดแคลนชุด PPE ผมได้รับโจทย์จากคุณหมอโสภณ เมฆธน (อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข) ในช่วงนั้นท่านเป็นประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรมแห่งประเทศไทยท่านต้องการให้ช่วยผลิตชุด PPE ให้บุคลากรการแพทย์ในช่วงที่บ้านเรากำลังขาดแคลนชุดชนิดนี้อย่างหนัก และไม่สามารถนำเข้าสินค้าตัวนี้จากต่างประเทศได้ด้วย แต่มีเงื่อนไขว่าต้องผลิตให้เร็วและมากพอกับความต้องการของบุคลากรการแพทย์ของเรา และต้องได้มาตรฐานการแพทย์สากลด้วย เมื่อได้รับโจทย์มา ผมก็มาคิดถึงการผลิตเสื้อผ้าตามปกติที่ผมทำมาตลอด แล้วดัดแปลงผลิตชุด PPE จากเส้นใยโพลีเอสเตอร์จากขวด PET เมื่อผลิตได้แล้วก็นำไปให้บุคลากรทางการแพทย์ทดลองใช้งานจริง ซึ่งพบว่าสามารถใช้งานได้ดีในระดับหนึ่ง แล้วจากนั้นก็นำมาพัฒนาคุณภาพตลอดเวลา จนที่สุดเราได้ชุด PPE ที่ได้มาตรฐานการแพทย์ระดับสากล ซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงเท่ากับสินค้าที่ผลิตในยุโรปและสหรัฐฯ เนื่องจากผมมี background การผลิตเสื้อกาวน์สำหรับแพทย์ผ่าตัดอยู่ก่อนแล้ว ผมก็จึงมาพัฒนาเป็นชุด PPE ต่อไปได้ในระยะเวลาที่ไม่นานนัก แต่โจทย์ยากคือต้องทำสินค้ามาตรฐานที่ราคาไม่สูงเท่าสินค้านำเข้า โดยเน้นมาตรฐานระดับ AAMI PB70 level 2 คือมีคุณสมบัติกันน้ำและสะท้อนน้ำได้ คำว่าสะท้อนน้ำคือเวลาน้ำโดนเสื้อแล้วมันไม่ซึมเข้าในตัวผ้า แต่มันจะไหลลงมา แต่ถ้าหากเรากดไปบนน้ำ น้ำก็จะซึมเข้าในเนื้อผ้าได้บ้าง ส่วนกันน้ำคือจะทนแรงกดน้ำได้ดีกว่า เพราะน้ำจะไม่ซึมเข้าไปในเนื้อผ้า ถามว่าทำไมต้องไม่ให้น้ำซึมเข้าในตัวเสื้อ ก็เพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 จากฝอยละอองน้ำลายและน้ำมูก ที่อาจจะออกมาจากการจาม การไอของคนมีเชื้อโควิด-19 ผมศึกษาปัญหานี้แล้วพบว่าชุด PPE ที่ผลิตในบ้านเราในยุคแรกๆ ไม่สามารถสะท้อนน้ำได้ นั้นก็หมายความว่าบุคลากรการแพทย์ต้องเสี่ยงกับการติดเชื้อ และยังเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ เพราะได้ชุดไม่มีมาตรฐาน เมื่อเราผลิตเส้นใยตัวนี้ขึ้นมาแล้วก็ทดลองทำชุด PPE ปรากฏว่าสวมแล้วไม่ร้อนไม่อบ และได้มาตรฐานสากล แถมยังนำไปซักแล้วใช้ได้อีก 20 ครั้ง เมื่อทุกอย่างลงตัว ผมจึงร่วมกับสถาบันสิ่งทอไทยและองค์การเภสัชกรรมฯ และบุคคลในแวดวง garment ของไทยช่วยกันทำงานนี้ขึ้นมา โดยใช้เวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น เพราะเราได้รับโจทย์ว่าต้องเร็วและได้มาตรฐาน รวมถึงราคาไม่สูงเกินไป
งานได้รับการตอบรับจากบุคลากรการแพทย์ดีไหมครับ
คุณสุพจน์ : ต้องยอมรับว่าแรกๆ ก็มีอุปสรรคบ้าง แต่ก็ผ่านพ้นไปได้ แรกๆ ชุดที่เราผลิตไม่ค่อยได้รับความสนใจจากคุณหมอมากนัก เพราะไม่คุ้นเคย เนื่องจากที่ผ่านมานั้นคุณหมอใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แต่เมื่อคุณหมอได้ทดลองใช้แล้วก็พบว่าเบา ไม่ร้อน และสามารถนำไปซักแล้วกลับมาใช้ได้อีก ซึ่งช่วยลดการขาดแคลนชุดได้อย่างดีก็จึงทำให้คุณหมอยอมรับมากขึ้น ยิ่งในช่วงที่ขาดแคลนชุด PPE อย่างหนัก ก็ทำให้ชุด PPEที่เราผลิตได้รับความนิยมมาก เพราะใช้แล้วนำมาใช้ซ้ำได้อีก ประกอบกับคุณหมอเห็นตรงกันว่าสวมแล้วไม่อบไม่ร้อน เนื่องจากชุดที่เราทำนั้นเป็นคล้ายๆisolate gown ไม่เป็นชุดที่คลุมทั้งตัวแบบ coveredall แต่การสวมชุดแบบ isolate gown ต้องผ่านการฝึกการถอดชุดก่อน เพื่อป้องกันการสัมผัสผิวด้านนอกของชุด ซึ่งอาจจะมีเชื้อโรคติดอยู่ เมื่อชุดที่ผมผลิตไม่ทำให้คุณหมอร้อน ก็ทำให้ลดเหงื่อจากร่างกาย เมื่อเหงื่อน้อย ก็ลดการติดเชื้อไปโดยปริยาย เพราะเหงื่อที่ซึมออกมามากๆก็ทำให้ตะเข็บของชุดกลายเป็นเขตที่สามารถถูกเชื้อโรคซึมเข้าไปกับน้ำเหงื่อได้ และที่สำคัญชุดที่ผมผลิตไม่มีตะเข็บ เพราะทำจากผ้าชิ้นเดียว ดังนั้นจึงหมดปัญหาเรื่องรอยตะเข็บ ประกอบกับชุดนี้เป็นเสมือนกระโปรง จึงทำให้ระบายความร้อนออกทางด้านล่างได้ ซึ่งดีกว่าชุดแบบ covered all แล้วเมื่อสวมรองเท้าแบบ shoes coveredช่วยป้องกันเชื้อได้ดี ส่วนหน้าก็สวม surgical mask และ face shield ก็ทำให้ไม่ร้อนไม่อบในขณะปฏิบัติงาน
ชุด PPE หนึ่งชุด ลดขยะจากขวด PET ได้ มากน้อยแค่ไหนครับ
คุณสุพจน์ : สำหรับขวด PET ที่ใช้ได้คือ ขวดที่มีสัญลักษณ์ re-cycle และต้องเป็นเบอร์ 1 เท่านั้น เมื่อได้ขวดมาแล้วก็นำไปเข้ากระบวนการผลิต ซึ่งผมอนุญาตไม่ลงรายละเอียด เมื่อเสร็จแล้วก็จะฉีดเป็นเส้นใยแล้วนำไปทอ โดยเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการทำชุดกันน้ำหรือสะท้อนน้ำ และเพิ่มสาร anti bacteria สำหรับชุด PPE ที่ผมผลิตนั้นหนึ่งตัวใช้ขวด PET ประมาณ 18 ขวด (ขวด 600 มิลลิลิตร) ล่าสุดเราผลิตไปแล้ว 4 แสนตัว ก็นำ 18 ขวดคูณเข้าไป ก็ช่วยลดขยะได้มากแล้วครับ ผมขอเชิญชวนทุกท่านแยกขยะโดยเฉพาะขวด PET เบอร์หนึ่งนะครับ เพราะเป็นประโยชน์กับการผลิตเสื้อผ้าจำพวกเส้นใยโพลีเอสเตอร์มาก และเป็นการสร้างจิตสำนึกลงขยะด้วย ในบ้านเราเคยมีแคมเปญ แยกขวดพลาสติกเพื่อช่วยหมอ ในโครงการแยกขวดช่วยหมอ และนำไปทำชุด PPE ให้กับหมอที่ทำงานในเขตทุรกันดารทั่วประเทศ
สินค้าตัวนี้ของคุณสุพจน์ ส่งขายต่างประเทศกี่ประเทศครับ
คุณสุพจน์ : ปัจจุบันนอกจากผลิตสำหรับใช้ในประเทศไทยแล้ว ผมส่งออกไปประเทศต่างๆ ในยุโรป และสหรัฐฯ ญี่ปุ่น โดยส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่ายประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ของการผลิต สินค้าของเราและของคนไทยมีชื่อเสียงในต่างประเทศมากครับ เรามี know how ที่ดี และผลิตได้มาตรฐานสากล เราผลิตสินค้าส่งออกมากมายไม่ใช่แค่เพียงสิ่งทอเท่านั้น แต่คนไทยสามารถผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รถยนต์ และสินค้าอื่นๆที่ต่างชาติต้องการมากมาย แต่เราไม่ได้สร้างแบรนด์ของเราขึ้นมา จึงทำให้เราเป็นได้แค่ผู้ผลิต (OEM, Original Equipment Manufacturer)ซึ่งเราต้องสร้าง brand ของเราขึ้นมาให้ได้ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าของเรา สำหรับการผลิตเสื้อผ้าจำพวก PPE นั้น อันที่จริงในช่วงโควิด-19 ระบาดเราได้พัฒนาชุด PAPR หรือชุดที่หลายคนเรียกเล่นๆ ว่าชุดอวกาศด้วย ชุดนี้ช่วยป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ดี เพราะใช้เทคนิคแรงดันอากาศจากข้างในตัวเสื้อให้ดันสิ่งแปลกปลอมออกไปจากตัวเสื้อ ทำให้เชื้อไม่สามารถซึมผ่านเข้าไปได้ชุดชนิดนี้หมอที่ผ่าตัดผู้ป่วยที่มีเชื้อโรคที่น่ากลัวมักนิยมใช้กันมาก ซึ่งสมัยก่อนเราต้องนำเข้าเท่านั้น แต่ยุคนี้เราผลิตได้เอง และส่งออกไปต่างประเทศได้ด้วย ต้องย้ำว่าฝีมือด้าน garmentของผู้ผลิตในบ้านเราได้รับการยอมรับจากนานาชาติมานานแล้ว แต่น่าเสียใจที่คนไทยบางกลุ่มยังมองไม่เห็นฝีมือของคนไทยด้วยกันเองล่าสุด ผมพัฒนาชุด PPE ให้ออกมาเป็นเสื้อกันลมซึ่งใช้ผ้าเนื้อเดียวกันกับชุด PPE แต่ design ให้ออกมาแล้วเหมาะสำหรับสวมใส่เวลาเดินทางไปในชุมชนพร้อมทั้งทำ hood และมีกระดุมติด face shieldได้ด้วย ซึ่งเสื้อแบบนี้เป็นที่นิยมมากในไต้หวัน เพราะใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และนำไปซักแล้วใช้ได้อีก ไม่ใช่ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งเป็นการเพิ่มขยะให้กับโลกของเรา
คุณจะได้พบรายการดีที่ครบครันด้วยสาระและความรู้ รายการ ไลฟ์ วาไรตีออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 16.00-16.25 น.ทางโทรทัศน์ NBT กดหมายเลข 2 และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTubeไลฟ์ วาไรตี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี