ชุมชนบ้านบางใบไม้
การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจากชุมชนต้นแบบให้เกิดการ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” เพื่อนำร่องในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ตามนโยบายของรัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรมนั้น นอกจากจะสร้างรายได้สู่ชุมชนแล้วยังเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศหลังโควิด-19 อาทิตย์นี้ได้ตามรอยหาภูมิชุมชนต้นแบบไปที่ ชุมชนบางใบไม้ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นชุมชนที่สร้างวิถีวัฒนธรรมของตนอย่างเข้มแข็งมานาน ชุมชนบางใบไม้แห่งนี้เป็นถิ่นของชาวในบาง ที่รู้จักกันมาแต่ต้นรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเมือง จ.สุราษฎร์ธานี ๒ กม. มีพื้นที่ ๑๐.๑๔ ตารางกิโลเมตร ๖,๕๗๖ ไร่ ด้วยเหตุที่เป็นพื้นที่ราบของลุ่มน้ำตาปีที่มีคลองเล็กคลองน้อยไหลผ่านพื้นที่นับร้อยคลอง และเชื่อมต่อชุมชนในตำบลต่างๆ ถึง ๖ ตำบลจนมีชื่อเรียกว่า “คลองร้อยสาย”ซึ่งมีแนวธรรมชาติแบ่งชุมชนต่างๆ นั้น ให้เป็นชุมชนชุ่มน้ำบริเวณปากอ่าวบ้านดอน ซึ่งทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ จากการที่มีน้ำกร่อย น้ำเค็ม น้ำทะเลหนุน และน้ำจืด ไหลสลับวนเวียนจนเกิดห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติในวิถีชุมชน อันเกิดอาชีพการประมง การทำสวนและการใช้เส้นทางน้ำสัญจรผ่านชุมชนต่างๆ ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติ จากผู้นำชุมชนพลัง “บวร” และชาวชุมชนคุณธรรมฯวัดบางใบไม้ โดยมีการส่งเสริมจาก นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
เคยจี่ อาหารบนกะลา
ด้วยความโดดเด่นที่เป็นพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ โดยเฉพาะมี ต้นจาก จำนวนมากขยายกอจากเป็นแนวยาวเชื่อมต่อให้เป็น “อุโมงค์ต้นจาก” นั้นได้สร้างมุมมองของความงดงามเฉพาะถิ่นขึ้น เมื่อล่องเรือเข้าอุโมงค์ต้นจาก สะท้อนสายน้ำในยามมีแสงสาดส่องนั้นจึงเป็นภาพตื่นตาที่หาได้ยากยิ่ง อีกทั้งเมื่อมีการนำวิถีชีวิตชุมชนเก่าในคลองร้อยสาย มารวมเป็นตลาดน้ำขึ้นเพื่อส่งเสริมสินค้าทางวัฒนธรรมให้สร้างรายได้ให้คนได้เที่ยวแล้ว ยังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์จากเรื่องพระยาตากสินยกทัพมาตีเมืองนครศรีธรรมราช ขุนประจันศึกประชิด ทหารคู่ใจของเจ้าเมืองนครฯ ได้รักษาหัวเมืองทางด้านทิศเหนือเห็นว่าจะสู้ทัพพระยาตากสินไม่ได้จึงให้ทหารลงเรือหลบหนี ขุนประจันศึกประชิดพร้อมทหารคู่ใจได้พาครอบครัวหนีมาทางแม่น้ำหลวง ผ่านบ้านดอนเพื่อจะไปเมืองไชยา แต่เมืองไชยานั้นถูกพระยาตากสินยกทัพตีแตก ขุนประจันศึกประชิดจึงถอยร่นลงมาในลำคลองเล็กๆ แล้วตั้งบ้านเรือนโดยสร้างบ้านหลังใหญ่ประมาณ ๕ หลัง เดิมชื่อว่าหมู่บ้านใหญ่ ต่อมาเป็นตำบลบางใบไม้ ต่อมาจึงสร้างวัดบางใบไม้ เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยรวมวัดนอกและวัดในไว้ด้วยกัน วัดและอาคารเก่าที่เหลืออยู่จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ทางศาสนา วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ซึ่งมี หลวงพ่อข้าวสุก (สุข) ที่หลวงพ่อขำ ได้สร้างจากเหตุชุมชนเกิดโรคอหิวาห์ระบาดในปีพ.ศ.๒๔๓๓-๒๔๔๖ โดยนำข้าวสุกปลุกเสกปั้นเป็นองค์พระ ๙ วัน ๙ คืน และมีการต่อเติมขึ้น ภายหลังจึงหล่อทองแดงหุ้มพระข้าวสุกภายหลัง พระองค์นี้สร้างขึ้นเพื่อเรียกให้คนบางใบไม้กลับมาอยู่บ้านหลังจากทิ้งบ้านหนีโรคระบาดไม่กล้าเข้ามาอยู่จึงเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่มีคนนับถือมาก นอกจากนี้มีภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัด มณฑปศาลาของวัด เรือนโบราณของขุนประจันศึกประชิด เป็นผู้ออกแบบและสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาเมื่อพ.ศ.๒๓๑๒ ที่มีอายุกว่า ๒๐๐ ปี ความโดดเด่นของบ้านหลังนี้คือฝีมือเชิงช่างการเข้าสลักไม้ ไม่มีการตอกตะปู ที่เหลือไว้เป็นอนุสรณ์ของชุมชน เป็นต้น
ส่วนวิถีชุมชนนั้นมีอาหารพื้นบ้าน ขนมหวาน พืชผัก ผลไม้สดจากสวน รวมถึงของพื้นบ้านและผลิตภัณฑ์ของชุมชนมีหลากลาย โดยเฉพาะ “น้ำส้มจาก” และ “น้ำผึ้งจาก” และผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น สวนลุงสงค์ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และมีสินค้าส่งออก แบรนด์ “พร้าวไทย” (Prow Thai) เป็นต้น
นี่คือชุมชนต้นแบบคุณธรรมและวิถีแบบไทยที่ต้องขอบคุณคุณยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญของวิถีวัฒนธรรมจากความเข้มแข็งของชาวบ้าน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี