เป็นเวลานานแสนนานมาแล้วที่เราเห็นการโฆษณา (แต่บางครั้งเป็นโฆษณาชวนเชื่อ) ว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรืออาหารเสริมดีวิเศษจนน่าอัศจรรย์ใจ ดังนั้นเราจึงพบว่ามีการโหมโฆษณาขายสินค้าเหล่านี้ในสื่อมวลชน ทั้งสื่อฯ หลัก และสื่อฯ ออนไลน์ โดยเห็นว่ามีรูปแบบและชนิดต่างๆ เช่น เม็ด แคปซูล ผง และน้ำ โดยบางรายก็บอกว่าให้นำไปผสมกับเครื่องดื่ม ขออนุญาตเรียนตรงๆ ว่าก่อนจะกินนั้นผู้กินต้องรู้อะไรก่อนบ้าง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อ และเพื่อให้ได้ประโยชน์จากอาหารเสริม (ที่มีคุณภาพ) อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับผู้กิน และที่สำคัญคือเพื่อไม่ต้องเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (dietary supplement) หรืออาหารเสริมคือสิ่งที่เรากินเข้าไป นอกเหนืออาหารปกติประจำวันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอาจใส่สารอาหาร เช่น วิตามิน เกลือแร่ โปรตีน หรือกรดอะมิโน หรือสารอื่นๆ อาทิ สารจากสมุนไพรสารสกัด หรือสารสังเคราะห์ เราต้องเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกัน หรือรักษาโรค และที่สำคัญคือเด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และขอย้ำว่าเราทุกคนต้องกินอาหารให้ครบห้าหมู่ในแต่ละวันโดยกินในสัดส่วนที่เหมาะสมเป็นประจำ
ผลิตภัณฑ์บางชนิดประกอบด้วยสารสำคัญเพียงชนิดเดียวเท่านั้น แต่บางอย่างอาจประกอบด้วยสารสำคัญมากถึง 20 ชนิด ดังนั้นก่อนรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงต้องพิจารณาเรื่องต่อไปนี้ก่อน
ประเด็นแรก ถ้าเรากินวิตามินชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป จะทำให้มีผลต่อสภาวะของวิตามินอีกชนิดหนึ่งในร่างกาย เช่น ถ้าเรา
เสริมวิตามินอีมากเกินไป เพื่อหวังผลต้านออกซิเดชัน (antioxidant)อาจทำให้วิตามินเคต่ำ จะมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด กรณีที่เรามีบาดแผลเลือดอาจจะไม่หยุดไหล หรือถ้าเราเสริมแร่ธาตุสังกะสี (zinc) มากเกินไป ก็จะรบกวนการดูดซึมแร่ธาตุตัวอื่นๆ เช่น เหล็ก (iron) และ ทองแดง (copper)
ประเด็นที่สอง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอาจตีกับยาที่เรากินอยู่ เช่น วิตามินอี วิตามินเค หรือน้ำมันปลา มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด คนที่กินผลิตภัณฑ์ที่มีสารเหล่านี้ในปริมาณสูง เป็นเวลานาน อาจทำให้กระบวนการแข็งตัวของเลือดเปลี่ยนแปลงไป ถ้าต้องผ่าตัด หรือต้องทำหัตถการต่างๆ อาจทำให้เกิดอันตรายได้ รวมถึงผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาร์ฟาริน หรือยาต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด เช่น ยาแอสไพริน หากรับประทานผลิตภัณฑ์ที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด อาจมีผลต่อประสิทธิผลการรักษา อาจเกิดอันตรายกับผู้ป่วยได้ และเมื่อมีบาดแผลก็อาจมีปัญหาการแข็งตัวของเลือด หรือในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการเลือดไหลไม่หยุด และอาจเกิด stroke ได้
ส่วนผู้กินแร่ธาตุแคลเซียม เหล็ก สังกะสี มีโอกาสเกิดปฏิกิริยากับยาบางกลุ่ม ทำให้ขัดขวางการดูดซึมของยาเข้าสู่กระแสเลือด และส่งผลต่อประสิทธิผลการรักษา เช่น ยา tetracycline, doxycycline, norfloxacin, ciprofloxacin เป็นต้น หรือผลิตภัณฑ์ที่มีวิตามินบี 6 สูง ก็อาจตีกับยารักษาโรคพาร์กินสันบางชนิด หรือน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส ก็จะมีผลต่อการใช้ยารักษาโรคลมชักบางชนิด
ยารักษาโรคหัวใจบางอย่าง และยาต้านโรคซึมเศร้าบางชนิดหรือยากดภูมิคุ้มกันที่ใช้กับผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ มีโอกาสที่ประสิทธิผลในการรักษาจะลดลง เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือสมุนไพรที่ชื่อว่า เซนต์จอห์นเวิร์ต (St. John’s wort)
นอกจากนี้ เวลารับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เราอาจไม่ทราบว่ามันมีผลต่อกระบวนการดูดซึม หรือมีปัญหากับการขจัดยาออกจากร่างกาย จนอาจมีผลต่อระดับของยาในร่างกาย ทำให้ระดับยาต่ำเกินไป ทำให้ไม่เกิดผลในการรักษา หรืออาจเกิดปัญหาระดับยาในร่างกายสูงเกินไป ทำให้เกิดพิษต่อร่างกายได้
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดมักโฆษณาว่ามาจากสารธรรมชาติ หรือไม่มีสารสังเคราะห์ ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจเอาเองว่า สารธรรมชาติต้องปลอดภัยเสมอ ซึ่งจริงๆ แล้วของธรรมชาติหรือสมุนไพรก็อาจทำให้เกิดปฏิกิริยากับยาที่เรารับประทานได้ หรืออาจมีผลกับผู้ป่วยบางโรคได้ แล้วในที่สุดก็อาจตายจากสารธรรมชาติก็ได้ สำหรับในกรณีของเด็ก กระบวนการทำงานของตับไตไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ การที่เด็กรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารร่วมกับยา ก็อาจเกิดอันตรายมากกว่าผู้ใหญ่
ปัจจุบัน คนบ้านเราสนใจและบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากขึ้น และพบว่าผลิตภัณฑ์บางชนิดผิดกฎหมาย แต่ของผิดกฎหมายกลับถูกโหมโฆษณาบนสื่อฯ ออนไลน์ และสื่อฯ หลักบางชนิดอย่างบ้าระห่ำ เพราะฉะนั้น ผู้บริโภคต้องมีความรู้ก่อนกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และต้องเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เท่านั้น โดยสามารถค้นหาคำว่า “ตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” เพื่อเข้าสู่เว็บไซต์ตรวจเลขผลิตภัณฑ์ของ อย. เพื่อตรวจสอบชื่อและเลขผลิตภัณฑ์ สถานที่ผลิต ผู้รับอนุญาตว่าถูกต้องตรงตามฉลากหรือไม่ และสถานะของผลิตภัณฑ์ว่ายังคงอยู่หรือไม่ ถ้าข้อมูลไม่ตรงหรือค้นไม่พบ แสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอม หรือผิดกฎหมาย
ขอย้ำด้วยว่า เวลาผู้ป่วยไปพบแพทย์ สิ่งที่ต้องทำคือต้องมีรายการยาที่รับประทานประจำ รวมถึงสมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ไปแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ เพื่อให้มั่นใจว่ายาที่จะสั่งจ่ายให้ ไม่ไปตีกับยาเดิม หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่รับประทานอยู่ จนทำให้เกิดอันตรายหรือรักษาไม่ได้ผล
ขอฝากทิ้งท้ายว่า การกินอาหารให้ร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์มีภูมิต้านทานต่อโรค ต้องกินอาหารที่มีความหลากหลาย ไม่ซ้ำซาก ต้องครบห้าหมู่ในสัดส่วนที่ถูกต้องเหมาะสมตามช่วงอายุ แล้วถ้าจะกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ก็ต้องเข้าใจว่า เป็นแค่ตัวช่วยส่งเสริมสุขภาพเท่านั้น อย่าหวังผลในการป้องกันหรือรักษาโรค
ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ และ รศ.ภญ.ดร.สุญาณี พงษ์ธนานิกร
ภาควิชาอาหารและเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี