ผมสนใจเกมออน์ไลน์มาตั้งแต่เด็กๆ เล่นเกมมาตลอด แล้ววันหนึ่งก็สร้างเกมชื่อ Kingdoms Reborn เกมนี้มีผู้เข้าเล่นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และในเยอรมนี และในประเทศอื่นๆ ด้วย แต่ส่วนมากอยู่ในสองประเทศที่พูดถึง สามารถทำรายได้แล้วประมาณ 120 ล้านบาท
ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย ชวนคุณไปสนทนากับ ดร.อิทธินพดำเนินชาญวนิชย์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Earth Shine จำกัด วิศวกรพลังงานนิวเคลียร์จาก MITผู้สร้างเกมออนไลน์ที่มีผู้เล่นเป็นจำนวนมากทั่วโลก
l ทราบมาว่า ดร.อิทธินพ สำเร็จปริญญาเอกด้านพลังงานนิวเคลียร์ จาก MIT (Massachusetts Institute of Technology) แล้วอะไรคือแรงบันดาลใจให้สร้างเกม Kingdoms Reborn ครับ เพราะคนละ fields กันเลย ช่วยเล่า background การศึกษาให้ทราบสักหน่อยครับ
ดร.อิทธินพ : ผมจบปริญญาตรีที่ University of Illinois at Urbana-Champaign ด้านวิศวกรรมนิวเคลียร์ แล้วไปต่อปริญญาโทและเอกที่ MIT ด้านวิศวกรรมนิวเคลียร์เช่นกันครับ ผมจบประถมต้นที่เมืองไทย แล้วไปต่อ high school ที่เซี่ยงไฮ้
l ไม่ได้เรียนด้าน computer science แต่สามารถผลิตเกมคอมพิวเตอร์ระดับโลกได้แสดงว่าเป็นความสนใจส่วนตัว ไม่ได้เกี่ยวกับวิชาที่เรียนในระดับปริญญาตรีถึงเอก ช่วยเล่าให้ฟังว่าทำไมผลิตเกมได้ครับ
ดร.อิทธินพ : จริงๆ แล้วการเรียนในมหาวิทยาลัยของผมมันก็เกี่ยวข้องกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาโดยตลอด ซึ่งก็สามารถปรับไปเขียนโปรแกรมเกมออนไลน์ได้อีกส่วนหนึ่งคือผมสนใจเล่นเกมคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เรียนประถมสองในเมืองไทย แล้วก็เล่นเกมต่างๆ มาตลอด จนเมื่อผมเข้าไปเรียนที่ MIT ก็จึงเริ่มเขียนโปรแกรมเกมคอมพิวเตอร์ระหว่างเรียนก็เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ฟูกูชิมา ญี่ปุ่น ผมก็เริ่มคิดว่า แล้วความรู้ด้านวิศวกรรมนิวเคลียร์ที่ผมเรียนมาจะไปอย่างไรต่อเพราะน่าจะเกิดความชะงักในธุรกิจด้านนี้ไม่มากก็น้อย ผมก็จึงหันไปให้ความสนใจวิชาความรู้ด้านต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมากขึ้น เปิดโลกมากขึ้นผมสนใจในทุกเรื่องทั้งด้านการเงิน จิตวิทยางานด้านศิลปะ งานออกแบบ ผมนำตัวเองไปเรียนรู้ให้เห็นโลกกว้างมากขึ้น จึงทำให้ผมเห็นโลกในมุมที่กว้างกว่าการเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ การเรียนรู้หลายวิชาทำให้ผมสามารถตัดสินใจได้ว่าผมจะเดินหน้าไปทางไหนที่เหมาะกับผม โดยไม่ต้องกังวลกับเสียงรอบๆ ตัวผมมากจนผมเสียความตั้งใจ
l เกมออนไลน์ที่สร้างขึ้นมา ชื่ออะไรครับ
ดร.อิทธินพ : ชื่อ Kingdoms Reborn เป็นเกมสร้างเมือง
l ช่วงแรกของการเขียนโปรแกรมนี้ มีเสียงคัดค้านบ้างไหมครับ
ดร.อิทธินพ : มีแน่นอนครับ เพราะคนรอบๆ ข้างผมเกรงว่าผมจะเรียนไม่จบปริญญาเอกซึ่งผมใช้เวลากับเกมนี้มากพอสมควร แต่ผมก็ยังตั้งใจทำมัน เพราะผมทำให้คนในครอบครัวผมเห็นว่าผมสามารถทำได้สำเร็จ คุณพ่อผมไม่คัดค้านเท่าไร แต่คุณแม่คัดค้านมากพอควร แต่สุดท้ายก็ไม่คัดค้าน เพราะเห็นว่าไม่มีผลเสียสำหรับผม แล้วยิ่งช่วงที่ผมทำรายได้จากเกมได้ ทุกคนก็เข้าใจมากขึ้น
l ลูกค้าของเกมนี้ส่วนมากเป็นคนในประเทศไหนครับ
ดร.อิทธินพ : ส่วนมากอยู่ในสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะคนเยอรมัน ผมขายเกมออนไลน์บนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง (streaming platform)
l ครั้งแรกที่ได้รายได้จากเกมเป็นเงินมากน้อยเท่าไรครับ
ดร.อิทธินพ : ประมาณ 4 แสนดอลลาร์สหรัฐ แล้วผมก็พัฒนาเกมไปเรื่อยๆ จนขายได้แล้วประมาณ 120 ล้านบาท เกมนี้น่าจะไปได้เรื่อยๆ ผมก็ต้อง up date เกมนี้ไปเรื่อยๆ ด้วยครับ
l คนเล่นเกมรู้ไหมครับว่าคนสร้างเกมนี้เป็นคนไทย
ดร.อิทธินพ : ผมไม่ได้เล่ารายละเอียดส่วนตัวในเกมมากนัก แต่ก็มีผู้สนใจเล่นเกมคุยกับผมผ่านอีเมล มีรายหนึ่งคุยกันยาวมากเขาถามว่าผมเป็นคนจากประเทศไหน? ผมตอบไปว่าคนไทย เขาคุยแล้วก็หายไปเลย ผมก็โกรธนิดๆ ว่าทำแบบนี้ได้อย่างไร ดูถูกคนไทยหรือแต่ผมก็ไม่ได้ติดใจอะไร ก็ปล่อยไป เขาคงตกใจว่าคนไทยทำเกมนี้ก็ได้ (หัวเราะ)
l หลังจากจบปริญญาเอก แล้วทำงานที่ไหนบ้างครับ
ดร.อิทธินพ : ผมไปทำงานที่บริษัท Apple ประมาณ 2 ปี ทำงานด้าน ARVR เป็น software engineer ผมไปสมัครงานที่ Apple โดยไม่ได้พูดถึงปริญญาเอกที่ผมจบ แต่ผมเอางานด้านการผลิตเกมคอมพิวเตอร์ของผมไปให้เขาดู เพื่อเป็น portfolio ของผม แล้วเขาก็รับผมเข้าทำงาน
l แล้วทำไมอยู่ที่ Apple ไม่นานครับ ไม่สนุกกับงานหรือครับ
ดร.อิทธินพ : ก็สนุกกับงานครับ แต่เวลาผมทำงานกับ Apple ผมไม่สามารถทำเกมต่อได้ เพราะผิดกฎบริษัท เข้าข่าย conflict of interest แต่ผมก็ยังคิดถึงเกมที่ผมทำค้างไว้ แล้วตั้งใจจะทำให้จบ สุดท้ายจึงตัดสินใจลาออกมาลุยงานเดิมให้จบ แต่การที่ผมทำงานกับ Apple ก็ทำให้ผมเห็นและเข้าใจว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่มีส่วนช่วยทำให้เกมคอมพิวเตอร์ก้าวหน้าไปได้อีกมาก ผมเห็นว่าเทคโนโลยีช่วยพัฒนาเกมได้มากผมจึงเข้าใจว่ายังมีช่องทางสำหรับอนาคตด้านเกมคอมพิวเตอร์อีกมาก ผมพยายามจะทำต่อไปเรื่อยๆ เพราะในอนาคต 10-20 ปีข้างหน้าเราทุกคนจะอยู่ในโลกของ virture world เราจะเข้าไปอยู่ใน cyber space อินเตอร์เนตจะมีความสำคัญมากขึ้นไปอีกหลายเท่า ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีคู่ขนานไปกับคอมพิวเตอร์มากมาย เช่น blockchaine คือเทคโนโลยีว่าด้วยการเก็บข้อมูลที่ไม่ต้องมีตัวกลาง แต่ข้อมูลที่ได้รับการปกป้องจะถูกแชร์จัดเก็บไว้เป็นสำเนาไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของทุกคนที่ใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน เสมือนใช้ห่วงโซ่เดียวกัน ทุกคนจึงได้รับข้อมูลร่วมกัน โดยรู้ว่าใครเป็นเจ้าของข้อมูลและมีสิทธิ์ในข้อมูลตัวจริง เพราะฉะนั้นเมื่อผมเขียนโปรแกรมลงบน blockchain ก็เท่ากับผมเขียนโปรแกรมลงบนคอมพิวเตอร์ใหญ่ของคนทั้งโลก และแชร์ข้อมูลไปได้ทั่วโลก
l ในฐานะที่คุณปันประสบความสำเร็จกับการทำเกมคอมพิวเตอร์ขายได้ทั่วโลก จะมีข้อเสนอแนะอย่างไรกับครอบครัวคนไทยที่มีลูกหลานสนใจด้านนี้มากๆ บ้างครับ
ดร.อิทธินพ : เดี๋ยวนี้ความรู้ด้านการผลิตเกมคอมพิวเตอร์มีให้ค้นหามากมาย โดยไม่จำเป็นต้องเรียนในมหาวิทยาลัยอีกต่อไป แต่ขอให้มีความตั้งใจเรียนรู้มันจริงๆ เราก็จะหาความรู้ได้ตลอดเวลา ปัญหาคือตั้งใจเรียนรู้จริงจังหรือไม่ สำหรับคนที่เล่นเกมมานานๆ จะได้เรียนรู้เกมมากขึ้น แล้วเมื่อยิ่งมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น โลกเปิดกว้างมากขึ้น ก็จะยิ่งหาความรู้ด้านนี้ได้มากขึ้น อย่างสมัยก่อนกว่าผมจะสร้างเกมได้สักเกมผมต้องทำทุกอย่างเช่นสร้างโมเดลเอง ผมต้องเขียนโปรแกรมเองทำ 3D เอง ทำเองทุกอย่าง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้วเพราะมีระบบรองรับมากมาย มี function ให้ดูใน blockchaine เมื่อเราสร้างโมเดลได้เองก็สามารถเอาเข้าไปขายได้ เราก็จะได้การแบ่งปันรายได้จากการขายบน blockchaine ด้วยทุกอย่างจะง่ายมากขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีช่วยมากขึ้น
l มีข้อเสนอแนะอะไรกับรัฐบาลบ้างไหมครับที่จะทำให้เด็กไทยสามารถเรียนรู้ด้านการสร้างเกมคอมพิวเตอร์เพื่อขายในวงกว้างมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ดร.อิทธินพ : ผมมองว่าการศึกษาของไทยในสมัยก่อน เราพยายามยัดและอัดความรู้ให้เด็กมากจนไม่สนใจว่าเด็กอยากได้ความรู้เหล่านั้นหรือไม่ แต่รัฐบาลมีหน้าที่อัดความรู้ลงไปให้มากที่สุด แต่ระบบการศึกษาแบบนั้นเป็นการศึกษาในสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อศตวรรษที่แล้ว จึงต้องให้ทุกคนเรียนในเรื่องเดียวกัน เรียนเหมือนๆ กันจากครูคนเดียวกัน เพื่อป้อนคนให้เข้าสู่ระบบโรงงานอุตสาหกรรมหรือหน่วยงานใหญ่ๆ แหล่งเดียวกัน แต่การเรียนแบบนั้นมันไม่สามารถใช้ได้กับโลกยุคปัจจุบัน เพราะสังคมเปลี่ยนไปแล้ว ในยุคก่อนนั้นเราไม่มีคอมพิวเตอร์ ทุกอย่างอยู่ที่ครูผู้สอนคนเดียว คนเรียนต้องฟังครู ต้องทำตามครูแต่ยุคนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว เรามีคอมพิวเตอร์เรามีแหล่งความรู้ต่างๆ มากมายมหาศาล ถ้าเราเข้าถึงแหล่งความรู้เหล่านั้นได้ เราจะเรียนรู้ได้ไม่จบไม่สิ้น ในยุคนี้เราน่าจะต้องสนับสนุนให้คนที่สนใจเรื่องใดๆ สามารถเรียนรู้เรื่องนั้นได้โดยอิสระ และง่ายที่สุด เพื่อให้เขาค้นพบตัวเองว่ามีความถนัดในด้านใด หากเราทำให้คนเรียนทุกคนมีความสุขกับสิ่งที่เขาเรียน เขาจะประสบความสำเร็จในสิ่งที่เขาต้องการโดยแท้จริง เพราะเขามี intrinsic motivation (มีแรงจูงใจที่แท้จริง)เราต้องสอนให้เขาค้นคว้าหาความรู้ที่เขาสนใจได้ด้วยตัวเอง หากคนเรียนสามารถเรียนรู้สิ่งตนเองต้องการรู้ เขาจะมีความสุข ไม่ต้องถูกบังคับให้เรียน เขาจะเรียนไปได้เรื่อยๆ และค้นหาได้ไม่สิ้นสุด เป็นการเรียนรู้ที่ไม่จบสิ้น เรียนรู้ด้วยความสุข ไม่ต้องถูกบังคับ
l มีข้อเสนอแนะอย่างไรกับบ้านหรือครอบครัวที่มีปัญหาลูกหลานติดเกมคอมพิวเตอร์มากเกินเหตุครับ
ดร.อิทธินพ : อันดับแรกคือให้ความสนใจเขา พร้อมๆ กับให้อิสระกับเขา ถ้าเห็นว่าเขากำลังจะติดเกมมากเกินไปก็ต้องตักเตือนเขา แต่ต้องเตือนด้วยความรักและหวังดี แต่ก็ต้องดูให้ดีว่าลูกหลานแต่ละบ้านมีลักษณะอย่างไรเขาเหมาะกับอะไร เขาหมกมุ่นกับอะไรที่มากจนเสียการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานหรือไม่ หรือเสียสมดุลของการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่ เพราะเด็กแต่ละคนมีความพิเศษแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องดูเขาให้ดี เพื่อให้เขามีความสุขกับการใช้ชีวิตในแต่ละวัน แล้วเมื่อเขามีความสุขกับการเรียนการเล่น การใช้ชีวิต เขาก็น่าจะประสบความสำเร็จในสิ่งที่เขารัก และเขาเลือกแล้ว ผมเชื่อว่าผู้ปกครองเด็กทุกคนต้องการให้เด็กมีอนาคตที่ดี แต่ก็ต้องดูด้วยว่าเขารักที่จะทำอะไร แต่หากเขาทำในสิ่งที่ไม่มีอนาคต หรือสิ่งผิด ก็ต้องตักเตือนและให้ความรู้ในสิ่งที่ถูกต้องกับเขา
คุณสามารถชมรายการดีที่ครบครันด้วยสาระและความรู้ รายการ ไลฟ์ วาไรตีออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 16.00-16.25 น. ทางโทรทัศน์ NBT กดหมายเลข 2และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ไลฟ์ วาไรตี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี