โควิด-19 คือชื่อของโรคติดต่อที่คนทั้งโลกรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะคนจำนวนหลายสิบล้านคนป่วยเป็นโรคนี้ และอีกหลายล้านคนก็ตายเพราะโรคนี้ และโรคนี้ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก จนทำให้หลายบริษัทต้องปิดตัวลง ผู้คนตกงานกันระนาว
เมื่ออ้างอิงข้อมูลวิชาการและผลการวิจัยต่างๆ ในด้านสาธารณสุขและการแพทย์ พบว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ติดเชื้อบางรายในระยะยาวได้แม้ว่ารักษาโรคหายแล้วก็ตาม เมื่อคนจำนวนมากได้ยินแบบนี้แล้ว ก็บังเกิดความหวาดกลัว และความหวาดระแวงค่อนข้างมาก แต่บทความนี้ขอเรียนว่าไม่ต้องตกใจมากจนเกินไป เพราะในช่วงเวลานี้ยังถือว่าเป็นภาวะที่สาธารณชนไม่ได้ประสบเหตุบ่อยๆ จากข้อมูลพบว่าในระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงเริ่มการระบาดของโรคมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ทีมผู้ศึกษาโรคนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ แม้บางเรื่องอาจจะยังหาข้อสรุปเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ได้ก็ตาม ซึ่งช่วยให้มีความเข้าใจในโรคนี้มากยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ในด้านสาธารณสุขมากขึ้น
ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนที่อ่านคอลัมน์อาจจะมีญาติพี่น้องป่วยเป็นโรคโควิด-19 แล้วรักษาตัวจนหายดีแล้ว แต่หลายคนก็ยังพบว่าคนที่หายป่วยยังมีความคลางแคลงใจว่าตนเองหายป่วยดีร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วหรือยัง ร่างกายเป็นปกติดีเหมือนก่อนป่วยหรือไม่ บางคนบอกว่ายังหายใจติดๆ ขัดๆ ยังมีอาการเหนื่อยล้า บางวันยังปวดศีรษะ ซึ่งอาการเหล่านี้ถูกเรียกว่า long COVID หรือโควิดระยะยาว โดยคำคำนี้ถูกพูดถึงครั้งแรกในทวิตเตอร์ของอาจารย์ชื่อ Dr. Elisa Perego จาก Lombardy เมื่อเดือนพฤษภาคม ٢٥٦٣ ซึ่ง Dr. Elisa เคยป่วยด้วยโรคโควิด-19 และรักษาตัวจนหายป่วยแล้ว จากนั้นเธอได้ใช้แฮชแท็ก #LongCovid ในทวิตเตอร์เพื่ออธิบายอาการหลังจากที่เธอหายป่วยมาแล้วหลายเดือน
อย่างไรก็ตาม มีหลายองค์กรพยายามให้คำนิยามอาการของ long COVID จนล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม องค์การอนามัยโลกให้คำจำกัดความอย่างเป็นทางการว่าอาการ “โพสต์โควิด” (Post-COVID19 Syndrome, ส่วนกรมควบคุมโรคของประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้คำว่า Post COVID Conditions) หมายถึง กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นหลังจากเริ่มมีอาการของโควิด-19 ไปแล้วประมาณ ٣ เดือน แล้วยังคงมีอาการเหล่านั้นปรากฏติดต่อกันมากกว่า ٢ เดือนขึ้นไป โดยอาการที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากหายจากโรคโควิด-19 แล้ว หรือเป็นอาการที่เกิดต่อเนื่องจากการติดเชื้อครั้งแรก
จากงานวิจัยแบบวิเคราะห์อภิมานของ Sandra LopezLeon และคณะพบว่าอาการที่พบมากที่สุด คือเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย (58%), ปวดศีรษะ (44%), สมาธิสั้น (27%), ผมร่วง (25%), หายใจลำบาก (24%), การรับรสชาติผิดปกติ (23%), การรับกลิ่นเปลี่ยนไป (21%) ส่วนอาการอื่นๆ ที่อาจพบ คือ เจ็บหน้าอก หายใจถี่ปวดตามข้อ ท้องร่วง สมองล้า นอนไม่หลับ วิตกกังวลเป็นต้น ทั้งนี้พบว่าผู้ป่วยกว่า 80% จะมีอาการเหล่านี้อย่างน้อย ١ อาการ คำถามต่อมาคือ ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Post COVID ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยตีพิมพ์ผลงานเรื่องนี้ในประเทศไทยแต่ในประเทศอังกฤษได้เก็บสถิติจากผู้เคยติดเชื้อโควิด-19 แล้วพบว่าส่วนใหญ่ผู้มีอาการ Post COVID มักเป็นเพศหญิง อายุ 35-69 ปี สำหรับบุคคลในกลุ่มอื่นที่มีอาการ เช่น ผู้มีโรคประจำตัว ผู้มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ และยังพบว่าผู้ป่วยอาการไม่หนักก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการ Post COVID ได้เช่นกัน
แต่ข่าวร้ายคือในขณะนี้ยังไม่มีแนวทางการป้องกันที่ชัดเจน แต่ก็มีข่าวดีที่น่าพอใจคือ ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้ไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต และเราแก้ปัญหาได้โดยรักษาตามอาการ แต่ถ้าหากอาการรุนแรงมากขึ้นจนถึงขั้นวิกฤต เช่น หายใจติดขัด เจ็บหน้าอกติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน มีอาการชาร่างกายครึ่งซีก จำเป็นต้องรีบไปพบแพทย์เฉพาะโดยทันที
สรุปคือ ผลจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีต่อสุขภาพมีอาการหลากหลายมาก เช่น อ่อนเพลียเล็กน้อยจนถึงเกิดความวิตกกังวลอย่างมากจนถึงขั้นซึมเศร้า แต่ย้ำว่าอาการส่วนใหญ่ไม่ส่งผลร้ายแรงต่อชีวิต ดังนั้นจึงอาจทำให้หลายคนมองข้ามเรื่องสำคัญนี้ไป แต่ก็ขอย้ำว่าอย่าละเลยต่อเรื่อง Post COVID และขอให้ผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 โปรดสังเกตอาการหลังป่วยด้วย
อ.ภญ.โชติรัตน์ นครานุรักษ์
ภญ.เบญจพร วีระพล
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี