มีความหวังที่เราจะสามารถเอาชนะเชื้อโควิด-19 ได้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากปรากฏข่าวว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 สหรัฐอเมริกาอนุมัติใช้ยา Paxlovid แบบฉุกเฉินเป็นประเทศแรก นี่คือก้าวใหญ่ที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงการรักษาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ยาตัวนี้เป็นเม็ด ประกอบด้วยยา 2 ชนิด คือยา nirmatrelvir และยา ritronavir เป็นยาที่บริษัทไฟเซอร์ออกแบบสำหรับรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะ
ยาตัวแรกคือ nirmatrelvir ช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ชื่อ protease ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญของเชื้อโควิด-19 ถ้าเอนไซม์นี้ถูกยับยั้ง เชื้อไวรัสก็ไม่สามารถแบ่งตัวได้ ส่วนยาอีกตัวหนึ่งคือ ritronavir เป็นตัวบูสที่ทำให้ยา nirmatrelvir มีระดับยาที่สูงและทำงานได้ดีขึ้น
ยา Paxlovid นี้ ในหนึ่งการรับประทานจะประกอบด้วยยา 3 เม็ด คือ nirmatrelvir 2 เม็ด และ ritronavir 1 เม็ด รับประทานพร้อมกัน ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ เช้าและเย็น ติดต่อกัน 5 วัน ยานี้ได้ผลต่อเมื่อได้รับยาเร็วไม่เกิน 5 วันหลังจากมีอาการ และพบว่าผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะป่วยหนัก เช่น มีโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคภูมิคุ้มกันต่ำเป็นต้น หากได้รับยานี้ภายใน 5 วัน จะทำให้ลดการเจ็บป่วยหนักหรือตายได้ถึง 88% แต่หากได้รับยาช้ากว่านี้ยาอาจจะมีประสิทธิภาพที่ไม่ดีมากเท่าที่ควร
สำหรับการต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ที่เป็นสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดในหลายประเทศในขณะนี้ รวมถึงประเทศไทยที่เริ่มพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น จากผลการวิจัยในหลอดทดลองพบว่า Paxlovid สามารถยับยั้งเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้
จากข้อมูลเบื้องต้นไม่พบผลข้างเคียงที่น่ากังวลมากนัก แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือปัญหาเรื่องการเกิดปฏิกิริยากับยาตัวอื่น หรือที่เราเรียกว่ายาตีกัน หากผู้ป่วยมีความเจ็บป่วยของโรคอื่นที่ต้องรับประทานยาชนิดอื่น เช่น คนที่รับประทานยาแก้ปวดบางชนิด ยาไมเกรนบางชนิด ยาลดคลอเรสเตอรอลบางชนิด หรือยารักษาโรคหัวใจบางชนิด เป็นต้น ก็อาจจะมีโอกาสเกิดอันตรายจากยาตีกัน หรือประสิทธิภาพการรักษาลดลง ซึ่งก็อาจเป็นข้อจำกัดในการใช้ยานี้กับผู้ป่วยบางรายได้
หนึ่งวันถัดมาหลังจาก Paxlovid ได้รับอนุมัติ สหรัฐอเมริกาก็อนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์แบบฉุกเฉินเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อมูลทางคลินิก พบกว่าประสิทธิภาพ และข้อจำกัดในการใช้ยายังเป็นรอง Paxlovid แต่สหรัฐอเมริกาก็เปิดทางเลือกนี้ไว้สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงยา Paxlovid หรือยาชนิดอื่นได้ หรือไม่สามารถใช้ยาอื่นได้ด้วยข้อจำกัดของตัวผู้ป่วยเอง นอกจากนี้ บริษัท Shionogi ของประเทศญี่ปุ่น ได้วิจัยยา s-217622 ที่มีการออกฤทธิ์ลักษณะเดียวกันกับ Paxlovid ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 2 โดยยังต้องติดตามผลต่อไป
จะเห็นว่ายารักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีหลากหลาย แต่ประสิทธิภาพและข้อจำกัดในการใช้ก็ต่างกัน เช่นเดียวกับ
กรณีของวัคซีน ในขณะที่ยังมีการแพร่เชื้ออยู่ ยารักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก็ยังคงเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ยังมีการแพร่ระบาดสูงอยู่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา และต้องหาข้อมูลเพื่อคัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประชาชน โดยต้องพิจารณาความเสี่ยง และตัวเลือกที่หลากหลายก่อนตัดสินใจซื้อหายามาใช้ และต้องประเมินสถานการณ์ รวมถึงคำนวณปริมาณที่เหมาะสมต่อประชากร หากตัดสินใจล่าช้า ก็จะแก้ปัญหาไม่ทันการณ์
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความสำคัญของการเร่งฉีดวัคซีนก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงการฉีดเข็มบูสเตอร์ด้วย ซึ่งปัจจุบันในเกือบทุกภาคส่วนมีการรณรงค์การฉีดเข็มกระตุ้น เนื่องจากเมื่อระยะเวลาผ่านไป ภูมิคุ้มกันของเราเริ่มลดลง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์โอมิครอน หรือสายพันธุ์อื่นๆ ที่จะตามมาเข็มกระตุ้นจึงสำคัญมาก รวมไปถึงการรักษามาตรการต่างๆ เช่น การรักษาระยะห่างทางกายภาพ การใช้หน้ากากอนามัย การล้างมือเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ที่มีคุณภาพ และอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้ดี เป็นต้น
เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องรวมตัวกันมากๆ แนะนำให้ตรวจ Antigen test kit (ATK) ก่อน เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดคลัสเตอร์
หวังว่าปีใหม่นี้ พวกเราคงไม่เป็นส่วนหนึ่งของการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 และขอให้ทุกคนเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ให้มีความสุข แต่อย่าลืมระมัดระวังตัวเอง พร้อมกับมีสติตลอดเวลา สุขสันต์วันขึ้นปีใหม่ 2565
ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี