เนื่องในวาระครบรอบ 121 ปีวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 21 ตุลาคม 2564 มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ทรงรับมูลนิธิไว้ในพระราชูปถัมภ์ พร้อมสืบสานเจตนารมณ์และแนวพระดำริของ “สมเด็จย่า” ผู้พระราชทานชีวิตใหม่ให้คนพิการภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการให้ดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตัวเองและใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข
นางณินทิรา โสภณพนิช ประธานมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กล่าวว่า มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ ได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในปี 2497 จากนั้นอีก 1 ปีต่อมา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงรับมูลนิธิไว้ในพระราชูปถัมภ์ ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญอักษรพระนามาภิไธยย่อ “สว” มาประดิษฐานไว้ในเครื่องหมายของมูลนิธิ โดยมูลนิธิฯ ได้มีศูนย์บริการคนพิการที่ให้บริการหลักในด้านการแพทย์และการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย อีกทั้ง ยังพระราชทานเงินจากกองทุนการกุศลสมเด็จย่า เพื่อใช้ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2515 นับเป็นพระกรุณาธิคุณที่พระราชทานชีวิตใหม่ให้คนพิการภายใต้ร่มพระบารมีแห่งนี้
“มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ ได้สืบสานเจตนารมณ์ของสมเด็จย่า ภายใต้พระบารมีปกเกล้าฯ การทำงานของมูลนิธิฯได้ขยายขอบเขตกว้างขวางขึ้น ได้ให้ความช่วยเหลือคนพิการไม่น้อยกว่า 50,000 คนด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงมีต่อคนพิการ นอกจากจะพระราชทานความช่วยเหลือและเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมมูลนิธิฯ อยู่บ่อยครั้ง แม้นมิได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง โปรดให้คุณข้าหลวงมาถามไถ่ทุกข์สุขอยู่เป็นระยะๆ และด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลได้ทรงชี้แนะแนวทางวางรากฐานในการช่วยเหลือเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการให้มีชีวิตที่ดีขึ้นและอยู่ได้ด้วยตนเอง”
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานความช่วยเหลือคนพิการในด้านต่างๆ โดย ด้านการศึกษา เมื่อได้จัดเตรียมอาคารเรียนสำหรับคนพิการด้านร่างกายแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเรียนและพระราชทานพระนาม “ศรีสังวาลย์” เป็นชื่อโรงเรียนของมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ พระราชทานแนวพระราชดำริในด้านต่างๆ อันทรงคุณค่าที่มูลนิธิฯ ได้ถือเป็นหลักในการดำเนินงานตลอดมา แม้ว่าเวลาจะผ่านมาหลายปี แต่แนวพระราชดำริที่ว่า“การสอนคนพิการให้สามารถช่วยเหลือตนเองและอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเป็นปกติสุข” ยังคงทันสมัยและเป็นจริงอยู่เสมอ
“จากอดีตที่คนพิการมักถูกมองเป็นเรื่องของโชคชะตา เป็นภาระของสังคม ขาดโอกาสและขาดความมั่นใจในการใช้ชีวิต มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ ได้มีระบบการฟื้นฟูคู่การศึกษา สำหรับคนพิการอายุระหว่าง 3-18 ปี ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างครบวงจร ให้มีการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านร่างกายจากแพทย์นักวิชาชีพเฉพาะนักจิตวิทยา จัดให้เด็กได้รับการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาฝึกให้เด็กใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เตรียมความพร้อมด้านการงานการอาชีพตามความถนัดของแต่ละคน
บางคนเล่นกีฬาเก่ง สามารถเข้าร่วมการแข่งขันเยาวชนระดับต่างๆ ส่งเสริมผลักดันสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติสร้างชื่อเสียงให้ประเทศเป็นอาชีพเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ และมีงานศิลปะสร้างสรรค์พัฒนาความคิด นำไปประกอบอาชีพได้ เช่น กระเป๋าผ้าบาติก ปลอกหมอนวาดภาพ ผ้ามัดย้อม เทียนหอม การบูรเปเปอร์มาเช่ ดอกไม้ประดิษฐ์ รวมถึงการทำอาหาร ฯลฯ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่สามารถทำได้เมื่อช่วยกัน ร่วมมือกันค้นหาความสามารถของตนเอง”
ประธานมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีคนพิการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวที่อยู่ในความดูแลจำนวน 259 คน หากเมื่อเปิดเรียนตามปกติได้จะมีเด็กประจำ 126 คน ไป-กลับ 133 คน ซึ่งมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ มีนโยบายในการดูแลเด็กให้ได้รับการฟื้นฟูคู่การศึกษา เด็กจะได้รับการพัฒนาร่างกายและจิตใจ โดยมีงานกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด งานจิตวิทยาและการฝึกพูด งานด้านสังคมสงเคราะห์ให้คำแนะนำเรื่องสิทธิสวัสดิการสำหรับคนพิการ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงแนะนำงานด้านการอาชีพในรายบุคคล
“มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ จะจัดระบบการศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาระดับชั้น อนุบาล 1-มัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งที่ผ่านมา มีศิษย์เก่าผู้พิการจากมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ ประสบความสำเร็จด้านกีฬา ได้รับคัดเลือกไปแข่งขันในนามทีมชาติไทย อาทิ นายวรวุฒิแสงอำภา 1 เหรียญทอง บอคเซีย ทีม BC1-2, นายประวัติ วะโฮรัมย์ 1 เหรียญเงินวีลแชร์เรซซิ่ง 1,500 เมตร T54,นายพรโชค ลาภเย็น 1 เหรียญเงินบอคเซีย บุคคล BC4, นายสายชล คนเจน1 เหรียญทองแดง วีลแชร์เรซซิ่ง 800 เมตร T54, นายอนุรักษ์ ลาววงษ์ -นายยุทธจักร กลิ่นบานชื่น 1 เหรียญทองแดง วีลแชร์เทเบิลเทนนิส ทีมชาย คลาส 3 ทั้งหมดได้รับเหรียญรางวัลจากมหกรรมกีฬา “พาราลิมปิกเกมส์ 2020” ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีนายฤทธิไกร สมสนุก บ็อคเซีย, น.ส.ลดามณี กล้าหาญ บ็อคเซีย, นายพิเชษฐ์กรุงเกตุ วีลแชร์เรซซิ่ง, น.ส.วิจิตรา ใจอ่อน วีลแชร์เทเบิลเทนนิส, นายชาครแก้วศรี ว่ายน้ำ, นายภูชิต อิงชัยภูมิ ว่ายน้ำ,นายจักรินทร์ หอมหวน วีลแชร์แบดมินตัน และนายบรรจบ สุวรรณ วีลแชร์เทนนิส
ทั้งนี้ ภารกิจของมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ เป็นการทำงานเพื่อช่วยให้คนพิการสามารถเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตของตนเองด้วยตนเอง มิใช่หวังพึ่งผู้อื่นเสมอ แต่จะเป็นไปได้ก็ต้องได้รับการฝึก การรักษา และการดูแลที่ถูกวิธี และการที่จะดำเนินงานได้ก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากคนในสังคม ที่จะช่วยกันสร้างและให้โอกาส ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่การเรียนรู้การป้องกันไม่ให้เกิดความพิการ และเมื่อพิการแล้วจะดูแลอย่างไร รวมถึงการสนับสนุนช่วยเหลือองค์กรให้สามารถดำเนินการต่อได้ ทั้งในรูปแบบของการบริจาคการประชาสัมพันธ์องค์กรการกุศลที่ทำเพื่อสังคม การให้โอกาสในการมีส่วนในสังคม เพราะคนพิการไม่ใช่คนที่ทำอะไรไม่ได้”
ปัจจุบันแม้คนพิการสามารถใช้ชีวิตเหมือนกับคนทั่วไปโดยปกติ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ต้องการการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามศักยภาพ การให้โอกาสจึงเป็นสิ่งสำคัญ สามารถร่วมช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ที่ 78/11 หมู่ 1ถนนติวานนท์ ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรี โทร.02-5839596,02-5839597 หรือสนับสนุนผ่านบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)เลขที่ 207-4-10288-6 ใบเสร็จรับเงินลดหย่อนภาษีได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี