พระพุทธรูป-ศิลปคันธาระ
ผลจากการเดินทางไปยังแหล่งโบราณคดีที่เมืองคันธาระนั้น ได้พบว่า พระพุทธรูปศิลปคันธาระ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่สร้างรุ่นแรกของโลกนั้น ได้มีการพบอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิหรือประเทศไทยด้วย อาทิตย์นี้ขอตามรอยสยามไปเรียนรู้ถึงศิลปะคันธาระ เพื่อหาร่องรอยทางโบราณคดีเท่าที่จะสืบค้นได้ ก่อนอื่นนั้นต้องรู้จักแคว้นคันธาระกันก่อนว่า เมืองนี้ตั้งอยู่ในหุบเขาเปศวาร์ ของประเทศปากีสถาน ระหว่างเทือกเขาสุไลมานติดพรมแดนของอัฟกานิสถาน มีแม่น้ำสินธุไหลขนาบข้างและเป็นแหล่งอารยธรรมของในอินเดียโบราณ เป็นแหล่งที่มีวัฒนธรรมอินเดียโบราณผสมกับวัฒนธรรมกรีกไซเธียน ปาร์เธียน และกุษาณะ จนเป็นต้นกำเนิดของศิลปะแบบคันธาระ ที่เราเรียกกันว่า ศิลปะแบบคันธารราฐ ขึ้นดังนั้นแคว้นคันธาระจึงถือเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาในสมัยโบราณ ด้วยมีการค้นพบธรรมบทภาษาคันธารีที่เมืองโขตาน เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีน และพบคัมภีร์ใบลานและเปลือกไม้ คัมภีร์ว่าด้วยเรื่องปฐมเทศนาคำสวดมนต์ ในอัฟกานิสถาน เป็นต้น อันเป็นไปตาม มหาปรินิพพานสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรหนึ่งในพระไตรปิฎกที่กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้เคยตรัสกับพระอานนท์ว่า “อานนท์! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลายธรรมวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา อานนท์! ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไปแห่งเราก็ดี ใครก็ตามจักต้องมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ; มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ”
เจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ
ต่อมาอีก ๑๐๐ ปี จึงมีสถูปเจดีย์ในพระพุทธศาสนายุคเริ่มแรก ในช่วงราชวงศ์โมริยะและราชวงศ์ศุงคะ เมื่อราว ๒๐๐-๕๐๐ ปี คือศิลปะอินเดียโบราณที่มีแต่ภาพสัญลักษณ์มงคลหรือภาพสลักเรื่องราวในพุทธประวัติที่ไม่ปรากฏรูปของพระพุทธเจ้า การสร้างพระพุทธรูปนั้นต่อมาจึงปรากฏในชมพูทวีปหลัง พ.ศ. ๕๐๐ มาแล้วรูปพระพุทธเจ้าในรูปมนุษย์นั้นถูกสร้างขึ้นตามรูปแบบชาวกรีก ที่อาศัยอยู่ในแคว้นแบกเตรีย (Bactria) และแคว้นคันธาระ (Gandhara) ทางทิศเหนือของชมพูทวีป ชาวอินเดียเรียกคนกลุ่มนี้ว่า“โยนก” เป็นชนชาติที่สืบเชื้อสายมาแต่ครั้ง พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (พ.ศ. ๒๐๗-๒๒๐) กษัตริย์กรีกกรีธาทัพมายึดโลกตะวันออกเข้ามาถึงชมพูทวีปแถบบริเวณแคว้นแบกเตรีย และคันธาระ ที่มีลูกหลานชาวกรีกอยู่ตั้งรกรากจนกลายเป็นชาวโยนกของพวกอินเดีย ในทั้งสองแคว้น และคงไม่แปลกที่ช่างชาวกรีก ผู้มีความรู้ทางช่างจะถ่ายทอดวิชามาสร้างประติมากรรม สลักหินรูปพระพุทธเจ้าแทนเทพเจ้าที่ตนชำนาญมาแต่เดิม พระพุทธรูปแรกนี้จึงมีรูปร่างหน้าตาราวเทพบุตรกรีก แบบที่เรียกว่า ศิลปะแบบคันธาระ แม้จะมีการสลักพระพุทธรูปขึ้นที่เมืองมถุรา ในลุ่มแม่น้ำคงคา-ยมุนาก็ตาม ก็ไม่มีรูปลักษณะเหมือนเทพเจ้ากรีก แบบคันธาระ มีรูปร่างคล้ายยักษ์ตามแบบอินเดียโบราณ ที่ชาวพื้นเมืองในเขตลุ่มน้ำสำคัญดังกล่าวสลักกันมาก่อนแล้ว จึงเรียกว่าศิลปะแบบมถุรา ให้แตกต่างกัน ต่อมาราชวงศ์กุษาณะได้เข้ามามีอำนาจในแคว้นคันธาระเมื่อหลัง พ.ศ. ๕๗๓ แล้ว ได้ยึดครองแถบลุ่มน้ำคงคา-ยมุนา ที่มีเมืองมถุราเป็นราชธานีด้วย จนถึงสมัยของพระเจ้ากณิษกะ หรือ พระเจ้าอโศกฝ่ายมหายาน(ครองราชย์ พ.ศ. ๖๖๓-๖๘๗) ทำให้พุทธศาสนาได้แผ่อิทธิพลออกไปอย่างมากมาย รวมถึงการเดินทางของพระพุทธรูปศิลปะคันธาระ ที่เดินทางมายังแคว้นสุวรรณภูมิด้วย
จากการศึกษานั้นพบว่ามีที่การค้นพบพระพุทธรูปศิลปะคันธาระ อยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิทั้งพระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปศิลาและรูปดินเผารูปลักษณะเดียวกับชาวกรีก และเชื่อว่าศิลปะคันธาระนั้นได้มีอิทธิพลให้มีการสร้างพระพุทธรูปศิลปะคันธาระขึ้นในรูปแบบศิลปะทวารวดีตามมา ดังปรากฏว่ามีพระพุทธรูปศิลา ประดิษฐานอยู่ในโบราณสถานหลายแห่ง...ส่วนพระพุทธรูปศิลปะคันธาระรุ่นแรกของโลก ที่เดินทางจากอินเดียโบราณ นั้นต้องถอดบทเรียนถึงการเดินข้ามน้ำข้ามทะเลและสืบค้นแหล่งโบราณคดีที่อยู่ในสุวรรณภูมิที่มีอายุก่อนศิลปะทวารวดีต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี