พระพุทธรูปในระเบียงคต
อาทิตย์นี้ได้ตามรอยสยามไปร่วมพิธีการถวายผ้าขึ้นธาตุ ซึ่งเป็นภูมิงานบุญที่สืบเนื่องมาแต่โบราณ ณ วัดพระบรมธาตุไชยา ตั้งอยู่เลขที่ ๕๐ ถนนรักษ์นรกิจ หมู่ ๓ ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อันเป็นสถานที่สำคัญที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในสามแห่งของภาคใต้ คือ พระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พระมหาธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช และพระพุทธไสยาสน์ในถ้ำคูหาภิมุข จังหวัดยะลา
พิธีการแห่ผ้าขึ้นธาตุ ที่พระบรมธาตุไชยา เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๔ ที่ผ่านมานั้น ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธี ร่วมกับผู้ราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีและประชาชนได้ร่วมกันนำผ้าผืนยาวขึ้นห่มพระบรมธาตุไชยาแล้ว ผู้ร่วมงานยังได้ร่วมกันถวายผ้าอังสะพระพุทธรูปสำคัญรอบระเบียงคดทั้งหมดด้วย พระบรมธาตุไชยาแห่งนี้เป็นโบราณสถานสำคัญของเมืองสุราษฎร์ธานีในสมัยศรีวิชัย เดิมเรียกว่า พระธาตุไชยา สร้างเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ในสมัยศรีวิชัย ซึ่งสร้างโบสถ์หันไปทางทิศตะวันตก ต่อมาเรียกพระบรมธาตุไชยา หลังสุดได้รับการยกให้เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก คือวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร
ส่วนพระบรมธาตุไชยานั้นเป็นโบราณสถานตั้งอยู่กลาง รอบองค์พระธาตุมีเจดีย์เล็กอยู่มุม ๔ ทิศ ล้อมรอบด้วยวิหารคต ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณขนาดต่างๆ เรียงรายอยู่ โดยรอบทั้ง ๔ ด้าน ภายในองค์พระบรมธาตุไชยานั้น เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจดีย์พระบรมธาตุนี้มีความสูงจากฐานใต้ดินถึงยอด ๒๔ เมตร ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ยอดเจดีย์ที่หักลงมาถึงคอระฆังขึ้นใหม่จึงทำให้ลายหน้าบันเป็นตราแผ่นดิน สำหรับพระพุทธรูปสำคัญนั้นได้มีการสร้างขึ้นหลายวาระ เช่น พระพุทธรูปทำด้วยศิลา สูง ๑๐๔ เซนติเมตร ปางสมาธิประทับอยู่บนฐานบัว มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒แสดงถึงอิทธิพลศิลปะอินเดีย แบบราชวงศ์คุปตะ สกุลช่างสารนาถ
โบราณวัตถุเมืองไชยา
ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ มีการสร้างพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (พระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ) สองกรสำริดเป็นประติมากรรมในชวา ประเทศอินโดนีเซียภาคกลางในพุทธศตวรรษที่ ๑๕ มีการสร้างพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสองกรศิลา ศิลปะจาม พุทธ และในสมัยอยุธยามีการสร้างพระพุทธรูปศิลาทราย ศิลปะอยุธยา สกุลช่างไชยา เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบจารึกหลักที่ ๒๓ มีข้อความถึงความสัมพันธ์ทางสกุลวงศ์ของกษัตริย์แห่งศรีวิชัย (ไชยา) และราชวงศ์ไศเลนทรในชวาภาคกลางด้วย ทำให้เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญที่พบโบราณวัตถุรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยามากมาย
สำหรับพิธี “แห่ผ้า” ซึ่งเป็นพิธีที่สืบต่อจากโบราณเป็นการนำผ้าที่เย็บต่อเป็นผืนยาวมาแห่แหน เพื่อนำไป “ขึ้นธาตุ” คือนำผ้านั้นไปโอบรอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผ้าที่นำมาห่มขึ้นธาตุแต่เดิมเรียกว่า “พระบฎ” หรือ “พระบท” ซึ่งเป็นภาพรูปพระพุทธเจ้าที่เขียนหรือพิมพ์บนแผ่นผ้า จิตรกรไทยโบราณนั้นชอบเขียนภาพพระพุทธเจ้าขึ้นไว้บูชาแทนรูปปฏิมากรรม ภาพพระบฎโบราณนั้นส่วนใหญ่เขียนเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับยืนบนแท่นดอกบัว มีพระอัครสาวกยืนประนมมือสองข้าง พระบฎรุ่นหลังอาจเขียนเป็นเรื่องพุทธประวัติแบบเดียวกับจิตรกรรมฝาผนัง
ซึ่งเดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุนั้นเมื่อเขียนหรือวาดแถบผ้าเป็นพระบฎเสร็จแล้วจะนิมนต์พระภิกษุไปสวดพระพุทธมนต์ทำพิธีฉลองสมโภชหนึ่งวัน รุ่งขึ้นพอได้เวลากำหนดซึ่งต้องเป็นเวลาก่อนเพล ก็ตั้งขบวนแห่แหนไปพระบรมธาตุ มีเครื่องประโคมแห่แหนเคลื่อนขบวนเป็นทักษิณาวรรตองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ๓ รอบ แล้วจึงนำขึ้นไปโอบพันพร้อมๆ กับพระภิกษุสงฆ์ซึ่งนิมนต์ไปรออยู่ ณ พระวิหารตีนพระธาตุพระสงฆ์จะสวดอภยปริตรและชยปริตร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่หมู่คณะผู้ศรัทธาจากนั้นถวายภัตตาหารเพล ปัจจัยและบริขารอื่นๆ แด่พระภิกษุสงฆ์ด้วยวิธีสลากภัต ดังนั้น การได้กราบไหว้และนำผ้าบูชาพระบรมธาตุไชยาซึ่งถือเสมือนว่าเป็นพระพุทธเจ้านั้น จึงเป็นการบูชาที่สนิทแนบกับพระพุทธองค์ตามพิธีที่สืบต่อมายาวนานนั่นเอง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี