ในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์นอกจากจะใช้สิ่งส่งตรวจที่เป็นเลือดแล้ว ยังมีสิ่งส่งตรวจประเภทอื่นๆ ที่สามารถใช้ตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อการวินิจฉัยโรคได้เช่นกัน โดยหนึ่งในนั้นคือ “ปัสสาวะ” นั่นเอง
ข้อมูลจาก อาจารย์ ดร.ทนพ.เมธี ศรีประพันธ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดเผยว่า ปัสสาวะเป็นสารน้ำที่เกิดจากการกรองของเสียในเลือดผ่านทางไตและขับออกมานอกร่างกาย โดยปริมาตรของปัสสาวะโดยเฉลี่ยในผู้ใหญ่คือ 600-1,600 มิลลิลิตรต่อวัน ในปัสสาวะประกอบด้วยสารต่างๆ มากมาย เช่น น้ำ แร่ธาตุ สารเคมีโปรตีน น้ำตาล ครีเอตินิน เป็นต้นซึ่งปริมาตรของปัสสาวะที่ขับออกในแต่ละวันจะมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับช่วงอายุ อาหารการกิน อุณหภูมิในร่างกาย ปริมาณน้ำที่ดื่ม การทำงานของหัวใจและไต
ดังนั้น การตรวจปัสสาวะจึงช่วยในการวินิจฉัย ติดตาม รวมถึงพยากรณ์โรคได้นอกจากนี้ ยังช่วยอธิบายพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในร่างกายขณะนั้นได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประเมินการทำงานของไตในการกำจัดของเสียออกนอกร่างกายและดูดกลับสารที่มีประโยชน์กลับสู่ร่างกาย
ปัจจุบันการเก็บปัสสาวะเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการมีหลายรูปแบบ เช่น
1.การเก็บปัสสาวะในช่วงเวลาใดก็ได้เพียงครั้งเดียว เป็นการเก็บปัสสาวะที่นิยมตรวจมากที่สุด ซึ่งในการตรวจสุขภาพประจำปีจะใช้วิธีการเก็บปัสสาวะแบบนี้ ผู้ที่เข้ารับการตรวจจะต้องเก็บปัสสาวะในช่วงกลาง(midstream urine) เพื่อลดการปนเปื้อนของเซลล์หรือสารคัดหลั่งต่างๆ ที่อยู่ในทางเดินปัสสาวะ
2.การเก็บปัสสาวะครั้งแรกในตอนเช้าจะเป็นปัสสาวะที่มีความเข้มข้นของสารต่างๆ มากที่สุด เหมาะใช้ในการตรวจการตั้งครรภ์ การตรวจเบาหวาน และการเพาะเชื้อแบคทีเรีย
3.การเก็บปัสสาวะสำหรับการเพาะเชื้อ จะต้องเก็บปัสสาวะในช่วงกลาง โดยต้องมีวิธีเก็บที่สะอาดและถูกต้องตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์
4.การเก็บปัสสาวะโดยการสวนปัสสาวะจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถถ่ายปัสสาวะได้เอง
5.การเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมง มักใช้ในการตรวจเกี่ยวกับความผิดปกติของกระบวนการทำงานของร่างกาย
วิธีการเก็บปัสสาวะที่ถูกต้อง ผู้เก็บจะต้องล้างมือให้สะอาด รวมถึงทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศให้สะอาดก่อนการเก็บปัสสาวะ จากนั้นปัสสาวะส่วนแรกทิ้งไปก่อนแล้วจึงเก็บปัสสาวะในช่วงกลางในภาชนะที่สะอาดอย่างน้อย 15-20 มิลลิลิตร และนำส่งห้องปฏิบัติการต่อไป
การตรวจปัสสาวะทางห้องปฏิบัติการประกอบด้วยการตรวจทางกายภาพ เช่น สี ความขุ่น กลิ่น และตะกอน ลักษณะทางเคมี เช่นการดูปริมาณของสารเคมีรวมถึงสารชีวเคมีที่พบปัสสาวะและการตรวจตะกอนปัสสาวะภายใต้กล้องจุลทรรศน์เพื่อหาเซลล์ที่ผิดปกติ รวมถึงในบางครั้งอาจมีการตรวจทางจุลชีววิทยาในผู้ป่วยที่สงสัยการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
ประชาชนทั่วไปสามารถสังเกตปัสสาวะของตัวเองเพื่อดูความผิดปกติเบื้องต้นได้โดยสังเกตจากลักษณะทางกายภาพของปัสสาวะเช่นสีของปัสสาวะ กลิ่นของปัสสาวะ ความขุ่นของปัสสาวะ รวมถึงลักษณะของปัสสาวะที่มีความผิดปกติไป เช่น มีฟองในปัสสาวะมากมีวัตถุหรือเศษเนื้อเยื่อหลุดออกมาในปัสสาวะที่สามารถสังเกตได้ชัดเจน เป็นต้น
โดยปกติ สีปัสสาวะของคนปกติจะต้องมีสีเหลืองอ่อนจนถึงสีเหลืองอำพัน อย่างไรก็ตามในคนที่ดื่มน้ำน้อย รับประทานอาหารบางประเภท หรือได้รับยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะ ยาขับเหล็ก หรือยาคลายกล้ามเนื้อ อาจทำให้ปัสสาวะมีสีเข้มขึ้นหรือมีสีผิดปกติได้ แต่ถ้าพบสีของปัสสาวะที่ผิดปกติ เช่น มีสีแดง สีน้ำตาลอมเหลืองหรือเขียว สีน้ำนม อาจมีความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือร่างกายอาจต้องไปตรวจเพิ่มเติม หรือรีบพบแพทย์ทันที อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผู้หญิงมีประจำเดือนอาจทำให้ปัสสาวะมีสีแดงได้เช่นกัน ดังนั้น ในการไปตรวจปัสสาวะควรแจ้งต่อแพทย์หรือนักเทคนิคการแพทย์ทุกครั้ง
นอกจากนี้ ปัสสาวะของคนปกติควรใสและไม่มีความขุ่น (อย่างไรก็ตามปัสสาวะที่ตั้งไว้นานอาจมีความขุ่นได้เช่นกัน) สาเหตุของความขุ่นที่บ่งบอกความผิดปกติในร่างกายหรือทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดงแบคทีเรีย ยีสต์ เซลล์บุหลอดไต นิ่ว ไขมัน หนอง เป็นต้น
นอกเหนือจากสีของปัสสาวะแล้ว กลิ่นของปัสสาวะสามารถบอกความผิดปกติของสภาวะสุขภาพได้เช่นกัน ในคนปกติปัสสาวะที่ถ่ายออกมาใหม่จะมีกลิ่นหอม แต่ตั้งทิ้งไว้นานเข้าจะมีกลิ่นฉุน อย่างไรก็ตาม ถ้าปัสสาวะที่ถ่ายออกมาใหม่มีกลิ่นที่ผิดปกติไปเช่น กลิ่นผลไม้กลิ่นเหม็นเน่า กลิ่นน้ำตาลไหม้ หรือกลิ่นคาวปลา อาจมาจากความผิดปกติในร่างกายได้เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ความผิดปกติของร่างกายในการเผาผลาญไขมัน กรดอะมิโนบางชนิดหรือการคั่งของสารบางอย่างในร่างกาย เป็นต้น
การแปลผลการตรวจปัสสาวะทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้น
เมื่อได้ผลการตรวจปัสสาวะจากทางห้องปฏิบัติการแล้ว เราสามารถประเมินผลการตรวจที่ปกติโดยใช้หลักต่อไปนี้
1.ปัสสาวะจะต้องใส มีสีเหลืองอ่อนหรือเหลืออำพัน มีปริมาตร 600-1,800 มิลลิลิตรต่อวัน มีค่าความถ่วงจำเพาะอยู่ระหว่าง 1.002-1.040 มีความเป็นกรด-ด่างที่ 4.5-8.0
2.ต้องตรวจไม่พบสารชีวเคมีหรือสารเคมีบางชนิด ได้แก่ บิลิรูบิน น้ำตาลกลูโคส คีโตน เอนไซม์ในเม็ดเลือดขาวไนไตร์ โปรตีน ยูโรบิลลิโนเจ็น (ควรพบน้อยกว่า 1 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร)
3.เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และผลึกต่างๆ ในปัสสาวะ รวมถึงเซลล์บุผิวต่างๆ อาจพบได้บ้างแต่ควรพบปริมาณน้อยและอยู่ในค่าอ้างอิงที่กำหนดของแต่ละห้องปฏิบัติการหรือโรงพยาบาล
4.ไม่ควรพบเชื้อจุลชีพ เช่นแบคทีเรีย ยีสต์ เป็นต้น
ประโยชน์ของการตรวจปัสสาวะ
ผลการตรวจปัสสาวะสามารถใช้ช่วยในการวินิจฉัยรวมถึงการพยากรณ์โรคและภาวะความผิดปกติในร่างกายได้เช่น โรคนิ่วในไต โรคไตอักเสบ กรวยไตอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กลุ่มอาการของโรคไตรั่วหรือโปรตีนรั่ว โรคถุงน้ำในไต การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะโรคไตวายเฉียบพลันและเรื้อรัง โรคเบาหวาน เป็นต้น สำหรับผู้สนใจข้อมูลสุขภาพและการใช้ยาของคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล สามารถติดตามได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/service-knowledge.php
ผศ.(พิเศษ)ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์
ประธานกรรมการ มูลนิธิคุณแม่คุณภาพ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี