คณบดีม.ศิลปากรคนแรก
วันที่ ๑๕ กันยายน ทุกปีนั้น เป็นวันรำลึกถึงบุคคลสำคัญผู้บุกเบิกสร้างงานศิลปกรรมของสยามที่รู้จักกันดีซึ่งกำหนดให้วันนี้เป็น “วันศิลป์ พีระศรี” เพื่อให้ชาวศิลปากรได้รำลึกถึงครูฝรั่งผู้อุทิศตนทั้งชีวิตเพื่อนักเรียนและงานศิลปะ จนนาทีสุดท้าย ซึ่งท่านได้สร้างศิษย์คนสำคัญเป็นศิลปินของชาติ สืบสานต่องานศิลปกรรมจนสร้างผลงานสำคัญให้กับแผ่นดินไว้มากมายจนทุกวันนี้อาทิตย์นี้ขอตามรอยสยามไประลึกถึงครูฝรั่งคนสำคัญผู้นี้ คือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีครูฝรั่งหรืออาจารย์ฝรั่งผู้นี้เป็นชาวอิตาลีมีชื่อเดิมว่า คอร์ราโด เฟโรจี (CORRADOFEROCI) เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๕ ณ ซานโจวันนี (San Giovanni) เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เป็นบุตรของ นาย Artudo Feroci และ นาง Santina Feroci ได้เข้าศึกษาทางด้านศิลปะจากโรงเรียนราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ จบหลักสูตรวิชาช่าง ๗ ปีรับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียนและสามารถสอบเป็นศาสตราจารย์ จากราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ (The Royal Academy of Art of Florence) เมื่ออายุ ๒๓ ปี นอกจากท่านจะมีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ วิจารณ์ศิลป์และปรัชญาแล้วยังมีความสามารถทางด้านประติมากรรมและจิตรกรรมเป็นพิเศษอีกด้วย
จากผลงานที่ท่านชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยาม ที่จัดขึ้นในยุโรปเมื่อพ.ศ.๒๔๖๖ นั้นทำให้ท่านได้เดินทางมารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อแผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๖ ต่อมาสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๘๒ จากเหตุที่อิตาลียอมพ่ายแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรนั้นส่งผลให้ชาวอิตาเลียนที่อาศัยอยู่ภายในไทยตกเป็นเชลยของเยอรมนีกับญี่ปุ่น ครั้งนั้นรัฐบาลไทยได้ขอควบคุมตัวครูฝรั่งชาวอิตาเลียนผู้นี้ไว้เอง เป็นเหตุที่รัฐบาลไทยต้องให้หลวงวิจิตรวาทการ รีบดำเนินการขอโอนสัญชาติจากอิตาเลียนมาเป็นสัญชาติไทย พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “นายศิลป์ พีระศรี” เพื่อป้องกันมิให้ครูฝรั่งต้องถูกเกณฑ์เป็นเชลยศึกไปสร้างทางรถไฟสายมรณะ และสะพานข้ามแม่น้ำแควเมืองกาญจนบุรี
ศ.ศิลป์ พีระศรี
งานสำคัญของครูฝรั่งนั้นคือการวางรากฐานการศึกษาด้านศิลปะ ในช่วงแรกนั้นได้จัดตั้ง“โรงเรียนประณีตศิลปกรรม” ขึ้น ต่อมาพ.ศ.๒๔๘๐ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง” โรงเรียนแห่งนี้เปิดสอนหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรม เมื่อรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้ให้แยกกรมศิลปากรออกจากกระทรวงศึกษาธิการมาขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี ด้วยเห็นว่างานศิลปะนั้นมีความสำคัญและเป็นวัฒนธรรมสาขาหนึ่งของชาติ ทำให้ พระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรและตราพระราชบัญญัติยกฐานะ “โรงเรียนศิลปากร” ขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยศิลปากร” เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖โดยให้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ครูฝรั่งเป็นผู้อำนวยการสอนและดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรก ช่วงแรกนั้นมีคณะจิตรกรรมประติมากรรม (สาขาจิตรกรรมและสาขาประติมากรรม) คณะเดียวที่เปิดสอน นอกจากนี้รัฐบาลยังได้มอบหมายให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ออกแบบปั้นและควบคุมการหล่อพระราชานุสาวรีย์ และอนุสาวรีย์สำคัญของประเทศไทยขึ้นหลายแห่ง เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พ.ศ.๒๔๗๕, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พ.ศ.๒๔๗๗, พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าพ.ศ.๒๔๘๔, พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๔๙๔ และพระพุทธรูปยืน พุทธมณฑล พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นต้น อันเป็นคุณูปการที่หาได้ยากยิ่งเช่นเดียวกับวรรคทอง “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” และ “นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร” ของท่านได้เตือนให้ศิษย์ตระหนักถึงชีวิตต้องสร้างงานศิลปะและอ่านหนังสือให้มากๆ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี